ลักษณะสำคัญ..จิตรกรรมสมัยอยุธยา
ศิลปะสมัยอยุธยาที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี ของประเทศที่ยังเหลือปรากฏอยู่ในจังหวัดนนทบุรี เป็นจิตรกรรมฝาผนังสกุลช่างนนทบุรีสมัยอยุธยาตอนกลาง น ณ. ปากน้ำ (ประยูร อุลุชาฎะ) ได้อธิบายเกี่ยวกับลักษณะสำคัญที่บ่งบอกถึงความเป็นจิตรกรรมสมัยอยุธยาตอนกลางและตอนปลายระยะแรก ว่า
“…ผนังด้านข้างเหนือหน้าต่าง เขียนภาพอดีตพระพุทธเจ้าเป็นแถว อดีตพุทธะอยู่ในเรือนแก้วมีซุ้มโพธิ์ด้านหนังสลับด้วยฉัตร สองข้างองค์อดีตพระพุทธเจ้าเป็นพุทธสาวกเป็นคู่ๆ กัน คือ อดีตพุทธะจะเรียงรายไปตามความยาวของผนัง อาจจะมีจำนวนมากน้อยแล้วแต่ขนาดและความยาว...ภาพเขียนอดีตพุทธะบนผนังด้านข้างของสมัยอยุธยาตอนกลาง เขียนด้วยสีฝุ่นผสมกาวยางไม้ คือสีเทมเพอร่า (Tempera) เขียนอดีตพุทธะประทับนั่งขัดสมาธิราบปางมารวิชัยประทับนั่งบนแท่นบัลลังก์บัวคว่ำบัวหงายที่เรียกว่า ฐานปัทม์ มีผ้าทิพย์ห้อยลงมาข้างหน้า สองข้างฐานมีกนกงอนขึ้นเสมือนอินทรธนู มีเรือนแก้วล้อมรอบองค์พระ องค์อดีตพุทธะปิดทองและห่มจีวรกับนุ่งสบงสีแดง...”
ภาพอดีตพระพุทธเจ้า
ในจังหวัดนนทบุรี ลักษณะดังกล่าวพบเห็นได้จากจิตรกรรมบริเวณเหนือขอบหน้าต่างที่ผนังอุโบสถเก่าและวิหาร วัดชมภูเวก ที่เขียนตามคติอยุธยาตอนกลาง เป็นภาพอดีตพระพุทธเจ้า ประทับบนพระแท่น บัลลังก์เป็นเรือนแก้ว มีซุ้มโพธิ์เบื้องหลังมีบัลลังก์ มีผ้าทิพย์ห้อยลงมาระหว่างภาพอดีตพระพุทธเจ้า มีฉัตรคั่นกลาง จิตรกรรมสมัยอยุธยาตอนกลาง ที่นิยมใช้พื้นสีขาวและภาพอดีตพระพุทธเจ้าภายในอุโบสถเก่า บริเวณผนังหุ้มกลองด้านหลังองค์พระประธาน เป็นภาพที่มีขนาดใหญ่มาก ใหญ่กว่าองค์พระประธาน ๒ องค์ ผิวกายปิดทอง ครองจีวรสีแดง พระศกสีดำ และพระรัศมีสีทอง อันเป็นคตินิยมในการเขียนองค์พระขนาดใหญ่ของจิตรกรมอญสมัยอยุธยา และภาพอดีตพระพุทธเจ้าตอนมารผจญที่ผนังด้านหน้าเหนือขอบประตูทางเข้าอุโบสถเก่า เป็นภาพขณะประทับนั่งบนรัตนบัลลังก์ภายใต้ร่มโพธิ์พฤกษ์ ทรงจีวรสีน้ำตาลจางๆ สบงสีแดง พระพักตร์ พระหัตถ์และพระบาท ปิดทอง
ภาพทศชาติชาดก
ภาพเขียนผนังระหว่างช่องหน้าต่างด้านข้าง ภายในอุโบสถเก่า วัดชมภูเวก เขียนเป็นเรื่องราวทศชาติชาดก เวียนไปตามทักษิณาวัตรพระประธาน เป็น 10 ชาติสุดท้ายก่อนที่พระพุทธเจ้าจะเสวยพระชาติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์ที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ได้แก่ เตมียชาดก พระมหาชนกชาดก พระสุวรรณสามชาดก พระเนมิราชชาดก พระมโหสถชาดก พระภูริทัตชาดก พระจันทชาดก พระนารทชาดก พระวิทูรชาดก และพระเวสันดรชาดก ภาพเขียนดังกล่าวเดิมเป็นฝีมือของช่างสมัยอยุธาสกุลช่างนนทบุรี มีเหลือเค้าร่องรอยบางอย่างที่บ่งบอกว่าเป็นศิลปะสมัยอยุธยา เช่น
รูปอาคารเป็นแบบมีเจาะช่องโค้งยอดแหลม (pointed arch) แบบศิลปะสมัยสมเด็จพระนารายณ์
รูปหลังคาอาคารมุงด้วยกระเบื้องลอนดินเผา ซุ้มประตูกำแพงวังเป็นซุ้มประตูไม้รูปร่างแบบเสาชิงช้า
รูปท่าครู ซึ่งเป็นท่าภาพเขียนตอนชูชกไหว้พระเวสสันดร ภาพบรรณศาลาโผล่ออกมาจากถ้ำ จากตอนสุวรรณสามชาดก และพระเวสสันดรชาดก