วิถีบ้านเรือน

            สมัยก่อนการสร้างบ้านเรือนของชาวหาดเสี้ยว นิยมตั้งบ้านเรือนอยู่ติดๆ กัน ส่วนไร่นาแยกไปอยู่ทางตะวันออกและบ้านหนองอ้อ บ้านเกาะน้อย บ้านเรือนเป็นแบบเรือนมะนิลา ใต้ถุนสูง ใช้เป็นคอกเลี้ยงสัตว์ และตั้งหูกหรือกี่ทอผ้า ตั้งเตาตีเหล็ก บนเรือน มีห้องครัวและโถง ห้องนอน บนเรือนนี้ห้ามบุคคลภายนอกเข้า เพราะมีผู้ปกปักรักษาคือ “พ่อเลี้ยง” หากใครเข้าจะถือว่า “ผิดพ่อเลี้ยง”

Generic placeholder image

วิถีสัญจร

            การเดินทางสัญจรระหว่างอำเภอ มีทางหลวงแผ่นดินสาย ๑๐๑ ถนนเป็นดินลูกรัง มีรถโดยสารจากตลาดหาดเสี้ยวไปสวรรคโลก อุตรดิตถ์วันละเที่ยว ถนนเป็นดินลูกรัง ถนนสำคัญอีกทางหนึ่งเป็นถนนเลียบริมน้ำจากบ้านเหนือผ่านร้านค้าตลาด ผ่านที่ว่าการอำเภอ โรงพัก ไปถึงบ้านหนองอ้อ ไฟฟ้าประปายังไม่มี ชาวบ้านใช้น้ำจากแม่น้ำยม น้ำดื่มคือน้ำฝนและน้ำบ่อ ตกเย็นชาวบ้านจะอาบน้ำที่แม่น้ำยมซึ่งมีหาดทรายลาดยาว หนุ่มสาวที่ชอบพอกันก็จะนัดกันมาอาบน้ำยามเข้าไต้เข้าไฟค่ำคืน

Generic placeholder image

วิถีชีวิต

            วิถีชีวิตชาวหาดเสี้ยวยุคนั้น เช้าตื่นแต่มืดจ่ายตลาด หุงหาอาหารกินตอนเช้าและให้เด็กๆ ไปกินที่โรงเรียน และห่อไปกินตอนกลางวันระหว่างทำนาทำไร่ ข้าวที่หุงมักจะเป็นข้าวจ้าว มีข้าวเหนียวบ้าง ตอนเย็นก็เก็บผักหาปลาจากนาจากไร่มาทำกับข้าวเย็น ขนมพื้นบ้านไทพวนหาดเสี้ยว เช่น ข้าวโค้ง เป็นขนมที่มีรสชาติหวานมันเค็ม ทำจาก แป้งข้าวเหนียว มัน หรือ กล้วย น้ำตาล มะพร้าวขูด เกลือเล็กน้อย น้ำมัน นำไปนึ่งให้นิ่ม ก่อนตำในครกไม้ จนได้ที่ใส่แป้งลงไปตำผสมกัน ใส่มะพร้าวและน้ำตาล และนวดจนเนื้อแป้งได้ที่ ปั้นเป็นวงๆ ลงทอดในน้ำมันที่กำลังเดือดพอดี ไฟไม่แรงมาก ทอดพอเหลือง สะเด็ดน้ำมัน ส่วนข้าวโถเถ เป็นขนมคาว กินกับน้ำยาขนมจีน กรรมวิธีแต่โบราณคือนำเอาแป้งขนมจีนมาตำนวดกับแป้งข้าวเหนียวเล็กน้อย แล้วนำมาปั้นเป็นวงกลมตีให้แบนแล้วเอาไปปิ้งไฟอ่อนๆ ทานกับน้ำยาขนมจีน ปัจจุบันนำมาทอดในไฟไม่แรงมาก เมื่อพองตัวก็ทานได้รสชาติดี แบบปิ้งรสชาติจะออกเค็มมัน แต่แบบทอดรสชาติจะออกหวานและจืดกว่า นิยมทำกันในงานบุญต่างๆ เช่น งานบุญกำฟ้า บุญบั้งไฟ บุญออกพรรษาอาชีพหลักของชาวหาดเสี้ยวคือทำนาทำไร่สวน อาชีพเสริมสำคัญคือผู้สาวทอผ้า ซึ่งมีทั้งทอไว้ใช้เองและขาย ส่วนผู้บ่าวและพ่อใหญ่ก็ตีเหล็กสำหรับทำมีดพร้าจอบเสียมเคียวบ้าง สานกระบุงตะกร้า ช้าแฮสำหรับใส่ถาดสำรับกับข้าวไปทำบุญ สานเครื่องมือจับปลาบ้าง ผ้าทอ เครื่องมือที่ทำ บางทีจะขายในงานเทศกาลประจำปี งานวัด เช่น งานพระแท่นดงรัง งานนมัสการพระพุทธชินราช ที่เหลือจากการขาย ก็เอาไปแลกเปลี่ยนเป็นของอื่นไว้ใช้

