หอไตรวัดทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

@ โบสถ์ระเบียง           ไพหาร
ธรรมาสน์ศาลาลาน     พระแผ้ว
หอไตรระฆังขาน          ภายค่ำ
ไขประทีปโคมแก้ว       ก่ำฟ้าเฟือนจันทร์ ฯ

ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ หอไตรเป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบวัด ดังที่โคลงนิราศนรินทร์ ของนายนรินทรธิเศร์ ได้พรรณนาไว้ โดยส่วนใหญ่ใช้เป็นสถานที่เก็บรวบรวมพระไตรปิฎกไว้ในที่แห่งเดียวกัน ในสมัยรัชกาลที่ 3 รัชกาลที่ 4 และ รัชกาลที่ 5 ศิลปวัฒนธรรมไทยได้รับอิทธิพลจากศิลปะตะวันตก หอไตรในพระอารามหลวงจึงกลายสภาพเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนทั้งหลัง เช่น หอไตรวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ที่บูรณะใหม่ทั้งหมดในรัชกาลที่ 3 หอไตรวัดเทพธิดารามและหอไตรวัดราชนัดดาราม รัชกาลที่ 3 หอไตรวัดศาลาปูน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในรัชกาลที่ 4 และหอไตรวัดธรรมาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในรัชกาลที่ 5 ขณะเดียวกันพระอารามหลวงขนาดย่อมและวัดราษฎร์ทั่วไป หอไตรที่ปลูกยังเป็นอาคารมีช่อฟ้าใบระกาอยู่กลางสระน้ำ เช่น กรุงเทพฯ วัดระฆังโฆสิตาราม วัดปากน้ำภาษีเจริญ วัดอัปสรสวรรค์ วัดรัชฎาธิษฐาน นนทบุรี วัดอัมพวัน วัดบางขนุน วัดพระเงิน วัดสิงห์ วัดละมุดใน เพชรบุรี วัดใหญ่สุวรรณาราม นครราชสีมา วัดหน้าพระธาตุ อุบลราชธานี วัดทุ่งศรีเมือง เลย วัดศรีโพธิ์ชัยแสงภา ชลบุรี วัดใต้ต้นลาน เชียงใหม่ วัดเชียงมั่น ลำพูน วัดพระธาตุหริภัญชัย วัดสันกำแพง