รำโทน รำพื้นเมือง การละเล่นพื้นบ้าน

รำโทน เป็นการละเล่นพื้นบ้าน ที่มี โทน เครื่องตีประกอบจังหวะ ร่วมกับ ฉิ่ง กรับ และ ลูกแซ็ด ร่วมกับเนื้อร้องทำนองเพลงสนุกสนาน และท่ารำง่ายๆ ซึ่งจะร้องและรำกันไปเป็นวงกลมจากซ้ายไปขวา นิยมเล่นกันในท้องถิ่นจังหวัดพิจิตร และได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วไปตามจังหวัดต่างๆ จึงมีผู้คิดประดิษฐ์ประพันธ์เนื้อร้องและทำนองเพลงให้มีสีสัน เนื้อร้องจะเป็นทำนองเชิญชวน สัพยอกหยอกเย้า ชมโฉม เกี้ยพาราสี หนุ่มสาวคร่ำครวญรำพันรัก และบทเปรียบเทียบปลุกใจทำให้เกิดความรัก ความสามัคคี ความรักชาติ ผู้แต่งเนื้อเพลงและทำนองส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านในท้องถิ่น บทประพันธ์จึงไม่ประณีตพิถีพิถันในเรื่องของการใช้ถ้อยคำและสัมผัส เพลงรำโทนจำนวนมากจึงสูญหายไป แต่ถ้าบทเพลงใดที่มีเนื้อร้องกินใจไพเราะ ก็จะอยู่ในความทรงจำของชาวบ้านสืบต่อมาถึงปัจจุบัน เช่น เพลงยวนย่าเหล หล่อจริงนะดารา ตามองตา โอ้ช่อมาลี เดือนดารา และ ใกล้เข้าไปอีกนิด เป็นต้น

บทเพลงรำโทน

บทเพลงรำโทนสมัยเก่า จำนวน 6 เพลง เนื้อร้องจะสั้น ง่ายต่อการจำ ดังนี้

เพลงยวนย่าเหล

ยวนย่าเหล ยวนย่าเหล หัวใจว้าเหว่ ไม่รู้จะเห่ไปหาใคร จะซื้อเปลยวนที่สายหย่อนๆ (ซ้ำ) จะเอาน้องนอนำไกวเช้าไกวเย็น

เพลงหล่อจริงนะดารา

หล่อจริงนะดารา งามตาจริงแม่สาวเอย คืนนี้ฉันมีความสุข สนุกรื่นเริงหัวใจ ที่นี่เป็นแดนสรรค์ เธอกับฉันมาเล่นคองก้า (ซ้ำวรรคท้าย)

เพลงตามองตา

ตามองตา สายตามาจ้องมองกัน รู้สึกเสียวซ่านหัวใจ รักฉันก็ไม่รัก หลงฉันก็ไม่หลง ฉันยังอดโค้งเธอไม่ได้ เธอช่างงามวิไล (ซ้ำวรรคท้าย) เหมือนดอกไม้ที่เธอถือมา

เพลงช่อมาลี

โอ้ช่อมาลี คนดีของพี่ก็มา สวยจริงหนาเวลาค่ำคืน (ซ้ำวรรคท้าย) ดวงจันทร์ไปไหน ทำไม่ถึงไม่ส่องแสง เดือนมาแฝงแสงสว่าง เมฆน้อยลอมาบัง แสงสว่างก็จางหายไป

เพลงเดือนดารา

เดือนดารา เด่นบนฟ้า ดาราขาวผ่อง เด่นบนฟ้าน่ามอง ให้เธอไปจองคนรักเสียใหม่

เพลงใกล้เข้าไปอีกนิด

ใกล้เข้าไปอีกนิด ชิดๆ เช้าไปอีกหน่อย ตาหวานน้อยๆ อยู่ในวงฟ้อนรำ รูปหล่อเขาเชิญมาเล่น เนื้อเย็นเขาเชิญมารำ มองหน้านัยน์ตาหวานฉ่ำ (ซ้ำ) มามารำกับพี่นี่เอย

สัปดาห์รำโทน

รำโทน ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายมากที่สุด ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 พ.ศ. 2484 โดยรุ่งเรืองถึงขีดสุดอยู่ระหว่าง พ.ศ. 2484 - 2491โดยเฉพาะจังหวัดธนบุรี กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี และเกือบ ทุกจังหวัดของภาคกลาง การเล่นรำโทน ใช้ลานบ้านเป็นสถานที่เล่น โดยการจุดตะเกียงเจ้าพายุตั้งไว้บนก้นครกตำข้าวที่บริเวณกลางลานบ้าน หนุ่มๆ สาวๆ จะแต่งตัวออกไปตามหมู่บ้านที่มีรำโทน ฝ่ายชายจะร้องเพลง และออกไปโค้งฝ่ายหญิงเพื่อเชิญชวนให้ออกมาร่ายรำ ฝ่ายหญิงก็จะลุกขึ้นมารำกับฝ่ายชายเป็นคู่ๆ อย่างสนุกสนาน พ่อแม่ คนเฒ่าคนแก่ ก็จะนั่งดูลูกหลานกันอย่างตั้งอกตั้งใจ และเมื่อดึกพอสมควรแล้ว ผู้ใหญ่ก็จะบอกให้เลิก วันคืนไหนจะมีรำโทนอีก ก็จะนัดกันไว้ แต่ในวันเทศกาลงานบุญ เช่น วันสงกรานต์ จะมีรำโทนตามหมู่บ้านทั่วไปทุกคืน เรียกว่า สัปดาห์รำโทน

จากรำโทน สู่ รำวงมาตรฐาน

พ.ศ. 2487 กรมศิลปากรทำการปรับปรุงรำโทนตามนโยบายของรัฐบาลในเวลานั้นให้มีความงดงามมากยิ่งขึ้นเพื่อให้เป็นศิลปะการละเล่นระดับชาติ โดยการปรับปรุงทั้งเครื่องดนตรี บทเพลง และท่ารำที่ดัดแปลงและปรับปรุงให้มีความอ่อนช้อยตามแบบนาฏศิลป์ไทย เช่น ท่าสอดสร้อยมาลา ชักแป้งผัดหน้า แขกเต้าเข้ารัง และรำส่าย เป็นแม่ท่าแบบมาตรฐาน และมีการปรับปรงเพลงขึ้นใหม่ เช่น งามแสงเดือน ชาวไทย มาซิมารำ คืนเดือนหงาย และเปลี่ยนชื่อมใหม่จาก รำโทน เป็น รำวง เพื่อให้สอดคล้องกับการร่ายรำ ที่เคลื่อไปย้ายไปทางซ้ายเป็นวงกลม ต่อมาท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ได้ประพันธ์เนื้อร้องเพิ่มอีก 6 เพลง คือ ดอกไม้ของชาติ ดวงจันทร์วันเพ็ญ บูชานักรบ หญิงไทยใจงาม ดวงจันทร์ขวัญฟ้า และเพลงยอดชายใจหาญ และประดิษฐ์ท่ารำใหม่ให้งดงามยิ่งขึ้น เพื่อใช้ในงานสังคมระดับชาติ และเรียกว่า รำวงมาตรฐาน จนถึงทุกวันนี้

อ้างอิง

ทองคำ พันนัทธี. (ตุลาคม 2537). รำวง เป็นศิลปะการละเล่นพื้นบ้านของ ไทย เราจะส่งเสริมกันอย่างไร. วัฒนธรรมไทย, 3(1), 30-32.

https://www.matichonweekly.com/column/article_687284