Generic placeholder image Generic placeholder image Generic placeholder image

วิถีประเพณี

Generic placeholder image

            หญิงชาวหาดเสี้ยวจะต้องทอผ้าใช้เอง ทุกคนต้องมีซิ่นตีนจกประจำตัว เมื่ออายุ ๑๖ ปี จะเกล้าผมสูงเป็นมวยบนกระหม่อม อายุ ๒๐ ปีจะเปลี่ยนเป็นขัดผมปักปิ่นเงินหรือทอง เมื่อออกเรือนแล้วจึงถอดปิ่นได้ เสื้อผ้าปกติเป็นเสื้อฝ้ายแขนยาวคอปิดย้อมสีเข้ม ผ่าหน้า มีกระดุมเงิน งานพิธี ใช้ผ้าแถบคาดอก สไบฝ้ายสีสด ไม่ใส่เสื้อ ซิ่นจก เครื่องประดับเงินหรือทอง เช่นตุ้มหู สร้อยข้อมือเงินหรือทองลายตะขาบ ถ้ามีฐานะดีจะสวมสร้อยสายสะพาย ผู้เฒ่าหิ้วย่ามใส่หมากพลู ชายใส่เสื้อคอกลมฝ้าย กางเกงกรอมเข่า ย้อมมะเกลือเวลาทำงาน ผ้าขาวม้าพันเอว เวลาไปงานพิธี แต่งโจงกระเบน เสื้อแขนยาว คอปิด คาดผ้าขาวม้า เหน็บมีดสั้นข้างเอว ยามค่ำคืนเมื่อหมู่บ้านหาดเสี้ยวยังไม่มีไฟฟ้า ชาวบ้านจุดตะเกียงกระป๋องน้ำมันก๊าด ผู้สาวทอผ้า ผู้บ่าวนั่งคุย บางทีมีกิจกรรมการละเล่น หนังขายยา หนังกลางแปลงที่ลานวัดหาดเสี้ยวหรือที่ว่าการอำเภอ ประเพณีเกี้ยวสาว นิยมทำในหน้าหนาว สมัยก่อนไม่มีฟ้อนรำ แต่มีรำแคน เมื่อผู้บ่าวชอบพอสาวใดจะเตรียมไม้ยาวไว้แหย่ร่องกระดานห้องนอนสาวที่ตนเองชอบเพื่อเรียกให้ลงมาคุย เมื่อสาวลงมา ผู้บ่าวเป่าแคนร้องเพลง ผู้สาวปั่นฝ้าย กรอด้าย ทอผ้าตั้งแต่หัวค่ำจนดึกดื่นกลางแสงจากกองไฟที่ก่อไว้เพื่อให้ความอบอุ่นและความสว่างใต้เดือนดาวและสายลมยามฤดูเหมันต์ ประเพณีท้องถิ่นของหมู่บ้านหาดเสี้ยว ที่เรียกว่า ฮิตคอง หรือ จารีตประเพณีและทำนองคลองธรรมในการครองบ้านครองเรือน ชาวหาดเสี้ยว มีนิสัยขยันขันแข็ง เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และเคร่งครัดธรรมเนียมประเพณี โดยมีภาษาถิ่นคือภาษาไทพวน ประเพณีทั้งปีมีมากมายและสำคัญต่อชีวิตของชาวหาดเสี้ยวทุกช่วงวัยนับแต่หนุ่มสาวเริ่มมีสัมพันธ์จวบจนครองรักครองเรือน มีบุตรคนแรก ไปจนกระทั่งแก่เฒ่าและตาย รวมทั้งงานบุญประเพณีของท้องถิ่นที่ผู้คนจะต้องมารวมกันทำกิจกรรม แม้จะเป็นประเพณีที่จัดกันทั่วไปในประเทศ แต่ก็มีรายละเอียดที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน เช่น การอาบน้ำก่อนกาที่แม่น้ำยมเพื่อชำระบาปเคราะห์ตรุษสงกรานต์ (เดือนห้า) การเตรียมข้าวปุ้น (ขนมจีน) จุดบั้งไฟถวายเป็นพุทธบูชาและการจัดตกแต่งชะลอมผลไม้ถวายพระในงานบุญสลากภัตร์วิสาขบูชา (เดือนหก) การใส่บาตรขนมเทียนเข้าพรรษา ประเพณีกำเกียง (เดือนเก้า) ประเพณีทานข้าวสะ(เดือนสิบ) บุญออกพรรษา (เดือนสิบเอ็ด) พายเรือทอดกฐินและลอยกระทง (เดือนสิบสอง) ลงแขกเกี่ยวข้าว (เดือนอ้าย) กำฟ้า (เดือนสาม) บวชช้างหาดเสี้ยว (เดือนสี่) แม้ว่าปัจจุบันนี้ ความเจริญทางวัตถุจะเข้ามาสู่บ้านหาดเสี้ยวมากขึ้น แต่สิ่งที่ชาวหาดเสี้ยวยังคงรักษาไว้ คือวัฒนธรรมประเพณีอันงดงาม และผ้าหาดเสี้ยวก็ยังคงได้รับความนิยม เป็นสื่อที่แสดงอัตลักษณ์ของชาวไทพวนตำบลหาดเสี้ยว อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย