เรื่องเล่าจากเพลงขอทาน
เพลงขอทานหรือวณิพก หรือเพลงสังขารา เป็นเพลงพื้นบ้านชนิดหนึ่งที่มีมาตั้งแต่อยุธยา เรียกอีกชื่อว่าเพลงกระบอก สืบเนื่องมาจากการรับจ้างเล่านิทาน เมื่อใดที่ไม่มีการจ้างก็ตระเวณไปเล่านิทานแลกเปลี่ยนเป็นเงินหรือสิ่งของตามที่ต่างๆ บางทีมีงานวัด ต้องหาของเข้าครัว บรรดาทายก กรรมการวัดต้องเรี่ยไรข้าวสารอาหารแห้ง จึงมีการร้องเพลงขอหรือบอกบุญเพื่อจูงใจคน แต่งเนื้อเพลงเล่าเรื่องนิทานชาดก ใส่ทำนอง มีลูกคู่ มีเครื่องกำกับจังหวะตามถนัด เมื่อได้สิ่งของก็เอามาให้โรงครัวของวัด ต่อมามีผู้เลียนแบบและยึดเป็นอาชีพ การขอทานแบบที่มีเสียงเพลงหรือดนตรีประกอบเพื่อแลกเปลี่ยนเงินทองข้าวของนี้ เรียกว่า วณิพก
ลักษณะเพลงขอทานของจังหวัดสุโขทัย เป็นเพลงอัตราชั้นเดียว เนื้อร้องเป็นคำกลอน มักจะเป็นนิทานเรื่องจักรๆ วงศ์ๆ สมัยก่อนผู้ร้องใช้กระบอกสองอัน กระทุ้งให้จังหวะ และยังใช้บรรเลงและขับร้องประกอบการแสดงละคร สำหรับบทที่ต้องการความรีบด่วนให้จบเร็วหรือการไปมาอย่างรวดเร็ว ในการขับร้องของวณิพกอาจนำทำนองอื่นๆ มาร้อยทำนองผสมผสานกับคำกลอนก็ได้ ก่อนร้องต้องมีการเกริ่นเหมือนบทโหมโรง เนื้อร้องเป็นท่อน ความยาวตามเรื่องที่จะร้อง ถ้าเล่นหลายคนจะมีลูกคู่ร้องรับในสองวรรคสุดท้ายทุกตอน
ศิลปินที่ร้องเพลงขอทานจะต้องขับร้องและเล่นดนตรีได้ด้วย ในขณะที่ร้อง ก็ใช้มือขยับกรับ กรับ ให้เกิดจังหวะรุกกระชั้นเร้าใจและคิดหาวิธีการตีกรับด้วยสีสันลีลาที่แปลกใหม่น่าสนใจพิสดารเพื่อดึงดูดความสนใจแก่ผู้พบเห็น ผู้ร้องต้องมีความชำนาญเป็นพิเศษ ร้องให้สุดคำ รำให้สุดแขน ขณะร้องต้องตีกรับไปด้วย ลักษณะกรับเป็นกรับชนิดกลมสองคู่ มีเสียงทุ้มกับเสียงแหลม ในมือทั้งซ้ายขวาตีสลับพลิกแพลงเป็นจังหวะเหมือนฉิ่ง ฉาบ เร็วบ้างช้าบ้าง ดูสนุกสนาน มีการรัวกรับและออกลีลาท่าทางต่าง ๆ ซึ่งเป็นความสามารถเฉพาะตัว ปัจจุบันหาคนเล่นได้ยากมาก เครื่องดนตรีประกอบด้วยฉิ่ง ฉาบ กรับ โหม่ง ตะโพนไทย ระนาดเอก ซอ ผู้ร้องแต่งกายด้วยเสื้อผ้าเก่าขาด สวมหมวกหลุบปีกหรือโพกผ้า