สภาพภูมิศาสตร์
“เมื่อชั่วพ่อขุนรามคำแหง เมืองสุโขทัยนี้ดี ในน้ำมีปลาในนามีข้าว เจ้าเมืองบ่เอาจกอบในไพร่ลู่ทาง”
สุโขทัยเป็นเมืองในน้ำมีปลาในนามีข้าว มิใช่เพียงสำนวนที่มีความสอดคล้องกันในแง่ภาษา แต่ในวิถีชีวิตของคนสุโขทัยที่สัมพันธ์กับสภาพภูมิศาสตร์ ซึ่งมีแม่น้ำสายหลักคือแม่น้ำยม และตระพังต่างๆ ที่กักเก็บน้ำไว้ใช้อุปโภคบริโภค รวมทั้งเขื่อนสรีดภงส์ หรือทำนบพระร่วง
ลำน้ำยมมีต้นกำเนิดจากเทือกเขาผีปันน้ำในอำเภอปง จังหวัดพะเยา ไหลผ่านจังหวัดแพร่ลงสู่สุโขทัย พิษณุโลก และพิจิตร ไปบรรจบกับแม่น้ำน่านที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ก่อนที่แม่น้ำน่านจะไปรวมกับแม่น้ำปิง ที่ปากน้ำโพ และเกิดเป็นสายน้ำหลักใหญ่ของประเทศชื่อว่าแม่น้ำเจ้าพระยา
“ทุ่งสุโขทัย” เป็นทุ่งน้ำจืดขนาดใหญ่มีเนื้อที่ประมาณ 2-3 แสนไร่ เกิดจากการท่วมขังของน้ำ ที่ไหลบ่าจากลำน้ำยมในช่วงน้ำหลาก ระหว่างเดือนสิงหาคมและกันยายนของทุกปีครอบคลุมพื้นที่อำเภอเมือง อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย และอำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก เป็นแหล่งทรัพยากรประมงที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย
อำเภอกงไกรลาศ เป็นอำเภอสุดท้ายปลายแม่น้ำยมของจังหวัดสุโขทัย เดิมมีสภาพเป็นเกาะกลางแม่น้ำยมเรียกว่า เกาะกง ชาวบ้านดั้งเดิมคือคนไทยเชื้อสายจีนและลาวโซ่ง อาศัยอยู่ริมน้ำและบนเรือนแพ มีอาชีพประมง เพราะเป็นปลายน้ำ จึงเป็นแหล่งปลาชุม ปลาที่มีจำนวนมาก เช่น เช่น ปลาค้าว ปลาแดง ปลาชะโอน ปลากราย ปลาเนื้ออ่อน ปลาตะเพียน ปลากด ปลาช่อน ปลาหมอ ปลาสร้อย ปลาตะเพียนขาว ปลากระแห ปลาแปบควาย ปลาหมู ปลารากกล้วย
ปลาที่เคยมีชุกชุมและมีชื่อเสียงของสุโขทัยในอดีต คือปลาน้ำเงิน คล้ายปลาเนื้ออ่อนมีริ้วสองริ้วเป็นแถบ ครีบสีเงิน เนื้อนุ่มอร่อย ในวรรณคดีกาพย์เห่เรือ บทเห่ชมปลาพระนิพนธ์เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร พรรณนาปลาน้ำเงินไว้ว่า
วิถีชีวิตประมง
การดักปลา ทำกันทั้งในแม่น้ำและในทุ่งนา พอถึงฤดูฝน ในเวลาที่น้ำท่วมทุ่ง ปลาจะมาวางไข่ในทุ่งนา น้ำไหลหลากลงไปตามที่ลุ่ม มันจะไปตามน้ำเข้าไปในคลองจนถึงถึงตามทุ่ง ตามท่า ตามป่า จะไปวางไข่แล้วก็แพร่พันธุ์เจริญเติบโต และว่ายออกมาเมื่อถึงฤดูน้ำลด ในฤดูน้ำลด ปลาจะว่ายทวนน้ำขึ้นไปอาศัยอยู่ตามวังน้ำลึก พรานปลาเล่าว่า
“พอตกกลางคืน ปลามันก็จะนอนค้างตามพุ่มไม้ตามป่าละเมาะ ปลาน่ะมันจะชอบไปวางไข่ในทุ่ง เพราะว่ามันวางไข่ในแม่น้ำไม่ได้ ก็เพราะน้ำมันแรงนะสิ โห้ มันต้านไม่ไหวหรอก ปลิวหมด พอน้ำลดนะ ปลามันก็จะออกมาวางไข่”
ฤดูร้อนที่น้ำแห้งขอด ชาวบ้านจะพากันลงไปในแม่น้ำ แล้วช่วยกันขุดหลุมขนาดใหญ่หลายๆ หลุม ไล่กันไปจนถึงอำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ที่มีแนวเขตติดต่อกัน จากนั้นเมื่อน้ำมาในฤดูน้ำหลาก ปลาสารพัดชนิดจะใช้ชีวิตในลำน้ำ รวมถึงในหลุมดักที่ชาวบ้านทำไว้ จนเมื่อน้ำลดปลาที่ตกค้างอยู่ในหลุมที่ชาวบ้านดักก็จะตกเป็นอาหารของชาวบ้านในที่สุด นี่คือภูมิปัญญาในวิถีประมงแห่งกงไกรลาศ
“ในอดีตการทำประมงหรือการจับปลานิยมจับด้วยเครื่องมือประมงพื้นบ้านเช่น แห สวิง และยอ เท่านั้น แต่เพราะปริมาณสัตว์น้ำมีความอุดมสมบูรณ์มาก จึงสามารถจับสัตว์น้ำได้ในปริมาณสูง และมีความ เชื่อว่า “ปลาไม่มีวันหมดไปจากแม่น้ายม”
การเลือกใช้เครื่องมือจับปลาของชาวสุโขทัย ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่และชนิดของสัตว์น้ำที่ต้องการ ความชำนาญในการใช้เครื่องมือ สิ่งเหล่านี้คือภูมิปัญญาที่ได้รับการถ่ายทอดสู่คนรุ่นลูกหลาน เครื่องมือจับปลาขนาดเล็กได้แก่ ข่าย ลอบ เบ็ด แห เครื่องมือที่นิยมใช้ในช่วงน้ำลด ได้แก่ โพงพาง ช้อนสนั่นหรืออวนรุนน้ำจืด ยอขันช่อ ลอบประกอบเฝือก ในบริเวณแหล่งน้ำที่เป็นช่องแคบมีน้ำไหลออก จะนิยมใช้เครื่องมือประเภทสกัดกั้นเช่น ลี่ จิบ ซึ่งเครื่องมือเหล่านี้จะอาศัยความแรงของกระแสน้ำในการทำการประมง ส่วนในช่วงน้ำลดเครื่องมืออีกประเภทหนึ่งที่นิยมใช้ในคลองสาขา ชาวประมงเรียกว่า “กระเตง”หรือ “สระลอย” ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ได้รับการพัฒนาจากลี่และกร่ำ
“ปลาร้าบ้านกง” มีวิธีทำคือใช้น้ำนึ่งปลาทูมาผสมกับรำช้าวสำหรับหมักปลา โดยผสมกับข้าวคั่ว ต้นเปียนและหัวเชื้อต้มเหล้า เช่นน้ำสัปปะรด บางสูตรก็ใช้เกลือและข้าวคั่วหมักปลา ปลาร้าบ้านกงทั้งดิบและสุกมีชื่อเสียงพอๆ กับขนมผิงสุโขทัย ซึ่งก็มีขายที่ตลาดอีกเหมือนกัน วิถีชีวิตของชาวบ้านที่นี่จึงอยู่กับการประมง ดังนั้นการจับปลา การชั่ง การขาย การชำแหละ การหมัก การปรุง เหล่านี้จึงเป็นกิจกรรมที่มีให้เห็นทุกวัน
ปัจจุบันนี้วิถีชีวิตประมงแห่งกงไกรลาสกำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงอันเนื่องจากการพัฒนาระบบชลประทานในลำน้ำยมและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ปลามิได้ชุกชุมเช่นที่ผ่านมา แต่ปลาแม่น้ำยมและตลาดริมน้ำยมที่กงไกรลาศก็ยังคงเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ดังความในศิลาจารึกหลักที่ 1 ที่ว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว”
บรรณานุกรม
กาญจนี คำบุญรัตน์. (2555). ไปดูเขาหาปลาที่บ้านหลุมสุโขทัย. ศิลปวัฒนธรรม 33(4), 62 – 64. จินตนา บุญทองช่วย. วิถีชีวิตของคนทุ่งสุโขทัยกับการทำประมง สืบค้นวันที่ 5 มกราคม 2565 ค้นจาก https://www.fisheries.go.th/if-center/web2/images/pdf/jin1.pdf
ชยา วรรธนะภูติ และ รัตนาภรณ์ พุ่มน้อย. (2561). “โลกพันทาง” ของลุ่มน้ำ ปลา และผู้คนแห่งบ้านกง อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย: มุมมองเชิงภูมิศาสตร์มนุษย์. วารสารสังคมวิทยามานุษยวิทยา 37(2), 129 – 160.
วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. ปลาแม่น้ำแห่ง ‘ลำน้ำยม’ สืบค้นวันที่ 5 มกราคม 2565 ค้นจาก http://department.kru.ac.th/kru_person/index.php/2553