บรรณสารฯ ติดเล่า PODCAST EP.21หวย: วันนี้รวย พรุ่งนี้รวย 

บรรณสารฯ ติดเล่าของเรานั้นออกอากาศทุกวันที่ 1 และ 16 ของทุกเดือนควบคู่กับการออกรางวัลของกองสลากกินแบ่งรัฐบาลมาเป็นเวลกว่า 20 ตอนแล้ว วันนี้ ฤกษ์งามยามดีเลยเอาเรื่องหวยมาเขียนให้ทุกท่านได้อ่านกันซึ่งมีเนื้อหาที่น่าสนใจดังนี้

ประวัติหวยในไทย

สำหรับคำว่า หวย ในฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ได้ให้ความหมายใว้ 2 ความหมายคือ 

(1)  (ปาก) น. หวย ก ข 
 
(2) น. สลากกินแบ่ง. 

ซึ่งคำว่าหวยนั้นมาจากคำจีนคำว่า ฮวยหวย แปลว่า ชุมนุมดอกไม้ เพราะแต่เดิมเขียนรูปหวยเป็นรูปดอกไม้ หลากหลายชนิดและเสี่ยงทายกัน 

ซึ่งหวยปรากฏมีในประวัติศาสตร์ไทยครั้งแรกในช่วงสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) เนื่องจากในตอนนั้นเป็นยุคข้าวยากหมากแพงประชาชนไม่ใช้เงิน ทำให้เงินหายไปจากตลาดไม่มีการหมุนเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 ทรงเกิดข้อสงสัยว่าเงินตราที่ทำออกมามากมายหายไปไหน ในขณะนั้นเองเป็นช่วงที่มีฝิ่นระบาดอยู่มากทรงเข้าพระทัยว่าเป็นเพราะราษฎรเก็บเงินไปซื้อฝิ่นจึงโปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินการปราบปรามเผาทำลายฝิ่น แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ได้ทำให้ปัญหานั้นคลายลงไป

ภาพวาดคนสูบฝิ่น วาดโดย ครูเหม เวชกร
ที่มา: https://www.facebook.com/มูลนิธิเหม เวชกร

ในที่สุดจีนหงหรือเจ๊สัวหง (นายอากรสุรามีบรรดาศักดิ์เป็นพระศรีไชยบาน) ได้เข้าเฝ้ากราบทูลว่าเงินตราที่มีอยู่พวกราษฎรเอาใส่ไหฝังดินไว้ไม่เอาออกมาใช้ ถ้าจะให้มีการใช้เงินจะต้องออกหวยอย่างในเมืองจีน  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 จึงโปรดให้จีนหงออกหวยขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2378 ซึ่งหวยที่เกิดขึ้นในเมืองจีนตัวหวยในแผ่นป้ายจึงเป็นรูปคนที่สมมุติเป็นตัวหวยอย่างหนึ่ง และเขียนชื่อเป็นภาษาจีนบอกชื่อตัวหวยอีกอย่างหนึ่ง เมื่อนำหวยเข้ามาในเมืองไทย คนไทยอ่านภาษาจีนไม่ออกจึงต้องเขียนอักษรไทยกำกับไว้ด้วยคือใช้ ก ข ค เรียงไปตามลำดับเป็นเหตุให้คนไทยเรียกการพนันชนิดนี้ว่า หวย ก ข มาตั้งแต่ครั้งนั้น  

เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริจะเลิกอากรหวย ก็ทรงเกรงว่าจะหารายได้แผ่นดินมาชดเชยไม่ทัน จึงค่อยๆ ผ่อนลดบ่อนเบี้ยให้มีน้อยลงตามลำดับ ในที่สุดก็เลิกอากรหวย ก ข อย่างเด็ดขาดในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อ พ.ศ. 2459 

นอกจากหวยแล้วในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็มีการออกลอตเตอรี่ ขึ้นครั้งแรก ในปี 2417 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือพ่อค้าชาวต่างชาติที่นำสินค้ามาจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ในตอนนั้น 

และหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เลิกอากรหวยแล้ว ก็มีการออกลอตเตอรี่เนื่องในโอกาสการกุศลต่า งๆ เป็นครั้งคราว เช่น ลอตเตอรี่บำรุงเสือป่าอาสาสมัคร เพื่อหารายได้ซื้อปืนให้กองกำลังเสือป่า 

ลอตเตอรีเสือป่าล้านบาท
ที่มา: https://www.glo.or.th/about/history

หรือให้สมัยรัชกาลที่ 7 มีการแข่งม้าออกลอตเตอรี่ ซึ่งก็เป็นรูปแบบการออกลอตเตอรี่ที่น่าสนใจมีการหมุนเลขแล้วใช้เลขประจำที่ม้าแข่ง 10 ม้า ม้าไหนเข้าเส้นชัยก่อนเลขประจำตัวก็เป็นรางวัลที่ 1 รับเงินรางวัล 36,000บาท และมีรางวัลที่ 2 รางวัลที่ 3 อย่างละ 1 รางวัล และรางวัลที่ 4 อีก 7 รางวัล ตามลำดับเลขประจำตัวม้าที่วิ่งถึงเส้นชัย นับเป็นการออกลอตเตอรี่ที่ลุ้นอยู่ไม่น้อย

ลอตเตอรี่แข่งม้า สมัยรัชกาลที่ 7
ที่มา: หนังสือครบรอบวันสถาปนา สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล 72 ปี / สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล.

 

จนมาถึงช่วงสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัฐบาลในยุคนั้นมองเห็นช่องทางที่จะหารายได้เข้าสู่รัฐโดยที่ประชาชนไม่เดือดร้อนจึงได้ออกลอตเตอรี่รัฐบาลสยามขึ้นในปี 2476 และมีการสถาปนาสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลในปี 2482 นับแต่นั้นมาจึงมีการกำหนดออกลอตเตอรี่เป็นประจำและทำให้วันที่ 1 และวันที่ 16 ของทุกเดือน กลายมาเป็นวันแห่งความหวังของนักเสี่ยงโชคจนถึงปัจจุบันนี้ครับ  

หวยต้นเหตุแห่งการตั้งชื่อพยัญชนะไทย 

เรื่องของหวยนอกจากจะเรื่องโชคเรื่องดวงแล้วหวยยังมีความสำคัญต่อวงการการศึกษาของไทยอีกด้วย พยัญชนะไทยเรานั้นในปัจจุปันเราก็จะเรียกกันว่า ก.ไก่ ข.ไข่ ซึ่งทำให้การเรียนการสอนภาษาไทยง่ายต่อการจดจำแต่ในสมัยก่อนนั้น พยัญชนะไทยไม่มีการเรียกชื่อจะเรียกกันก็แต่ ตัว ก. ตัว ข. ตัว ค. แล้วประจวบเหมาะช่วงที่ออกหวย ก. ข.แล้วเอาพยัญชนะไทยใส่เข้ากับชื่อหวยทำให้คนเรียกชื่อหวยเป็นชื่อพยัญชนะไปด้วย เช่น  ถ พันกุ้ย น เทียนสิน เป็นต้น ทำเอานักปราญราชบัณฑิตผู้เป็นครูบาอาจารย์ทางด้านการศึกษาไทยอย่าง พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) รู้สึกสังเวชใจ จึงคิดชื่อเรียกให้พยัญชนะไทยเพื่อจะได้ง่ายต่อการศึกษาและไม่ต้องไปเอาชื่อหวยมาเรียกชื่อพยัญชนะ

พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)
ที่มา: https://siamrath.co.th/n/361470

และในตอนหลัง สมเด็จพระเจ้าบรมวงเธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ครั้งเมื่อทรงดูแลเรื่องการศึกษาก็ได้มีการปรับเปลี่ยนชื่อพยัญชนะเป็น ก.ไก่ ข.ไข่ อย่างที่เราท่องกันในปัจจุบัน

ขอหวยกับพระสงฆ์ได้หรือไม่?

