วันฉัตรมงคล เป็นพระราชพิธีฉลองพระเศวตฉัตร ทำในวันซึ่งตรงกับวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นพิธีที่ถูกประดิษฐ์สร้างขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แห่งกรุงกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นธรรมเนียมสมัยใหม่ที่สร้างขึ้นเพื่อให้อาณาประชาราษฎร์ พระราชวงศ์และขุนนางตระหนักถึงความสำคัญในการราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์
วันฉัตรมงคล สมัยรัชกาลที่ 4 คือ วันที่ 15 พฤษภาคม
สมัยรัชกาลที่ 5 คือ วันที่ 16 พฤศจิกายน
สมัยรัชกาลที่ 6 คือ วันที่ 11 พฤศจิกายน
สมัยรัชกาลที่ 7 คือ วันที่ 25 กุมภาพันธ์
สมัยรัชกาลที่ 9 คือ วันที่ 5 พฤษภาคม
ก่อนหน้ารัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระราชพิธีฉัตรมงคลเป็นพิธีของเจ้าพนักงานในพระราชฐานที่ทำหน้าที่รักษาเครื่องราชูปโภคและพระทวารประตูวัง จัดการสมโภชสังเวยเครื่องราชูปโภคที่ตนรักษาทุกปีในเดือนหก เป็นงานส่วนตัวไม่ถือเป็นงานหลวง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักว่า อารยะประเทศจะเฉลิมฉลองและให้ความสำคัญกับวันบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ ทรงมีพระราชดำริว่า วันบรมราชาภิเษกเป็นมหามงคลสมัยที่ควรแก่การเฉลิมฉลองในประเทศที่มีพระเจ้าแผ่นดิน จึงถือให้วันนั้นเป็นวันนักขัตฤกษ์มงคลกาล ควรที่จะมีการสมโภชพระมหาเศวตฉัตรให้เป็นสวัสดิมงคลแก่ราชสมบัติ แต่เนื่องจากเป็นธรรมเนียมใหม่ยากต่อการเข้าใจ เผอิญว่าวันบรมราชาภิเษกไปตรงกับวันสมโภชเครื่องราชูปโภคที่มีแต่เดิม จึงทรงอธิบายว่า ฉัตรมงคลเป็นวันสมโภชเครื่องราชูปโภคทำให้ไม่มีใครติดใจสงสัย ดังนั้นจึงได้มีพระราชดำริจัดงานพระราชกุศลพระราชทานชื่อว่า "ฉัตรมงคล" ทรงโปรดให้มีการเฉลิมฉลองโดยนิมนต์พระสงฆ์มาสวดเจริญพุทธมนต์ ในวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 6 ซึ่งตรงกับวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ.2393 และในวันรุ่งขึ้นมีการถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ด้วยเหตุนี้จึงถือว่า การเฉลิมฉลองพระราชพิธีฉัตรมงคลเริ่มมีในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นครั้งแรก
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 วันบรมราชาภิเษกตรงกับเดือน 12 พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานฉัตรมงคลในเดือน 12 แต่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ยังไม่เข้าใจในเรื่องราวพระราชพิธีฉัตรมงคล จึงไม่มีใครยินยอมและคัดค้านที่จะเปลี่ยนแปลงวันจัดพระราชพิธีฉัตรมงคลให้ตรงกับวันบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แก้ไขและออกเป็นพระราชบัญญัติว่าด้วยจุลจอมเกล้าสำหรับตระกูลขึ้น และให้พระราชทานตรานี้ในวันที่ตรงกับวันบรมราชาภิเษก เหล่าข้าราชการจึงยินยอมให้เลื่อนงานฉัตรมงคลมาตรงกับวันบรมราชาภิเษก ซึ่งในส่วนของประเพณีสมโภชเครื่องราชูปโภคก็มิได้ทรงละทิ้งยังให้รักษาประเพณีสมโภชเครื่องราชูโภคอยู่ตามเดิม รูปงานวันฉัตรมงคลจึงเป็นเช่นนี้จนถึงปัจจุบัน
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระราชพิธีวันฉัตรมงคล จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองราชสมบัติ การจัดงานพระราชพิธีฉัตรมงคลได้เพิ่มการพระราชกุศลทักษิณานุประทาน โดยเป็นการบำเพ็ญพระราชกุศลสนองพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระบูรพมหากษัตราธิราชเจ้า ตอนหนึ่งเป็นพระราชพิธีฉัตรมงคลซึ่งเป็นการเฉลิมฉลองที่ได้บรมราชาภิเษก อีกตอนหนึ่งเป็นพระราชพิธีทักษิณานุปทานและพระราชพิธีฉัตรมงคล
รัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 การจัดงานพระราชพิธีฉัตรมงคลได้มีเปลี่ยนแปลงไป พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯให้ประกอบพีธีพระราชกุศลรวม 3 วัน ดังนี้
- วันที่ 3 พฤษภาคม เป็นพิธีสงฆ์ งานพระราชกุศลทักษิณานุประทาน ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงนิมนต์พระสงฆ์มาสวดพระพุทธมนต์แล้วพระราชาคณะถวายพระธรรมเทศนา พระสงฆ์สดับปกรณ์พระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมราชบุรพการี เพื่ออุทิศถวายแด่พระบรมราชบุรพการี
- วันที่ 4 พฤษภาคม เริ่มพระราชพิธีฉัตรมงคล เจ้าพนักงานอัญเชิญเครื่องมงคลสิริเบญจราชกกุธภัณฑ์ขึ้นประดิษฐานบนพระแท่นใต้พระมหาปฎลเศวตฉัตร จากนั้นพระราชครูหัวหน้าพราหมณ์อ่านประกาศพระราชพิธีฉัตรมงคล พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์เย็น
- วันที่ 5 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันฉัตรมงคล ในตอนเช้าทรงพระราชทานภัตตาหารแด่พระสงฆ์ พราหมณ์เบิกแว่นเวียนเทียนสมโภชพระมหาเศวตฉัตร และเครื่องราชกกุธภัณฑ์ เมื่อถึงเวลาเที่ยงตรงทหารเรือ และทหารบกยิงปืนใหญ่เฉลิมพระเกียรติ พร้อมกัน 2 กอง รวม 42 นัด ต่อมาจะมีพิธีพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตราจุลจอมเกล้าแก่พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และผู้กระทำคุณความดีให้แก่ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ทั้งที่เป็นบุรุษและสตรี หลังจากนั้นจะทรงเสด็จนมัสการพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) และถวายบังคมพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า ณ ปราสาทพระเทพบิดร ในพระบรมมหาราชวัง เป็นอันเสร็จพิธี