จารึกที่บันทึกเรื่องราว
ประวัติศาสตร์การฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในรามัญประเทศและการผูกพัทธสีมาอุโบสถกัลยาณี ที่เมืองหงสาวดีในสมัยพระเจ้าธรรมเจดีย์ หรือ พระมหาปิฎกธร พระมหากษัตริย์มอญ เมื่อปี พ.ศ. 2019 ก่อนที่มอญจะเสียเอกราชให้แก่พม่าในปี พ.ศ. 2300
จารึกกัลยาณี
จารึกกัลยาณี เป็นจารึกโบราณและเป็นโบราณวัตถุที่สำคัญของพระราชอาณาจักรมอญที่พระเจ้าธรรมเจดีย์ หรือ พระมหาปิฏกธร หรือ พระเจ้ารามาธิบดี พระมหากษัตริย์แห่งกรุงหงสาวดีโปรดเกล้าให้จารึก เนื่องในโอกาสที่มีการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในรามัญประเทศและการผูกพัทธสีมาพระอุโบสถกัลยาณีที่เมืองหงสาวดี โดยใน พ.ศ. 2019 หลังจากที่การฟื้นฟูพระพุทธศาสนาและได้ทำการผูกพัทธสีมาอุโบสถกัลยาณีเสร็จเรียบร้อยแล้ว พระเจ้าธรรมเจดีย์โปรดเกล้าฯ ให้จารึกเหตุการณ์ทั้งหมดลงบนแผ่นศิลาจารึก จำนวน 10 หลัก จารึกทั้งสองด้านเป็นภาษาบาลี 3 หลัก เป็นคำแปลภาษามอญ 7 หลัก เดิมประดิษฐานอยู่ที่วัดแห่งหนึ่งในตำบลบ้านโชงคโยง นอกเมืองหงสาวดีด้านทิศตะวันตก
พ.ศ. 2300 สมัยละอองพญากษัตริย์พม่ายกกองทัพตีกรุงหงสาวดี ทำให้มอญเสียเอกราชให้กับพม่า พม่าทุบทำลายจารึกกัลยาณีส่วนที่เป็นภาษามอญเสียหาย เหลือเพียงจารึกภาษาบาลีจำนวน 2 หลักที่ยังคงอยู่ในสภาพดี ปัจจุบันหลักศิลาจารึกที่ถูกทุบแตกทำลายถูกเก็บรักษาอยู่ที่บริเวณวัดสีมากัลยาณีหรืออุโบสถกัลยาณี เมืองหงสาวดี หรือ เมืองพะโค ในปัจจุบัน เนื่องจากศิลาจารึกนี้มีประวัติเกี่ยวข้องกับอุโบสถกัลยาณี
ถึงแม้ว่าศิลาจารึกกัลยาณีจะถูกพม่าทุบทำลายเสียหาย แต่ข้อความที่จารึกยังไม่ได้สูญหาย เพราะพระสงฆ์มอญได้คัดข้อความจารึกกัลยาณีทั้ง 10 หลัก จารลงบนใบลานก่อนตั้งแต่ตอนที่กรุงหงสาวดีเจริญรุ่งเรืองเป็นราชธานีของรามัญประเทศ และนักปราชญ์มอญได้ใช้ในการศึกษาประวัติการฟื้นฟูพระพุทธศาสนา ปรวัติการผูกพัทธสีมา และการบรรพชาอุปสมบทของสมณวงศ์ในรามัญประเทศสืบต่อกันมาแต่โบราณ