ภาพเขียนปริศนาธรรม

วัดโพธิ์บางโอ ตั้งอยู่ตำบลวัดชลอ อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี เป็นวัดโบราณสร้างสมัยอยุธยาตอนปลาย หันหน้าไปทางคลองแม่น้ำอ้อม ตามคติการสร้างวัดสมัยโบราณที่พระอุโบสถจะหันหน้าไปทางแม่น้ำ พระอุโบสถมีพาไลล้อมรอบแบบพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งเป็นแบบพระอุโบสถหลวงสมัยอยุธยาตอนปลายสุด จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดโพธิ์บางโอ เป็นภาพเขียนเกี่ยวกับปริศนาธรรมฝีมือสกุลช่างชั้นสูงของนนทบุรี แตกต่างจากวัดอื่นที่มักจะเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติหรือชาดก ดังที่ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ศาสตราจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ และอาจารย์เขียน ยิ้มศิริ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ จิตรกรรมฝาผนังสกุลช่างนนทบุรี ว่า
“…ภาพที่อยู่ระหว่างประตูเข้าทั้งสอง ซึ่งเป็นแนวทางให้เราได้ศึกษาลักษณะงานจิตรกรรมของสกุลช่างนนทบุรี ภาพเขียนบนผนังซึ่งอยู่ระหว่างหน้าต่าง 10 หน้าต่าง (ผนังละ 5 หน้าต่าง) นั้นเป็นที่น่าสนใจมาก เพราะแทนที่ช่างจะเขียนเรื่องเกี่ยวกับพุทธประวัติหรือชาดก กลับเขียนเรื่องเกี่ยวกับปริศนาธรรม กล่าวคือการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบของคนเรา และโดยเฉพาะก็คือภาพการสละของพระภิกษุ ภาพชีวิตทางโลกอันเต็มไปด้วยความหลอกลวง และหลงติดอยู่กับกามกิเลส...”

วิปัสสนาญาณ


ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดโพธิ์บางโอ เป็นภาพปริศนาธรรมที่เขียนขึ้นประมาณรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

ภาพจิตรกรรมที่ผนังหุ้มกลองด้านหน้าพระประธาน เขียนภาพพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่มีหมู่พระสาวกมาถวายสักการะรับฟังพระโอวาท ใกล้กันเป็นภาพพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมหมู่พระสงฆ์สาวกเสด็จไปโปรดชาวบ้านที่เฝ้ารับเสด็จ ตอนบนของภาพเขียนภาพปราสาทตั้งอยู่บนยอดเขา ทางด้านซ้ายของปราสาท เขียนภาพราชรถ 10 คัน กำลังลอยอยู่บนท้องฟ้า ราชรถทั้งหมดมุ่งตรงไปที่ปราสาท

  • ราชรถคันแรก มีคฤหัสถ์นั่งอยู่ หมายถึง ผู้ปฏิบัติธรรมที่เป็นฆราวาส สามารถปฏิบัติธรรมมุ่งความสำเร็จสู่ปราสาท คือ ความเป็นอริยบุคคล บรรลุถึงนิพพาน

  • ราชรถ 8 คัน แต่ละคันมีพระสงฆ์นั่งอยู่ หมายถึง นักบวชที่ปฏิบัติธรรมสู่ความเป็นอริยบุคคล 8 หมู่ มีอริยมรรค 4 อริยผล มุ่งบรรลุนิพพาน

  • ราชรถอีก 1 คัน ที่ว่างจากบุคคลนั่ง หมายถึง อริยบุคคลที่ละกิเลส โลภะ โทสะ และโมหะ ได้โดยสิ้นเชิง ไม่มีความยึดมั่นถือมั่น ปล่องวาง สละได้หมดสิ้น บรรลุถึงปราสาท คือ ความเป็นอารยบุคคลสู่ภาวะนิพพานอย่างแท้จริง

  • บุคคลใดที่บำเพ็ญบุญด้วยการรักษาศีล เจริญสมาธิ และมั่นคงในการพัฒนาจิตด้วยการเจริญสมถะและวิปัสสนาตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้นั้นเปรียบเสมือนได้อยู่ในราชรถที่สามารถนำพาไปสู่ปราสาทสุวรรณอันเป็นดินแดนที่บริสุทธิ์ปราศจากเรื่องเศร้าหมอง คือ กิเลสร้าย อันได้แก่ ความโลภ โกรธ หลง และปลอดภัยจากทุกข์ภัยนานา สถิตอยู่ในสภาวะสงบเย็นของนิพพาน

เจริญจิตตภาวนา

ผนังด้านขวาพระประธานเขียนาภาพคนกำลังวิ่งหนีภัยจากการไล่ล่าทำร้ายของคน 5 คน แต่ละคนถืออาวุธหมายทำร้ายชายคนนั้น ชายคนนั้นวิ่งหนีด้วยความหวาดกลัว ตรงไปยังเชิงภูผาที่มีพระสมณะนั่งเจริญจิตตภาวนาอยู่อย่างสงบ และในบริเวณไม่ไกลกันมีชายนั่งเจริญจิตตภาวนาสงบอยู่

บานประตูและบานหน้าต่างด้านในของพระอุโบสถเขียนรูปท่าจับในเรื่องรามเกียรติ์ ภาพพระ ยักษ์ ลิง มีความอ่อนช้อย งดงาม และสง่างาม ทุกบานเขียนภาพยักษ์อยู่ด้านล่าง ส่วนพระราม พระลักษณ์ เทวดา และลิงจะอยู่ด้านบน

ภาพดังกล่าวสื่อให้เข้าใจได้ว่า ธรรมะย่อมชนะอธรรม เทวดา พระราม พระลักษณ์ และลิงเป็นฝ่ายธรรม จึงอยู่ด้านบน ส่วนยักษ์เป็นฝ่ายอธรรมจึงอยู่ด้านล่าง