ในแผ่นดินสุโขทัย สมัยของพระร่วงอรุณราชกุมาร เจ้าเมืองสวรรคโลก นิยมเล่นว่าวในฤดูหนาวมากกว่าฤดูอื่น เนื่องจากมีลมแรงพอที่จะวิ่งว่าวได้ ดังปรากฏในหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ที่กล่าวถึงเดือนยี่ว่า... “เดือนยี่ถึงการพระราชพิธีบุษยาภิเษก เถลิงพระโคกินเลี้ยงเป็นนักขัตฤกษ์ หมู่นางในก็ได้ดูชุดชักว่าวหง่าว ฟังสำเนียงเสียงว่าวร้องเสนาะลั่นฟ้าไปทั้งทิวาราตรี”
จากหลักฐานปรากฏในหนังสือพงศาวดารภาคเหนือ ที่กล่าวถึงพระร่วง “...พระยาร่วงนั้นคะนองนัก เล่นเบี้ยและว่าว ไม่ถือตัวว่าเป็นท้าวพระยา เสด็จไปนก็ไปคนเดียว...” และตำนานว่าวพระร่วง-พระลือ ที่กล่าวขานกันทางภาคเหนือว่า มีกษัตริย์สองพี่น้องแห่งเมืองศรีสัชนาลัยที่โปรดปรานการเล่นว่าว วันหนึ่งขณะที่พระร่วงทรงว่าว ว่าวได้ขาดและตกไป พระร่วงตามว่างไปจนถึงและได้พบกับสาวสวยนางหนึ่ง บังเกิดเป็นความรักและได้อภิเษกสมรสกันในเวลา
สมัยอยุธยา พุทธศักราช 2230 สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมอซิเออร์ เดอลา บูแบร์ อัครราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ประเทศฝรั่งเศส เข้ามาในกรุงศรีอยุธยา ได้เขียนในจดหมายเหตุการณ์เดินทางว่า “ว่าวของสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามปรากฏในท้องฟ้าของทุกเดือนตลอดระยะเวลา 2 เดือนของฤดูหนาว และทรงแต่งตั้งขุนนางให้คอยผลัดเปลี่ยนเวรกันถือสายป่านไว้” บาทหลวงตาชาร์ด บันทึกไว้ว่า “ว่าวเป็นกีฬาที่เล่นกันทั่วไปในหมู่ชาวสยาม...ที่ทะเลชุบศรและที่เมืองลพบุรี ขณะที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จประทับอยู่นั้น ในเวลากลางคืนรอบพระราชนิเวศน์จะมีว่าวรูปต่างๆ ลอยอยู่ ว่าวนี้ติดโคมส่องสว่างและลูกกระพรวนส่งเสียดังกรุ๋งกริ๋ง”
ในสมัยอยุธยา สมเด็จพระเพทราชา ได้ใช้ว่าวในการสงคราม เมื่อครั้งที่พระองค์ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ เจ้าเมืองนครราชสีมาไม่ยอมสวามิภักดิ์ จึงโปรดให้ยกกองทัพตีเมือง แม่ทัพนายกองได้คิดอุบบายเผาเมือง โดยใช้หม้อดินบรรจุดินดำผูกสายป่านว่าวจุฬา ชักข้ามกำแพงเมืองเข้าไป ทำให้เกิดระเบิดตกไปไหม้บ้านเอง จึงเข้าตีเมืองได้สำเร็จ จากประวัติศาสตร์ตอนนี้ จึงปรากฏชื่อ ว่าวจุฬา เป็นครั้งแรก และในแผ่นดินของพระเจ้าเสือ นอกจากจะโปรดการชกมวยแล้ว ยังโปรดการเล่นว่าวจุฬา-ปักเป้ากับข้าราชบริพารเสมอ คำว่า ว่าวปักเป้า จึงเป็นว่าวอีกชนิดหนึ่งที่ปรากฏชื่อในสมัยนี้
สมัยอยุธยา นอกจากการเล่นเพื่อความสนุกแล้ว ว่าวยังเกี่ยวข้องกับพระราชพิธีในราชสำนัก ตำราพระราชพิธีเก่ากล่าวไว้ว่า “ให้ชีพ่อพราหมณ์เชิญพระอิศวร พระนารายณ์ มาตั้งยังที่ แล้วให้เจ้าพนักงานเตรียมว่าวมาเตรียมไว้ในโรงราชพิธี ครั้นได้ฤกษ์ดีให้ประโคมปี่พาทย์ฆ้องไชย เชิญเสด็จออกทรงชักว่าว พราหมณ์ เจ้าพนักงานเอาว่าวถวายให้ทรงชักตามบุราณประเพณีเพื่อทรงพระเจริญแล”
สมัยอยุธยาตอนปลายมีการกล่าวว่า มีพระราชพิธีคลึม หรือ พระราชพิธีแคลง ซึ่งก็คือ พิธีชักว่าวเรียกลม โดยในคำให้การชาวกรุงเก่าว่า ในเดือนอ้าย เป็นพิธีกรรมที่แสดงความสนุก ดังปรากฏในทวาทศมาสและกาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศกของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ ว่า
กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก พระนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศ หรือ เจ้าฟ้ากุ้ง
เดือนอ้ายผายกรุงท้าว พิธีว่าวกล่าวกลแสดง
เดือนนี้พิธีแคลง กลุ้มท้องฟ้าคลาอรไกลฯ
มฤคเศียรดลมาศเกล้า ลมแรง
ว่าวง่าวพิธีแสดง แหล่งหล้า
เรียกชื่อพิธีแขลง โดยที่
สาวส่งขึ้นลอยฟ้า ร่ายร้องคนึงสาวฯ
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ถือเป็นยุคทองของการเล่นว่าวไทย ด้วยพระองค์ทรงโปรดกีฬาว่าวเป็นอันมาก โปรดเกล้าใก้เล่นว่าวถวายหน้าพระที่นั่งหลายครั้ง มีการนำว่าวเข้าแข่งขันเพื่อชิงถ้วยพระราชทานเป็นจำนวนมาก
สนามว่าวในสมัยรัชกาลที่ 5 นี้อยู่ตามที่ต่างๆ สนามเล่นว่าวในกรุงเทพฯ แห่งแรก คือ สนามหน้าโรงหวย บริเวณสามยอด ต่อมามีการสร้างบ้านเรือนขึ้น จึงย้ายที่เล่นไปเรื่อย ได้แก่ หน้ากระทรวงยุติธรรม บริเวณวัดโคกหรือวัดพลับพลาชัย สระปทุม สนามวัดดอน หัวลำโพง บางขุนพรหม หลังจากนั้นจึงมาเล่นที่ท้องสนามหลวง หรือ ทุ่งพระเมรุ
พ.ศ. 2440 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เล่นว่าวและแข่งขันว่าวพนันที่ท้องสนามหลวงได้ ดังนั้นเมื่อถึงฤดูแข่งขันท้องสนามหลวงจึงเป็นที่ชุมนุมของนักเล่นว่าวพนันจากทั่วประเทศ ประชาชนทุกเพศทุกวัยไปชมกันอย่างเนืองแน่น
พ.ศ. 2448 เป็นปีที่มีการเล่นว่าวพนันครั้งสำคัญของว่าวจุฬาและปักเป้า พระองค์มีพระราชประสงค์ให้จัดงานเฉลิมฉลองให้สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ และโปรดเกล้าฯ ให้มีการแข่งขันว่าวหน้าพระที่นั่ง ณ สนามพระราชวังสวนดุสิต จึงโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระยาดำรงราชานุภาพแก้ไขกฎข้อบังคับการเล่นว่าว เรียกว่า กติกาเล่นว่าวที่สนามสวนดุสิต รัตนโกสินทรศก 125
