ผีตาแฮก..ความเชื่อ
ผีตาแฮก ผีนาที่มีอยู่ในความเชื่อของชาวอีสาน เป็นผีที่เฝ้าประจำอยู่ที่นาตาแฮก เพื่อคอยคุ้มกันที่นาและช่วยดลบันดาลให้ผลผลิตในนามีความอุดมสมบูรณ์
มีความเชื่อเกี่ยวกับผีตาแฮกว่า ผีตาแฮกจะคอยอยู่เฝ้านาตาแฮกและที่นาทั้งหมด โดยสิงสถิตอยู่ที่บ้านซึ่งชาวนาจัดให้ ชาวอีสานจึงมักห้ามทุกคนไม่ให้ปัสสาวะหรืออุจจาระใกล้ๆ นาตาแฮก หากใครฝ่าฝืนผีตาแฮกจะโกรธและทำให้บุคคลผู้นั้นเจ็บป่วยจนอาจถึงตายได้
ชาวอีสานมักเชื่อว่ามีผีอยู่ทั่วไป ตามป่า ลำห้วย ไร่และนา หรือแม้แต่บ้านก็มีผีเฮื้อน หากล่วงเกินผีเหล่านี้เข้าอาจทำให้เจ็บป่วยถึงตาย ชาวอีสานจึงดำรงชีวิตอยู่อย่างถ่อมตนและอ่อนน้อมกับธรรมชาติ ดังนั้นชาวอีสานมักถือเอาข้อห้ามเกี่ยวกับผีตาแฮกยึดเป็นข้อปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เช่นเดียวกับปฏิบัติต่อผีอื่นๆ
นาตาแฮก
แฮก คือ แรก หมายถึง การไถนาทำนาปลูกข้าวครั้งแรกในนาจำลองขนาดเล็กๆ ที่สมมติขึ้น แล้วมีพิธีสู่ขวัญวิงวอนร้องขอต่ออำนาจเหนือธรรมชาติให้บันดาลให้ทำนาจริงๆ ได้ผลผลิตเป็นข้าวงอกงามอุดมสมบูรณ์เหมือนนาจำลองที่สมมติขึ้น
นาตาแฮก คือ นาเสี่ยงทายผลผลิตข้าวของชาวอีสาน มีลักษณะเป็นพื้นที่สี่เหลี่ยมขนาดเล็กไว้ตามคันนา หรืออาจเป็นเนินดินที่สูงกว่าปกติ มีต้นข้าวปักดำเป็นแถว จำนวน 11 ต้น โดยเชื่อกันว่าในนาตาแฮกจะมีผีตาแฮกคอยดูแลต้นข้าวอยู่ หากต้นข้าวในนาตาแฮกทั้ง 11 ต้น เจริญงอกงามจนสามารถออกรวงได้แล้ว ผลผลิตของที่นาในปีนั้นก็จะดี ชาวนาในภาคอีสานจึงให้ความสำคัญกับนาตาแฮกเป็นอย่างมาก
พิธีกรรมนาตาแฮก
ชาวอีสานกลุ่มวัฒนธรรมลาว มีการปักแฮกต้นข้าวในนาตาแฮกเป็นอันดับแรกก่อนที่จะลงมือดำนาปกติ เพราะเชื่อกันว่าการปักแฮกในเวลาที่เหมาะสม จะนำความสมบูรณ์ของธัญญาหารมาสู่ครอบครัว การทำนาในปีนั้นจะได้ผลผลิตดี เจ้าขอนาจึงหาเวลา แฮกดี ก่อนลงมือทำนา
ชาวนาแต่ละคนมี แฮกดี ไม่เหมือนกัน บางคนอยู่ในที่ลุ่ม บางคนอยู่ในที่ดอน การแฮกดีจึงเป็นพิธีกรรมที่สำคัญที่มีการสืบทอดต่อๆ กันมา
พิธีกรรมปักแฮกต้นข้าว เข้าของนามักเลือกเอาวันที่เรียกว่า วันฟู หรือ วันลอย เป็นวันที่คิดจากวันทางจันทรคติที่สืบทอดต่อๆ กันมา
ชาวอีสานถือว่า วันฟู เป็นวันแห่งโชคลาภ ซึ่งนำมาซึ่งความรุ่งเรืองในชีวิต ในวันดังกล่าว ชาวนามีการเตรีมต้นกล้าประมาณ 1 กำมือ เพื่อนำไปปักแฮกที่นาตาแฮก ขณะทำการปักแฮกเจ้าของนาจะกล่าคำสวดเป็นภาษาลาว
เมื่อปักดำนาตาแฮกแล้ว ต้นข้าวในนาตาแฮกงอกงาม ฝนตกสม่ำเสมอตลอดปี ชาวนาจะนำบ้านไม้ไผ่ที่ทำขึ้น และไก่ต้มพร้อมทั้งดอกไม้ ธูปเทียน เป็นเครื่องสังเวยนาตาแฮก ซึ่งเชื่อกันว่ามีผีตาแฮกเฝ้าอยู่
บ้านไม้ไผ่ทำโดยการนำไม้ไผ่มาสานเป็นบ้านขนาดเล็ก มีเสาทำด้วยไม้หนึ่งเสา สำหรับปักลงข้างๆ นาตาแฮก ที่ปลายเสามีห่วงไม้ไผ่คล้องกัน 7 ห่วง เมื่อปักบ้านให้กับผีตาแฮกแล้ว ก็นำไก่ต้มมาสังเวย เจ้าของนาจะคอยจนกว่าจะถึงเวลาที่คาดว่าผีตาแฮกกินเครื่องเซ่นเสร็จแล้ว ก็นำคางไก่ต้มที่เป็นเครื่องเซ่นมาแกะดูขากรรไกรทั้งสองข้าง เพื่อเป็นการทำนายเกี่ยวกับฝนในปีนั้นๆ
เกี่ยวกับนิทรรศการ
“แรกนาขวัญ-นาตาแฮก” การสร้างขวัญและกําลังใจของเกษตรกร (2562) สืบค้นจาก https://www.silpa-mag.com/culture/article_32683 เมื่อ 12 ธันวาคม 2562
สรุปโครงการ อนุรักษ์ พัฒนา และสืบสานศิลปะวัฒนธรรมเมืองเก่าสุพรรณบุรี เชื่อมต่อวิถีความเป็นอัตลักษณ์ของสวนดุสิต. (2561). สุพรรณบุรี: มหาวิทยาลัยสวนดุสิต วิทยาเขตสุพรรณบุรี.
สุทิน. (2535). ผีตาแฮก. ศิลปวัฒนธรรม. 13(4), 134-135.