หอพระมนเฑียรธรรม วัดพระศรีรัตนศาสดาราม)

หลังสงครามเสียกรุงศรีอยุธยา ในพ.ศ. 2310 ต่อเนื่องมาถึงสมัยกรุงธนบุรี บ้านเมืองอยู่ระหว่างศึกสงครามเป็นส่วนใหญ่ พุทธคัมภีร์สูญหายเป็นจำนวนมาก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 สมัยรัตนโกสินทร์ จึงมีพระราชประสงค์ให้รวบรวมและสร้างขึ้นใหม่ให้ครบเหมือนเมื่อครั้ง “บ้านเมืองยังดี” ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุดสระน้ำทำหอไตรกลางสระหลังหนึ่ง พระราชทานนามว่าหอพระมนเฑียรธรรม ตั้งอยู่ในเขตปริมณฑลของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระอารามหลวง ใช้เป็นสถานที่ทำงานของนักปราชญ์ราชบัณฑิต ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบและบอกพระไตรปิฎกแก่พระสงฆ์สามเณร และยังใช้เป็นสถานที่รวบรวมหนังสือของหลวง และโปรดเกล้าฯ ให้กระทำสังคายนาพระไตรปิฎกขึ้น ณ วัดนิพพานาราม (วัดพระศรีสรรเพชญ หรือ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์) และให้ช่างจารพระไตรปิฎกที่สังคายนาแล้วเป็นอักษรขอมลงใบลาน ลงรักปิดทองทึบ เมื่อสังคายนาแล้วเสร็จและสร้างพระไตรปิฎกฉบับหลวงเรียบร้อยในปี พ.ศ. 2331 ได้อัญเชิญเข้าประดิษฐานยังตู้ประดับมุก ตั้งไว้ในหอพระมณเฑียรธรรมกลางสระ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม