เกริ่นนำ

กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค กล่าวได้ว่าวิวัฒนาการมาจากการจัดกระบวนทัพเรือในยามที่ว่างฝึก เป็นการฝึกการซ้อมเรียกระดมพล โดยกองเรือเหล่านี้จะตกแต่งอย่างสวยงาม มีการประโคมดนตรีไปในกระบวน และมีระเบียบสมกับเป็นประเพณีของชาติ อันแสดงถึงพระบารมีที่แผ่ไพศาลของพระมหากษัตริย์ผู้เป็นที่พึ่งของพสกนิกรที่อยู่ภายใต้พระบรมโพธิสมภาร และเอกลักษณ์ทางด้านวัฒนธรรมประเพณีอย่างหนึ่งของชาติ สำหรับในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้มีการจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารคทั้งสิ้น 2 ครั้ง ได้แก่ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และพระราชพิธีฉลองพระนคร 150 ปี

กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค หมายถึง ริ้วขบวนเรือที่จัดขึ้นสำหรับพระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินไปในการต่าง ๆ เป็นการส่วนพระองค์ และที่เป็นพระราชพิธี ซึ่งมีมาแต่โบราณตั้งแต่สมัยสุโขทัย แต่เดิมมาจะเป็นการเสด็จพระราชดำเนินและประกอบการพระราชพิธีต่าง ๆ เช่น พระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน พระราชพิธีบรมราชาภิเษก การเสด็จไปนมัสการพระพุทธบาท การอัญเชิญพระพุทธรูปที่สำคัญจากหัวเมืองมาประดิษฐานในเมืองหลวง ตลอดจนการต้อนรับคณะทูตจากต่างประเทศ เป็นต้น

กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค หมายถึง ริ้วขบวนเรือที่จัดขึ้นสำหรับพระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินไปในการต่าง ๆ เป็นการส่วนพระองค์ และที่เป็นพระราชพิธี ซึ่งมีมาแต่โบราณตั้งแต่สมัยสุโขทัย แต่เดิมมาจะเป็นการเสด็จพระราชดำเนินและประกอบการพระราชพิธีต่าง ๆ เช่น พระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน พระราชพิธีบรมราชาภิเษก การเสด็จไปนมัสการพระพุทธบาท การอัญเชิญพระพุทธรูปที่สำคัญจากหัวเมืองมาประดิษฐานในเมืองหลวง ตลอดจนการต้อนรับคณะทูตจากต่างประเทศ เป็นต้น

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตวางระเบียบริ้วกระบวนเรือพระราชพิธีเสียใหม่ โดยจัดรูปกระบวนจากจำนวนเรือที่มีอยู่เป็นสำคัญ และยังคงยึดหลักโบราณราชประเพณี มีดังนี้ กระบวนพยุหยาตราใหญ่ ประกอบด้วยริ้วกระบวน 4 สาย (รวมริ้วกระบวนสายพระราชยาน 1 สาย เป็น 5 สาย) มีเรือนำกระบวนเป็นเรือพิฆาต เรือดั้ง เรือรูป สัตว์ เรือเอกไชย 21 คู่ เรือพระที่นั่ง 3 องค์ ประกอบด้วย เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช และเรือตามกระบวน 4 คู่ รวม 49 ลำ ใช้สำหรับงานพระราชพิธีสำคัญ และกระบวนพยุหยาตราน้อย ประกอบด้วยริ้วกระบวน 2 สาย (รวมริ้วกระบวนสายพระราชยาน 1 สาย เป็น 3 สาย) มีเรือนำกระบวน 16 คู่ เรือพระที่นั่ง 2 องค์ และเรือตามกระบวน 4 คู่ รวม 43 ลำ ใช้สำหรับการเสด็จพระราชดำเนินที่มีความสำคัญรองลงมา

เมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2468 เวลา 15.00 น. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จพระราชดำเนินจากพระบรมมหาราชวัง บริเวณท่าราชวรดิษฐ์ เสด็จประทับพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัยทอดพระเนตรขบวนเรือพระราชพิธี (ริ้วขบวนหน้า) พระองค์ทรงฉลองพระองค์และพระภูษาสีเขียว ทรงพระมหามาลาเส้าสูงสีเขียว ทอดพระเนตรเรือพระราชพิธีขบวนหน้าเสร็จแล้ว จากนั้นเสด็จลงประทับเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ทรงพระมหากฐินน้อยแล้วเสด็จลงเรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์ ประทับบนพระราชอาสน์ภายในบุษบก แล้วจึงเสด็จฯ ทางชลมารคไปยังวัดอรุณราชวราราม เพื่อประกอบพระราชพิธีสักการะบูชาพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านนภาลัย รัชกาลที่ 2 เมื่อเสร็จพระราชพิธีแล้ว ประทับเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เสด็จโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคออกจากท่าวัดอรุณราชวรารามสู่ท่าราชวรดิษฐ์ และเสด็จพระราชดำเนินคืนสู่พระบรมมหาราชวัง

เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2475 เวลา 8.15 น. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงพระที่นั่งราชยานพุดตานทองเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครทางสถลมารคจากพระบรมมหาราชวัง ทรงเปิดปฐมบรมราชานุสรณ์ และเปิดป้ายชื่อสะพานพุทธยอดฟ้าพร้อมกับเปิดวิถีสะพาน จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราใหญ่ทางสถลมารค ข้ามสะพานไปยังฝั่งธนบุรี ในการทอดพระเนตรกระบวนเรือรบแล่นผ่านลอดสะพานพระพุทธยอดฟ้า จากนั้น เวลา 10.00 น. เสด็จประทับในเรือพระที่นั่งสุพรรณหงษ์ และเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราใหญ่ไปเทียบเรือพระที่นั่งที่ท่าราชวรดิษฐ์ โดยกระบวนเรือครั้งนี้ไม่มีเรือทรงผ้าไตร หรือผ้าทรงสะพักพระพุทธรูป เพราะมิได้เสด็จขึ้นทรงนมัสการหรือบำเพ็ญพระราชกุศล ณ พระอารามหลวง และเรือพลับพลา เพราะมิได้ทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ลำปัจจุบัน สร้างขึ้นใหม่ในปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 5 แล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อ พ.ศ. 2454 โดยตั้งชื่อตามเรือพระที่นั่งโบราณของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิแห่งกรุงศรีอยุธยา คือ เรือศรีสุพรรณหงส์ หรือ เรือพระที่นั่งชัยสุพรรณหงส์ หัวเรือพระที่นั่งนี้มีโขนเรือรูปหัวของหงส์ ลำตัวเรือทอดยาวคือส่วนตัวหงส์ จำหลักไม้ลงรักปิดทองประดับกระจกมีพู่ห้อย ปลายพู่เป็นแก้วผลึก ภายนอกทาสีดำ ท้องเรือทาสีแดง ตอนกลางลำเรือมีที่ประทับเรียก ราชบัลลังก์กัญญา สำหรับพระเจ้าอยู่หัวหรือพระราชวงศ์ชั้นสูง เรือมีความยาว 46.15 เมตร กว้าง 3.17 เมตร ลึกจนถึงท้องเรือ 94 เซนติเมตร กินน้ำลึก 41 เซนติเมตร น้ำหนัก 15 ตันใช้กำลังพลประกอบด้วย ฝีพาย 50 คน นายเรือ 2 คน นายท้าย 2 คน คนถือธงท้าย 1 คน พลสัญญาณ 1 คน คนถือฉัตร 7 คน คนขานยาว 1 คนคนขานยาวทำหน้าที่ในการร้องขานเพลงเรือโดยฝีพายจะร้องเห่เรือพร้อมกันไปตามจังหวะร่วมกับเรือลำอื่น ๆ

เรือพระที่นั่งอนันตนาคราชลำแรกสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 แต่เริ่มใช้ในกระบวนพยุหยาตราชลมารคในสมัยรัชกาลที่ 4 ปรากฏชื่อว่า เรือพระที่นั่งบัลลังก์อนันตนาคราช สำหรับเรือพระที่นั่งอนันตนาคราชลำปัจจุบันสร้างขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 6 และเริ่มใช้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2457 หัวเรือจำหลักรูปพญานาคเจ็ดเศียร ลงรักปิดทองประดับกระจก ท้องเรือภายในทาสีแดง ภายนอกทาสีเขียว กลางลำเรือเป็นบุษบกประดิษฐานพระพุทธรูปหรือผ้าพระกฐินเรือมีความยาว 44.85 เมตร กว้าง 2.58 เมตร ลึกถึงท้องเรือ 87 เซนติเมตร กินน้ำลึก 31 เซนติเมตร ใช้กำลังพลประกอบด้วย ฝีพาย 54 คน นายเรือ 2 คน นายท้าย 2 คน คนถือธงท้าย 1 คน พลสัญญาณ 1 คน คนถือฉัตร 7 คน คนถือบังสูรย์-พัดโบก-พระกลด 3 คน และคนเห่เรือ 1 คน