การแต่งกายในราชสำนักฝ่ายใน เป็นวัฒนธรรมไทยที่มีการเปลี่ยนแปลง ประดิดประดอยงดงามพิถีพิถันครบถ้วนทั้งประโยชน์ ความงดงาม ความสง่าภาคภูมิ เป็นศิลปะที่เกิดจากความสามารถและสติปัญญาของสตรีไทย การแต่งกายสตรีไทยสมัยโบราณมักเชื่อมโยงกับความเชื่อเรื่องโชคลาง เทวดาสัปตเคราะห์หรือแม่ซื้อ 7 องค์ซึ่งมีสีกายแตกต่างกัน เป็นที่มาของสีประจำวันทั้ง 7 คือ วันจันทร์สีขาวนวล วันอังคารสีชมพู วันพุธสีเขียว วันพฤหัสบดีสีเหลืองอ่อน วันศุกร์สีฟ้าอ่อน วันเสาร์สีดำ สตรีในวังก็นำมาประยุกต์แต่งเติมเสริมกับสีอื่นให้เข้าชุดสวยงาม การนุ่งห่มผ้า มีนุ่งจีบ นุ่งโจง ห่มสไบแนบตัว หรือเสื้อแขนกระบอก ห่มสไบเฉียงทับเสื้อ
สยามเริ่มรับวัฒนธรรมตะวันตก ข้าราชสำนักฝ่ายในตื่นตัวรับแบบอย่างและวิธีการแต่งกายมาผสมผสานดัดแปลงให้เข้ากันกับวัฒนธรรมไทยดั้งเดิม เครื่องแต่งกายในวังเริ่มยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้น มีรายละเอียดเพิ่มขึ้น เครื่องแต่งกายสตรีในราชสำนักเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินกลับจากยุโรป พ.ศ. 2440 สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดัดแปลงฉลองพระองค์แบบไทยๆ ประยุกต์กับแบบของยุโรป ผ้าที่ใช้ก็มีผ้าลูกไม้ แต่ในพระราชพิธีสำคัญก็ยังคงแต่งกายแบบโบราณ ฉลองพระองค์หรือเสื้อที่ดัดแปลงจากแบบยุโรปคือเสื้อแขนพองที่เรียกว่าเสื้อแขนหมูแฮม เสื้อผ้าลูกไม้ สวมใส่กับโจงกระเบน ไว้ผมทรงดอกกระทุ่ม เครื่องประดับเสื้อมีริบบิ้น ลูกไม้ ลูกปัด ดิ้น เลื่อมสีต่างๆ สะพายแพรแถบ สวมถุงเท้า รองเท้าส้นสูง
สมัยรัชกาลที่ 7 เลิกนุ่งโจงกระเบน แต่นุ่งซิ่นยาวแค่เข่า สวมเสื้อทรงกระบอกตัวยาวคลุมสะโพก แขนกุด ผมสั้นดัดเป็นลอน หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง คนไทยสนใจอารยธรรมตะวันตกอย่างเต็มที่ การแต่งกายจึงเลียนแบบฝรั่งมากขึ้น