“มังคละเภรี” คีตศิลป์แห่งสุโขทัย

ความเป็นมา

ในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 1 มีข้อความพรรณนาการละเล่นของชาวสุโขทัยตอนหนึ่งว่า "ดํบงคมกลอง ด้วยเสียงพาทย์ เสียงพิณ เสียงเลื้อน เสียงขับ ใครจักมักเล่น เล่น ใครจักมักหัว หัว ใครจักมักเลื้อน เลื้อน” คำว่า ดํบงคํมกลอง หมายถึงการประโคม เป็นการเล่นดนตรีประเภทตี เป่า ดีด สี คือ กลอง ปี่ พิณ และเครื่องสาย และในไตรภูมิพระร่วงซึ่งสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไททรงพระราชนิพนธ์ พรรณนาดนตรีและการร้องรำทำเพลงไว้ว่า “แล้วแลร้อง ก้องขับเสียงพาทย์ เสียงพิณ แตรสังข์ ฟังเสียงกลองใหญ่ แลกลองราม กลองเล็ก แลฉิ่งแฉ่ง บัณเฑาะว์วังเวง ลางคนตีกลอง ตีพาทย์ฆ้องตีกรับรับสัพพทุกสิ่ง ลางจำพวกดีดพิณและสีซอพุงตอ แลกันฉิ่งริงรำจับระบำเต้นเล่นสารพนักคุนทั้งหลาย สัพพดุริยดนตรีอยู่ครืน เครง อลวน ลเวงดังแผ่นดินจะถล่ม”

ดนตรีพื้นบ้านของสุโขทัยที่สืบทอดมาถึงยุคปัจจุบัน คือ ดนตรีมังคละ วงมังคละสมัยสุโขทัย ได้แบบอย่างมาจากศรีลังกา ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช มีการอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์จากศรีลังกามาไว้ที่นครศรีธรรมราช และอัญเชิญจากนครศรีธรรมราชมายังสุโขทัยโดยมีวงดนตรีมังคละนำขบวนมา

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงกล่าวถึงดนตรีมังคละไว้ว่า “เครื่องมังคละนี้เป็นเครื่องเบญจดุริยางค์แท้ มีกลองเล็กรูปเหมือนเถิดเทิง แต่สั้นขึงหนังหน้าเดียว มีไม้ตียาวๆ ตรงกับ “วาตต” ใบหนึ่งมีกลองขึงสองหน้าเหมือนกลองมลายู เป็นตัวผู้ใบหนึ่ง ตรงกับ “วิตต์” เป็นตัวเมียใบหนึ่ง ตรงกับ “อาตตวิตตํ” มีไม้ตีตรง... แลมีปี่คันหนึ่ง เป็นตัวทำนองปี่จีน ลิ้นเป็นปี่ชวา มีฆ้องแขวนราว 3 ใบ เสียงเพลงนั้นเหมือนกลองมลายู เพลงปี่ก็ไม่อ่อนหวาน ฆ้องก็ตีพร้อมกันโครมๆ”

ดนตรีมังคละเป็นดนตรีพื้นบ้านของสุโขทัย พิษณุโลก และอุตรดิตถ์ ประกอบด้วยเครื่องดนตรีประเภทปี่ กลองมังคละ กลองสองหน้า ฉิ่ง ฉาบ โหม่ง และปี่ รายละเอียดของเครื่องดนตรีแต่ละวงไม่เหมือนกัน การเรียกวงดนตรีชนิดนี้อาจเรียกชื่อเป็นอย่างอื่น เช่น วงกลองคู่ วงปี่กลอง ก็ได้ การรำประกอบดนตรี เรียกว่า รำมังคละ เป็นการแสดงประกอบในพิธีกรรมต่างๆ ของชุมชน ทั้งงานมงคล เช่น บวชนาค แห่เทียนพรรษา แห่เทียนพรรษา ทำขวัญข้าว แห่กฐิน แห่ผ้าป่า และอวมงคล เช่น งานศพ

กลองมังคละ เป็นกลองขึงหน้าหน้าเดียว ลักษณะคล้ายกลองยาว แต่มีขนาดเล็กกว่ากลองยาวมาก ความยาวประมาณ 1 ฟุต หน้ากลองหุ้มด้วยหนัง ตัวกลองทำจากไม้ขนุน หน้าตัด อีกด้านหนึ่งเจาะรูขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นิ้ว ไว้ตรงกลาง การตีกลองจะใช้หวาย 2 อัน ซึ่งปลายพันด้วยเชือกตี

พิธีไหว้ครูประจำปีของวงดนตรีมังคละสุโขทัยส่วนใหญ่จัดในวันพฤหัสบดี ข้างขึ้นเดือน 6 ของทุกปีเพื่อเริ่มเรียนดนตรีมังคละ ครูผู้สอนจะจับมือตีกลองเพลงไม้สี่ หรือผูกสายสิญจน์ที่แขนเป็นการประสิทธิ์ประสาทวิชาให้ หรือจำนำพานไหว้ครูมาและมีการผูกสายสิญจน์ที่ข้อมือก็ได้ พิธีไหว้ครูก่อนการแสดงมีการนำใบส้มป่อย ใบมะกรูด ใบเงิน ใบทอง ใส่ในน้ำมนต์แล้วนำน้ำมนต์มาประพรมที่เครื่องดนตรีและศีรษะนักดนตรี

รำมังคละ เป็นการรำที่ใช้วงดนตรีมังคละบรรเลงประกอบการรำ บางครั้งอาจเรียกชื่อเป็นอย่างอื่น เช่น รำมังคละนารี รำมังคละเภรี รำเภรีศรีนพมาศ เป็นต้น ใช้ผู้แสดงทั้งชายและหญิง ชายแต่งกายนุ่งโจงกระเบนหรือกางเกงสามส่วน ใส่เสื้อคอกลม แขนสั้น มีผ้าคล้องคอพาดไหล่ 2 ชาย และมีผ้าคาดเอว หญิงแต่งกาย 4 แบบ คือ 1.นุ่งผ้าถุงยาวกรอมเท้า ใส่เสื้อแขนกระบอก มีผ้าพาดไหล่ผูกชายที่เอว หรือผ้าคล้องคอคาดเข็มขัดทับ 2.นุ่งโจงกระเบนใส่เสื้อแขนกระบอก มีผ้าพาดไหล่ผูกชายที่เอว 3.นุ่งโจงกระเบน ห่มผ้าแถบ 4.นุ่งโจงกระเบนใส่เสื้อเกาะอก



เพลง ส่วนใหญ่ใช้เพลงไม้ 4 บรรเลงประกอบการรำและใช้การรัวกลองเป็นสัญญาณในการเปลี่ยนท่ารำ ท่ารำและกระบวนรำมังคละมีท่ารำทั้งหมด 77 ท่า ได้แก่ ท่าจันทร์ทรงกลดแปลง ท่ารำส่าย ท่าสอดสร้อยมาลาแปลง ท่าเซิ้ง ท่านางนอน ท่าจีบหลัง ท่าภมรเคล้า ท่าพรหมสี่หน้า ท่าบัวชูฝัก ท่าเตรียม ท่าไหว้ ท่าจันทร์ทรงกลด ท่าถวายบังคม ท่าผาลา ท่านางนอน ท่ารำยั่ว ท่าเฉิดฉิน ท่าโยนทับ ท่าโบก ท่าสาวน้อยประแป้ง ท่าหวีผม ท่าจันทร์ทรงกลด (มือสูง) ท่ายักสะโพก ท่าสอดสร้อยมาลา (มือต่ำ) ท่าสับเท้าขยับสะโพก ท่าปรบมือ ท่าลา ท่าจ่อเพลิงกาฬ ท่าจีบปรกช้าง ท่าจีบหงาย ท่าถือกระจาด ท่ามอง ท่ารับกล้วย ท่าตัดกล้วย ท่าแบกกล้วย ท่าปอกกล้วย ท่าทับกล้วย ท่าหยิบกล้วย ท่าสอดสร้อยมาลา ท่าต้อนหรือท่าป้อ ท่าลอดดอกไม้ ท่าขอดอกไม้ ท่าแย่งดอกไม้ ท่าเจ้าชู้ไก่แจ้ ท่าเจ้าชู้ยักษ์ ท่าเมิน ท่ากุ๋ยๆ ท่าไล่ ท่าผิดหวัง ท่าอายท่ายอดตอง ท่าขัดจางนางท่าจีบหงายวงล่าง ท่ายูงฟ้อนหาง ท่าหงส์ลีลา (มือต่ำ) ท่าถือกลองสองมือสูง ท่าถือกลองวงบน ท่าถือกลองัวชูฝัก ท่าตีกลอง ท่าถือกลองต่ำ ท่าถือกลองรำส่าย(ส่ายข้างเดียว) ท่าตีกลองสูง-ต่ำ ท่าถือกลองดึงจีบ ท่าจีบปล่อย ท่าหมุนควง ท่ากลองโยน ท่ามอญชมดาว ท่ากาสาวไส้ ท่าช้างประสานงา ท่ากวางเหลียวหลัง ท่าลิงอุ้มแตง ท่าลิงขย่มตอ ท่าแม่หม้ายทิ้งแป้ง ท่าหงส์เหิร ท่าจีบยาว ท่าหยอกล้อหนุ่มสาว และท่านั่งจีบสาว ส่วนกระบวนรำ หลายรูปแบบ เช่น กระบวนรำคู่ระหว่างชายหญิง ลีลาการร่ายรำมีลักษณะเกี้ยวพาราสีสนุกสนาน กระบวนรำแบบพื้นบ้านที่ชาวบ้านใช้รำในขบวนแห่ กระบวนรำที่ใช้กลองมังคละและใช้ไม้ตีกลองประกอบการรำ