ซัดน้ำ
วัฒนธรรมประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมายาวนาน ถึงแม้ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลาให้สอดคล้องกับยุคสมัย พิธีการหลายอย่างที่มีมาแต่โบราณขาดหายไป แต่ประเพณีก็ยังจะคงถูกอนุรักษ์ไว้โดยมีเค้าโครงเดิมให้มีอยู่ต่อไป
ซัดน้ำ
หรือ
สาดน้ำ
เป็นประเพณีของการทำบุญขึ้นบ้านใหม่ โดยคู่แต่งงานมักจะปลูกเรือนหอใหม่ ดังนั้นการทำบุญบ้านหรือเรือนหอจึงมักทำโดยคู่บ่าวสาวที่แต่งงานกัน โดยพระสงฆ์จะทำน้ำมนต์สำหรับประพรมบ้านเรือนจึงทำการซัดน้ำหรือสาดคู่บ่าวสาวให้ไปด้วย ดังที่ขุนวิจิตมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธ์) ได้กล่าวไว้ในเรื่อง สิ่งที่คิดเห็นในเรื่องคาวี ว่า
“ตามประเพณีโบราณเมื่อแต่งงานจะต้องมีเรือนหอ...เมื่อจะเข้าอยู่ในเรือหอใหม่ก็ต้องทำบุญ และการทำบุญก็ต้องมีการสวดมนต์เย็นฉันเช้าตามประเพณี ตัวเจ้าบ่าวเจ้าสาวจะเป็นผู้อยู่ก็จะต้องเข้าไปทำบุญเอง ดังนี้ จึงได้มีพิธีเจ้าบ่าวเจ้าสาวตักบาตรร่วมกัน ฟังสวดมนต์ด้วยกัน
ตามธรรมดาการสวดมนต์มีการทำน้ำมนต์ด้วยเสมอสำหรับไว้ใช้ประพรมบ้านเรือนตลอดจนอาบ เมื่อสวดคาถาชยันโตถือว่าเป็นฤกษ์หรือได้ฤกษ์ พระสงฆ์ที่เป็นประธานจะเอาเทียนหยดลงในขันใส่น้ำ แล้วท่านก็คงจะถือโอกาสในระยะนี้พรมน้ำมนต์นั้นให้คู่บ่าวสาวเสียด้วย
เดิมทีเดียวก็คงจะไม่ถือเป็นประเพณีของการแต่งงาน เพราะเป็นเรื่องของการขึ้นเรือนใหม่ส่วนหนึ่งต่างหาก แต่ต่อมาเกิดนิยมทำกันมากขึ้น ก็กลายเป็นประเพณีที่เรียกว่า ซัดน้ำ
...พอสวดมนต์ถึงชะยันโตอันเป็นระยะสำคัญ ท่านก็เลยเอาน้ำมนต์สาดเจ้าบ่าวเจ้าสาว เหตุที่ต้องสาดก็เพราะเป็นเวลาท่านนั้นสวดมนต์และคู่บ่าวสาวที่นั่งฟังสวดมนต์ก็จะต้องอยู่ห่าง เมื่อเจ้าบ่าวเจ้าสาวเป็นอย่างลูกหลานของท่าน ท่านถือเหมือนลูกหลาน ก็ สาด คือ ซัด น้ำมนตร์ไปให้ตามอารมณ์สนุกของคนแก่ มูลเหตุเดิมจะต้องเป็นเช่นนี้ คือเป็นเรื่องของการสวดมนตร์ขึ้นเรือนใหม่ของคู่บ่าวสาวที่แต่งงานกัน ...ดังนี้ จึงเลยเกิดมีธรรมเนียมในการแต่งงาน มีพระสงฆ์มาร่วม เรียกว่า
สวดมนตร์ซัดน้ำแก่คู่บ่าวสาว ถือเป็นประเพณีต่อมา
”
พิธีซัดน้ำ
มีพรรณนาไว้ในบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนแต่งงานพลายแก้วกับนางพิม และตอนแต่งงานพระไวยกับนางศรีมาลา ว่าเริ่มในเวลาบ่ายของวันสุกดิบก่อนพิธีแต่งงาน โดยจะมีพิธีซัดน้ำที่เรือนหอ เจ้าบ่าวและเพื่อนเจ้าบ่าว กับกลุ่มของเจ้าสาวกับเพื่อนๆ จะออกมานั่งในพิธีให้ห่างกันพอควร ต่อหน้าพระสงฆ์ที่นิมนต์มาสวดพระพุทธมนต์ พระเถระผู้เป็นประธานสงฆ์ในพิธี เป็นผู้นำมงคลสวมให้เจ้าบ่าวเจ้าสาว โดยมีสายสิญจน์โยงไปที่หม้อน้ำมนต์ เมื่อพระสงฆ์ให้ศีลสวดมนต์ถึงบทชยันโต ก็ตีฆ้องชัย พระเถระผู้เป็นประธานก็สาดน้ำมนต์รดบ่าวสาวและกลุ่มเพื่อนที่นั่งห้อมล้อม ที่ต้องซัดน้ำเพราะนั่งเบียดรวมกันอยู่ จึงต้องใช้น้ำซัดไปจะได้ทั่วถึง จนน้ำหมดบาตรจึงหยุด หรือพอเจ้าบ่าวเจ้าสาวร่นเข้าไปชิดเคียงกันแล้วจึงหยุด ต่อจากนั้นผู้เฒ่าผู้แก่ก็ยกบาตรน้ำมนต์เทรดบ่าวสาวคนละครั้ง คนรดสุดท้ายเมื่อเทรดหมดบาตรแล้วก็เอาบาตรครอบศีรษะเจ้าบ่าวเจ้าสาวคนละครั้ง เมื่อเสร็จพิธีพวกเจ้าบ่าวเจ้าสาวจึงกลับเข้าห้องผลัดเปลี่ยนเครื่องนุ่งห่ม
การรดน้ำ
ในพิธีแต่งงาน เป็นการกระทำที่มุ่งหวังให้คู่บ่าวสาวมีความเจริญมีความสุขสดชื่นยั่งยืน ชีวิตการแต่งงานเป็นการเริ่มต้นชีวิตใหม่คือเป็นชีวิตคู่ ผู้มารดน้ำคู่บ่าวสาวจะอวยพรให้แก่ชีวิตใหม่ไปพร้อมๆ กับรดน้ำลงไปไม่ว่าจะเป็นการรดทั้งตัวหรือรดเพียงที่กระพุ่มมือ
ประเพณีรดน้ำแต่งงาน
เกิดมาจากประเพณีซัดน้ำหรือสาดน้ำ แต่เนื่องจากผู้ซัดน้ำหรือสาดน้ำมนตร์ไปยังคู่บ่าวสาวไม่ใช่พระสงฆ์แต่เป็นผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่าย ตลอดจนแขกผู้ได้รับเชิญมาในงาน ซึ่งสามารถเข้าใกล้คู่บ่าวสาวได้ ไม่จำเป็นต้องซัดหรือสาดมาแต่ไกลเหมือนพระสงฆ์ แต่คู่บ่าวสาวก็ยังคงอยู่ในสภาพที่เปียกทั้งตัวทั้งคู่ จนเกิดเป็นประเพณีที่เจ้าบ่าวต้องให้เงินคนที่นำผ้าไปซัก
เมื่อเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวใหม่แล้ว ปัจจุบันประเพณีรดน้ำได้เปลี่ยนแปลงมาจนเหลือรดกันแค่มือของคู่บ่าวสาวที่กระพุ่มรับ คือเปียกแค่มือเท่านั้น ไม่ต้องเปียกโชกไปทั้งตัวเหมือนแต่โบราณ
การรดน้ำแต่งงาน บางครั้งเรียก
หลั่งน้ำ
เช่น หลั่งน้ำให้แก่คู่บ่าวสาว หลั่งน้ำสังข์ แต่ไม่ค่อยได้รับความนิยม ขุนวิจิตรมาตราเคยแสดงความคิดเห็นไว้ว่า หลั่งน้ำ
เป็นการอวยให้เป็นสิทธิ์ขาด
ซึ่งหากใช้ในพิธีแต่งงานดูไม่เหมาะสม หากหมายถึงการอวยให้ผู้หญิงเป็นสิทธิ์ขาดแก่ผู้ชาย ดังปรากฎในพระเวสสันดรชาดก หลายตอน เช่น ตอนพระเวสสันดรให้ทานสองกุมารแก่ชูชก ในกัณฑ์กุมาร ว่า
“ พระลูกเอ๋ย มาเถิดนะเจ้าอย่าช้านักพราหมณ์จะคอย เธอก็จูงกรพระลูกน้อยพาเข้าสู่อริญญิกาวาส นั่งเหนือศิลาอาสน์หน้ามุขพระอาศรม ทรงพระเต้าอันอุดมด้วยวารี จึงตรัสเรียกทชีชราจารย์ว่า เอหิ วต โภ
พราหมณ์เอ๋ย จงมารับพระราชทานสองกุมารแต่โดยดี
เธอก็หลั่งอุทกวารีในมือพราหมณ์
”
และ ตอนให้ทานนางมัทรี ในกัณฑ์สักกบรรพ ว่า
“ พลางทรงพระเต้าอุทกวารี แล้วกุมพระกรมิ่งมหิษีสุขุมกระษัตริย์มัททราชวงศ์
จึงหลั่งอุทกให้ตกลงเหนือมือทชี
”
และตอนพราหมณ์มาขอช้างเผือกพระเวสสันดร ใน วัณฑ์หิมพานต์
“ พระเวสสันดรราชสุริยวงศ์ พระกรซ้ายทรงจับงวงคชไอยรา พระกรขวาทรงอุทกวารีคนฑีทอง ท้าวเธอก็ร้องประกาศแก่อมรเทวราชทุกห้องฟ้า ให้ช่วยอนุโมทนาคชาทาน แล้วตรัสเรียกพฤฒาจารย์มิได้ช้า
หลั่งอุทกธาราให้ตกลงเหนือมือพราหมณ์
”
ประพัฒน์ ตรีณรงค์ (2530) ซัดน้ำ รดน้ำ หลั่งน้ำ วัฒนธรรมไทย, 26(3), 21-25.
สารานุกรมไทย (2519) ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน.