พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
เสด็จทอดพระเนตรสุริยุปราคาที่ปัตตานี

เดือน พฤษภาคม

สุริยุปราคา
หรือ สุริยคราส

สุริยุปราคา หรือ สุริยคราส เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ เกิดขึ้นเมื่อดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และโลก โคจรมาเรียงอยู่ในแนวเดียวกันโดยมีดวงจันทร์อยู่ตรงกลาง เกิดขึ้นเฉพาะในวันที่ดวงจันทร์มีดิถีตรงกับจันทร์ดับ เมื่อสังเกตจากพื้นโลกจะเห็นดวงจันทร์เคลื่อนเข้ามาบดบังดวงอาทิตย์ โดยอาจบังมิดหมดทั้งดวงหรือบางส่วนก็ได้ ในแต่ละปีสามารถเกิดสุริยุปราคาบนโลกได้อย่างน้อย 2 ครั้ง สูงสุดไม่เกิน 5 ครั้ง ในจำนวนนี้อาจไม่มีสุริยุปราคาเต็มดวงเลยแม้แต่ครั้งเดียว หรืออย่างมากไม่เกิน 2 ครั้ง โอกาสที่จะได้เห็นสุริยุปราคาเต็มดวงสำหรับสถานที่ใดสถานที่หนึ่งบนพื้นโลกนั้นค่อนข้างยาก เนื่องจากสุริยุปราคาเต็มดวงแต่ละครั้งจะเกิดในบริเวณแคบ ๆ ภายในแถบที่เงามืดของดวงจันทร์พาดผ่านเท่านั้น

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรสุริยุปราคาที่ปัตตานี โดยทรงแปรพระราชฐานไปประทับ ณ วังไกลกังวล หัวหิน ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2472 ในวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ.2472 เสด็จพระราชดำเนินถึงจังหวัดปัตตานีโดยเรือพระที่นั่งมหาจักรี พลตรี พระยาราชวังสัน ประธานกรรมการรับรองคณะนักสำรวจ นำศาสตราจารย์ สแตรตัน และคณะนักดาราศาสตร์เฝ้าฯ และทอดพระเนตรเครื่องสำรวจ หลังจากนั้นจึงเสด็จโดยรถยนต์ที่นั่งไปยังตำบลโคกโพธิ์ พันเอก พระศัลวิธานนิเทศนำ ดร. โรเซนเบอร์กหัวหน้าคณะนักดาราศาสตร์เยอรมันเฝ้าฯ ทอดพระเนตรเครื่องสำรวจของนักดาราศาสตร์เยอรมัน และเสด็จทอดพระเนตรสถานสำรวจของกรมแผนที่และกรมชลประทาน ที่โคกโพธิ์

9 พฤษภาคม

เสด็จพระราชดำเนินสถานสำรวจของนักดาราศาสตร์อังกฤษ

ประทับในปะรำเพื่อทอดพระเนตรสุริยุปราคา สุริยุปราคาเริ่มจับเวลา 12.09 น. ทางทิศหรดี เวลา 13.34 น.เต็มคราสหมดดวง เห็นได้ที่โคกโพธิ์ ปัตตานี นานประมาณ 5นาที


สุริยุปราคาเริ่มจับเวลา 12.09 น.
ทางทิศหรดี เวลา 13.34

มีประกายแสงแผ่จากดวงอาทิตย์ยาว 130,000 กิโลเมตร ในครั้งนี้มีคณะนักดาราศาสตร์ต่างชาติเข้ามาตั้งที่ปัตตานี 2 คณะ คือคณะอังกฤษ และเยอรมัน และยังมีคณะอื่น เช่น อินเดีย จีน

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรที่สถานสำรวจของนักดาราศาสตร์อังกฤษเนื่องจากคณะนักดาราศาสตร์อังกฤษกราบบังคมทูลเชิญเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรก่อนคณะเยอรมัน การมาสำรวจในครั้งนี้ เพื่อให้ราบว่าท้องฟ้าที่หุ้มห่อเปลือกนอกของดวงอาทิตย์ มีอะไรบ้าง มีก๊าซชนิดใดบ้าง แสงของดวงอาทิตย์เกิดขึ้นได้จากไหน เพื่อพิสูจน์หลักของไอนสไตน์ว่าจริงหรือไม่ โดยถ่ายรูปหมู่ดาวที่ตั้งอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด เพื่อดูรัศมีดวงอาทิตย์ให้ชัดเจน นำมาพิสูจน์ว่าก๊าซในอากาศมีอย่างไร และความสูงที่ก๊าซนี้แบ่งตัวออกไป เพื่อถ่ายภาพรัศมีของดวงอาทิตย์ตั้งแต่เริ่มจับคราสจนถึงโมฆบริสุทธ เพื่อให้ทราบว่าเวหาเบื้องสูงที่ล้อมรอบดวงอาทิตย์มีลักษณะประกอบกันอย่างไร เพื่อให้ทราบว่าปรมาณูในเวหาเบื้องสูงรอบดวงอาทิตย์นั้นเป็นอย่างไรและมีลักษณะเคลื่อนไหวอย่างไร

วันที่ 9 พฤษภาคม สุริยุปราคาเห็นชัดที่ปัตตานีเวลา 13.43 น. แต่ดวงอาทิตย์ถูกเมฆบัง จึงไม่เห็นรัศมี ไม่มีเงา ไม่มีแสง ถ่ายภาพได้แต่ภาพดวงจันทร์บดบังดวงอาทิตย์เต็มคราส
วันที่ 10 พฤษภาคม พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญคณะนักดาราศาสตร์ที่เข้ามาสำรวจพร้อมคณะกรรมการจัดการรับรอง และสมุหเทศาภิบาลมณฑลปัตตานี มารับพระราชทานเลี้ยงอาหารกลางวันในเรือพระที่นั่งมหาจักรี