ในสมัยรัชกาลที่ 5 นี้ ว่าวปักเป้าที่มีชื่อเสียงมาก คือ ว่าวพระภิรมย์ภักดี (บุญรอด เศรษฐบุตร, พ.ศ. 2415-2493) ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายสนามว่าวคนแรก พร้อมธงประจำตำแหน่ง เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการเล่นว่าวปักเป้า หาคู่ต่อสู้ได้ยาก จนได้รับการยกย่องเป็น ครูของการเล่นว่าวไทย เป็นผู้แต่งหนังสือ ตำนานว่าวพนัน ตำราผูกว่าว วิธีชักว่าว และการเล่นว่าวต่อสู้กันในอากาศ ถือเป็นตำราว่าวเล่มเดียวเมืองไทย
การเล่นว่าวพนัน ว่าวจุฬา ว่าวปักเป้า ของไทย พระยาภิรมย์ภักดี (บุญรอด เศรษฐบุตร, พ.ศ. 2415-2493) ถือเป็นวิธีการเล่นที่พิเศษกว่าการเล่นว่าวในวัฒนธรรมอื่น ท่านอธิบายว่า “ว่าวของประเทศใดในโลกนี้ จะเอาขึ้นเล่นต่อสู้ถึงทำสงครามกันในอากาศ เอาแพ้ชนะกันได้เหมือนว่าวของเราไม่มีเลย ต้องนับว่าว่าวพนันของเราเล่นได้แปลกประหลาดเลิศกว่าว่าวทั้งหลายของต่างประเทศ จริงอยู่ทุกประเทศเขาทำว่าวเล่นกันมาแต่ดึกดำบรรพ์ และยังซ้ำมีเล่นมาก่อนไทยเราเสียอีก แต่เขาเอาขึ้นไปลอยอยู่บนอากาศเฉยๆ ผู้เล่นหาสามารถจะบังคับให้มันไปซ้ายมาขวาขึ้นลงคว้ากันจนเป็นเกมไม่” ว่าวพนันเป็นกีฬากลางแจ้งในฤดูร้อนของภาคกลาง โดยเริ่มเล่นกันในช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน ว่าวพนันที่ใช้แข่งขันมี 2 ชนิด คือ ว่าวจุฬา และ ว่าวปักเป้า
ว่าวจุฬา เป็นว่าวรูปดาวห้าแฉกหรือมะเฟืองผ่าฝาน ขนาดใหญ่
ว่าวปักเป้า เป็นว่าวรูปสี่เหลี่ยมคล้ายขนมเปียกปูน มีขนาดเล็กกว่าว่าวจุฬามาก
มีการเปรียบเทียบว่า ว่าวจุฬา เป็นว่าวตัวผู้ หรือ ผู้ชาย มีการเคลื่อนไหวแบบโฉบส่ายไปมาเหมือนนักเลงโต และว่าวปักเป้า เป็นว่าวตัวเมีย หรือ ผู้หญิง เนื่องจากตัวเล็กกว่า เคลื่อนไหวโฉบฉวัดเฉวียนอ่อนช้อยว่องไว ว่างทั้งสองต่างกันทั้งรูปร่าง ลีลาและเรียวแรงการต่อสู้ ว่าวจุฬาจะเป็นฝ่ายพุ่งเข้าใส่อย่างหนักแน่นด้วยน้ำหนักลำหักลำโค่น ส่วนว่าวปักเป้ามักจะใช้ลีลายั่วเย้า ล่อหลอกและหลบหลีก สู้พลางถอยพลาง
ทั้งว่าวจุฬาและว่าวปักเป้าต่างมีอาวุธร้ายแรงเท่าเทียมกันคนละอย่าง
ว่าวปักเป้ามีเหนียง เป็นสายผ่านที่ผูกเป็นบ่วงจากสายซุง ห้อยโค้งเป็นรูปท้องช้าง เวลาแข่งก็จะใช้เหนียงครอบว่าวจุฬา ถ้าแฉกใดแฉกหนึ่งในห้าแฉกของว่าวจุฬาพุ่งเข้าไปติดเหนียง จะทำให้เสียการทรงตัวพุ่งตกลงดิน
ว่าวจุฬาจะมีจำปาสามดอก ติดเรียงไว้ใกล้คอซุงเป็นอาวุธ จำปาจะทำหน้าที่เป็นตะขอเกี่ยวเชือก หาง หรือตัวว่าวปักเป้าเอาไว้ ถ้าเกี่ยวได้ก็จะทำให้ว่าวปักเป้าเสียการทรงตัว ตกลงอย่างเดียวเหมือนกัน
ว่าว เป็นเครื่องเล่นรูปต่างๆ มีไม้เบาๆ เป็นโครง ปิดด้วยกระดาษหรือผ้าบางๆ ปล่อยให้ลอยตามลมขึ้นไปในอากาศ มีสายเชื่อกหรือสายป่านยึดไว้ ว่าว ในภาษามอญ แปลว่า หนาว ลมว่าว จึงหมายถึง ลมหนาวที่พัดจากทิศเหนือไปทิศใต้ในต้นฤดูหนาว ระหว่างเดือน กันยายน-พฤศจิกายน ซึ่งเป็นระยะของการเกี่ยวข้าวเบา บางทีเรียกว่า ลมข้าวเบา
คนไทยนิยมเล่นว่าวกันในหน้าหนาว เพราะลมแรง สามารถส่งว่าวให้ลอยขึ้นไปในอากาศได้เกือบทั้งวัน ยกเว้นที่ท้องสนามหลวง ที่จะมีการเล่นว่าวในเฉพาะฤดูร้อนเท่านั้น เพราะลมจะพัดว่าวไปทางสะพานพระปิ่นเกล้าฯ เพราะหากเล่นในฤดูหนาว ว่าวอาจลอยไปติดยอดปราสาทราชมณเฑียรได้ ซึ่งรัชกาลที่ 4 ทรงห้ามไว้ ส่วนในชนบททั้งภาคเหนือและอีสานยังนิยมเล่นว่าวในฤดูหนาว
ว่าวมีรูปแบบแตกต่างกันตามแต่ละท้องถิ่น ดังนี้
ทุ่งราบภาคกลาง ได้แก่ ว่าวดุ๊ยดุ่ย ว่าวอีแพรด ว่าวอีลุ้ม ว่าวงู ว่าวนกยูง ว่าวผีเสื้อ
ภาคเหนือและภาคอีสาน ได้แก่ ว่าวสองห้อง หรือที่ภาคกลางเรียกว่า ดุ๊ยดุ่ย มีลักษณะคล้ายว่าวจุฬา แต่ว่าวดุ๊ยดุ่ยจะมีปีกขนาดเล็กแทนขากบของว่าวจุฬา ส่วนหัวผูกธนูหรือสะนู ซึ่งทางภาคใต้จะเรียกส่วนนี้ว่า แอก ทำให้เกิดเสียงดังกังวาน ว่าวอีลุ้ม หรือ อีลุ่ม ลักษณะคล้ายว่าวปักเป้าแต่มีพู่ห้อยสองข้าง ว่าวสนูหวาย ว่าวประทุน ปลาโทดโทง ว่าวนก
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นิยมเล่น ว่าวหาง ว่าวหัวตก ว่าวอีลุ้ม ว่าวดุ๊ยดุ่ย ว่าวใบมะกอก
ภาคใต้ นิยมเล่น ว่าวขึ้นสูง ว่าวพอเพียง ว่าวนกปีกแอ่น ว่าวนกยูง ว่าวปลาวาฬ ว่าวใบยาง แต่ที่โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ของว่าวทางภาคใต้ คือ ว่าววงเดือน หรือ ว่าวบุหลัน ลักษณะปลายว่าวเป็นรูปพระจันทร์ครึ่งเสี้ยว ว่าวหัวควาย หรือ ว่าวควาย เกิดจากการผสมผสานระหว่าวว่าวหลา (จุฬา) กับว่าววงเดือน แต่ดัดแปลงเป็นรูปควาย นิยมเล่นในจังหวัดสตูล และในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นิยมเล่นว่าวอามัส (แปลว่า ทอง) เป็นว่าวที่ทำยากแต่มีลวดลายวิจิตรสวยงาม
สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
9/9 หมู่.9 ต.บางพูด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี 11120 โทร.02-504-7463-65