คำให้การชาวกรุงเก่า. (2546). นนทบุรี: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัย สุโขทัยธรรมาธิราช.
ประจักษ์ ประภาพิทยากร. (2527). การรับแขกเมืองแต่โบราณ. วัฒนธรรม ไทย. 23(4), 48-53.
ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง : คำให้การชาวกรุงเก่า คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม คำให้การขุนหลวงหาวัด. (2553). กรุงเทพฯ: แสงดาว.
Copyright © All rights reserved | This template is made with by Colorlib
ในสมัยอยุธยาเมื่อมีราชทูตต่างประเทศเข้ามาสู่พระนครอย่างต่อเนื่อง จึงมี ธรรมเนียมรับราชทูตเกิดขึ้น โดยโปรดให้จัดการ ดังนี้
ในท้องพระโรงที่เสด็จออกหน้าบัลลังก์พระที่นั่งบุษบกมาลา ให้ตั้งเศวตรฉัตร 5 ชั้น ที่ท้องพระโรงด้านซ้ายและขวาประดิษฐานเครื่องสูง ด้านละ 6 องค์ ตั้งพานแว่นฟ้าเหนือแท่นทองสำหรับพระราชสาสน์ และจัดโต๊ะตั้งพานทอง 6 โต๊ะสำหรับตั้งเครื่องราชูประโภค มีพานพระขันหมาก และพระสุพรรณศรี เป็นต้น
ต่อออกมาจัดที่สำหรับเสนาอำมาตย์ผู้ใหญ่ผู้น้อยเฝ้าตามตำแหน่ง เป็น 8 แถว ข้าราชการที่เข้าเฝ้าในท้องพระโรง ทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวารวม 400 คน มหาดเล็กเฝ้าฝ่ายซ้ายขวา ใกล้พระราชบัลลังก์ประมาณ 50 คน
ข้างหน้าพระลานพระที่นั่งออกไปจนถึงประตูแดง มีพลทหารแต่งตัวถืออาวุธประจำด้านซ้ายและด้านขวาข้างละ 500 คน ปลูกปะรำพิธีสำหรับยืนพระยาช้างเผือกข้างพระมหาปราสาท ช้างเผือกแต่งเครื่องไหมทองที่ได้มาจากฝรั่งเศส มีตาข่ายปกกระพอง (ตาข่ายล้อม) ที่เท้าใส่กำไล เครื่องยศสำหรับช้างเผือกมีสัปทน อ่างทองสำหรับน้ำกิน ถาดเงินสำหรับใส่กล้วย หญ้า ถั่ว ข้าว
นอกจากช้างเผือกยังมีช้างต้นแต่งเครื่องพร้อมออกยืนปรำอีก 4 ช้าง ม้าต้นออกยืนปะรำ 4 ม้า ล้วนมีเครื่องยศ คือ อ่างทองสำหรับน้ำกิน ถาดเงินสำหรับใส่หญ้า ถั่ว ข้าว มีสัปทนและแซ่ปัดคร่ำทอง
ครั้นถึงเวลากำหนด พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาแต่งพระองค์ทรงเครื่องราชาภรณ์ ทรงพระมหามงกุฎ ทรงพระแสง ประทับหน้าบัลลังก์ เจ้าพนักงานไขพระวิสูตรทั้ง 2 ข้าง และบรรเลงเครื่องประโคม มีสังข์ แตร และกลองชนะ เมื่อสุดเสียงประโคมแล้ว เจ้าพนักงานรับราชทูตชูพุ่มดอกไม้ทอง ข้าราชการกราบถวายบังคม 3 ลา แล้วนำราชทูตเข้าไปถวายบังคมอีก 3 ลา แล้วนั่งตามตำแหน่ง ขุนทาระกำนันเชิญพานหมากไปตั้งให้ราชทูต
ถ้าเป็นราชทูตเมืองใหญ่ จะเสด็จออกรับที่ราชบัลลังก์มุขกระสัน และทรงเอื้อมพระหัตถ์รับพระราชสาสน์เอง แต่ถ้าเป็นราชทูตเมืองน้อย จะเสด็จออกที่พระราชบัลลังก์มุขเด็จ ราชทูตเฝ้าที่ชาลาหน้า เมื่อมีพระราชปฏิสันถารพอแก่เวลาแล้ว ชาวที่ก็ชักพระวิสูตรปิด พระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จขึ้น ชาวประโคมก็ประโคม ข้าราชมนตรีก็กราบถวายบังคมลา 3 ลา อีกครั้ง
ประเพณีเก่าแก่โบราณของไทย สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการเสด็จออกรับแขกบ้านแขกเมืองคือต้องทรงมีพระราชปฏิสันถาร 3 นัดเสมอ
ปฏิสันถาร 3 นัด เป็นการแสดงมารยาทและวัฒนธรรม ที่บ่งบอกถึงบุคลิกลักษณะประจำชาติไทยในการต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง แต่บางชาติที่ไม่เข้าใจกันจะเห็นว่าเป็นการเสียเวลา ไร้สาระ ส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างกันเป็นไปไม่ได้ด้วยดี
พระราชประเพณีโบราณในการเสด็จออกรับทูตานุทูต เรียกกันว่า ปฏิสันถาร 3 นัด 3 นัด หมายถึง เนื้อความที่ถาม จะถาม 3 ครั้ง หรือ 3 เรื่อง ได้แก่
- พระเจ้าแผ่นดินและพระราชวงศ์ของท่านทรงสบายดีหรือ
- บ้านเมืองของท่าน ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล ข้าวกล้าบริบูรณ์ดีหรือไม่
- ข้าศึกทั้งนอกเมืองและในเมืองของท่าน สงบราบคาบ ราษฎรมีความสุขสบายดีหรือไม่
ในบางพงศาวดารอาจมีผิดเพี้ยนไปบ้าง เช่น
- พระเจ้าแผ่นดินทรงสุขสบายดีหรือไม่
- การเดินทางของคณทูตสะดวกสบายดีหรือไม่
- ฝนตกต้องตามฤดูกาล พลเมืองของท่านสุขสบายดีหรือไม่อย่างไร
ปฏิสันถาร 3 นัด เป็นธรรมเนียมปฏิบัติการรับราชทูตของไทยแต่โบราณ จึงถูกนำมากล่าวไว้ในวรรณคดีไทยหลายเรื่อง เช่น รามเกียรติ์ ลิลิตตะเลงพ่าย เสภาขุนช้างขุนแผน รามเกียรติ์ ตอน ท้าวอัชบาลเสด็จออกรับทูต
“ซึ่งท้าวไกยเกาภูวนารถ ยกราชธิดาโฉมศรี
มาให้โอรสของเรานี้ มีสุขสำราญฤๅไฉน
เสนาประชาชนทั้งเวียงชัย ยังไพบูลย์พูนสุขสวัสดี
อนึ่งซึ่งมาจากนิเวศ ทางทุเรศกันดารพนาศรี
อันไพร่พลพหลโยธี สิ่งที่ขัดสนประการใด”
ลิลิตตะเลงพ่าย ตอน สมเด็จพระนเรศวรตรัสปราศรัยบรรดาทูตานุทูตแห่งเมืองเชียงใหม่ ซึ่งทูลพระราชสาสน์มาขออ่อนน้อม ว่า
จักรพงศ์ภูวนาถเฝ้า พสุธาร
เผยพระราชปฏิสันถาร ถั่งถ้อย
บูรณ์บับนับตรีวาร จารีต นั้นนา
ทักแขกแรกฤๅน้อย มากไซร้ไป่มี
ปางนี้เชียงใหม่ผู้ สวามิน
นฤโศกโรคราคิน ห่อนพ้อง
ผ่านภพแผ่นธรณิน นิตย์เยี่ยง ยุกดิ์ฤๅ
เกษมทุกทวยธเรศร้อง สวัสดิ์แผ้วภัยกษัย
หนึ่งไสร้พิรุณร่วงฟ้า ฟูไฟ ศรพณ์แฮ
โดยฤดูดาลไข น่านน้ำ
พูนพืชโภชนาใน นครเขต เขือฺฤๅ
อกราษฎร์ขาดเทวษซ้ำ ชุ่มฟ้าฉ่ำฝน
ไป่ดลภเยศด้วย ดัสกร เถิดเอย
รังเริ่มรณรงค์รอน รบเร้า
เวียงสูสุขถาวร วายเศิก แลฤๅ
สบส่ำสีมาเข้า ขอบแคว้นแคลนเข็ญ
เย็นจิตไทยไพร่พร้อม พราหมณ์ชี ชื่นฤๅ
ต่างแผ่ผลไมตรี ต่อตั้ง
บ่เบียดบ่เบียนปี ฑาโทษ กันแฮ
เลี้ยงชีพโดยสะดวกทั้ง ทั่วด้าวแดนไถน
ขุนช้างขุนแผน ตอน สมเด็จพระพันวษาเสด็จออกรับทูตจากล้านช้าง
จึงตรัสประภาษปราศรัย มาในป่าไม้ใบหนา
กี่วันจะถึงพารา มรรคายากง่ายประการใด
หน่งกรุงนาคบุรี ข้าวกล้านาดีหรือไฉน
ฤๅฝนแล้งข้าวแพงมีภัย ศึกเสือเหนือใต้สงบดี
ทั้งองค์พระเจ้าเวียงจันทน์ ทรงธรรม์เป็นสุขเกษมศรี
ไม่มีโรคายายี อยู่ดีอย่างไรในเวียงจันทน์
พระราชสาสน์ที่ใช้การรับแขกบ้านแขกเมืองแต่โบราณ จะต้องผ่านการแปลยังหอแปลพระราชสาสน์ก่อน ในสมัยอยุธยาหอแปลพระราชสาสน์จะอยู่ภายในกำแพงพระราชวังชั้นนอก ทางด้านทิศตะวันออกข้างใต้ ประเพณีไทยถือว่าพระราชสาสน์เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เป็นเสมือนหนึ่งแทนองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ใครที่เห็นพระราชสาสน์จะต้องแสดงความคารวะเช่นเดียวกับการแสดงต่อหน้าองค์พระมหากษัตริย์ และจะต้องมีการแห่พระราชสาสน์ ดังเช่นตอนที่คณะทูตจากล้านช้างมาถึงกรุงศรีอยุธยา ได้มีประเพณีเกี่ยวกับราชสาสน์ในเสภาขุนช้างขุนแผนกล่าวไว้
“พอเรือจอดทอดประทับรับราชสาร ผู้คนอลหม่านอึงมี่
เชิญราชสาสน์ใส่พานทันที กลองตีประโคมแห่โหมไป
ถึงที่เชิญขึ้นไปบนหอ อาลักษณ์รับต่อท่านผู้ใหญ่
ให้แปลราชสารเป็นคำไทย ต้องในสำเนาทุกประการ”
และตามธรรมเนียมหลักของการถวายพระราชสาสน์ ราชทูตจะไม่ถวายต่อพระหัตถ์โดยตรง แต่จะมีโต๊ะวางตรงหน้าพระที่นั่ง ตามขนบธรรมเนียมของฝรั่ง ถือว่าตัวทูตสำคัญกว่าพระราชสาสน์ เพราะเป็นประหนึ่งแทนองค์พระมหากษัตริย์ของเขา ดังจะเห็นได้จากตอนที่เชอวาเลีย เดอ โชมอง ทูตฝรั่งเศสกับคณะที่มาเข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพื่อถวายพระราชสาสน์ จากสมเด็จพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2228 ทูตยื่นทูลเกล้าฯ พระราชสาสน์ไม่เหนือศีรษะของตน ส่วนผู้ที่หมอบคือเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ซึ่งเป็นฝรั่งที่อยู่เมืองไทยจนรู้ขนบธรรมเนียมไทยเป็นอย่างดี พยายามทำมือเพื่อให้ทูตฝรั่งเศสหมอบ ส่วนสมเด็จพระนารายณ์ทรงเอื้อมพระหัตถ์มารับพระราชสาสน์พร้อมกับทรงแย้มพระสรวล แสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงเข้าพระทัยในขนบธรรมเนียมของฝรั่งเป็นอย่างดี ไม่ทรงถือเป็นเรื่องขัดพระราชหฤทัย
สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
9/9 หมู่.9 ต.บางพูด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี 11120 โทร.02-504-7463-65
Copyright © All rights reserved | This template is made with by Colorlib