กลับมาที่เรื่องหวยกันอีกครั้ง นับได้ว่าหวยเป็นของยอดนิยมมาก สถานที่ศักดิ์สิทธิ์สักที่จะโด่งดังมีชื่อเสียงทำให้ผู้คนศรัทธาได้ลาภสักการะได้เป็นอันมากนั้นคงไม่พ้นเรื่องให้หวยแม่นแต่อยากจะให้ผู้ที่แสวงโชคพึ่งระวังไว้ถ้าคิดจะขอหวยกับพระสงฆ์องค์เจ้าเพราะในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงประกาศห้ามพระสงฆ์ไม่ให้บอกบ้ายแทงหวยเพราะ เป็นการประพฤติใกล้อุตริมนุษธรรม (อ้างคุณวิเศษที่ไม่มีในตัว) ซึ่งเป็นการอาบัติข้อปรชิกเลยทีเดียว รวมถึงใกล้ศีลข้ออนินาทาน (ห้ามลักหรือการขโมยทรัพย์) เพราะหวยเป็นเหตุแห่งการเสียทรัพย์ทั้งสองฝ่าย ดังนั้นหากญาติโยมไปขอหวยพระแล้วท่านไม่ให้ก็แล้วไปแต่หากท่านเออออให้มาก็จะพาให้พระเจ้าผิดศีลผู้ขอก็จะบาปกรรมเอาได้ 

สถิติหวยปี 2565  

เนื่องจากหวยนั้นเป็นศาสตร์ทางตัวเลขและการออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลงวด 16 มกราคม 2566 เลื่อนไปเป็น 17 มกราคม 2566 เนื่องจากวันครูแห่งชาติเลยถือก็การอวยพรผู้ฟังด้วยการสรุปเอาสถิติตัวเลขการออกเลขท้าย 2 ตัวของปี 2565 ตั้งแต่งวดวันที่ 17 มค.-30ธ.ค. 65  

เลขที่ออกมากที่สุดคือเลข 0 ออกมากถึง 10 งวด เลขต่อมาคือ เลข 5 ออกมากถึง 7 งวด ตามมาด้วย 1 ที่ออกมาแล้ว 5 งวด และเลขท้าย 2 ตัวที่ออกบ่อยที่สุดในปี 2565 คือ เลข 92 14 และ 58 เป็นเลขที่ออกมากที่สุดในปี 2565  

จะเห็นได้ว่าหวยนั้นอยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนานและมีอิทธิพลต่อสังคมหลายมิติมากทั้งเรื่องเศรษฐกิจ การศึกษา ความเชื่อ แต่ที่อยากฝากไว้ก็คือเราสามารถเสี่ยงโชคได้แบบถูกต้องตามกฎหมายและเงินที่เสียไปกลายมาเป็นส่วนหนึ่งที่ใช้พัฒนาบ้านเมืองของเราได้ 

คลิกเพื่อฟังบรรณสารฯ ติดเล่า PODCAST ผ่านช่องทาง SoundCloud 

คลิกเพื่อฟังบรรณสารฯ ติดเล่า PODCAST ผ่านช่องทาง Facebook


อ้างอิง

สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล. (2554). ครบรอบวันสถาปนา สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล 72 ปี. กรุงเทพฯ : สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล.

ศิลปวัฒนธรรม. (2562). ‘ฮวยหวย ที่มาของ “หวย” ก่อนเป็น “สลากกินแบ่งรัฐบาล”. สืบค้น 12 มกราคม 2566, จาก https://www.silpa-mag.com/history/article_15056

ศิลปวัฒนธรรม. (2565). เมื่อรัชกาลที่ 4 ทรงออกประกาศ ห้ามพระสงฆ์ไม่ให้ใบ้-แทง “หวย” แลประพฤติอนาจาร. สืบค้น 12 มกราคม 2566, จาก https://www.silpa-mag.com/history/article_52323

ศิลปวัฒนธรรม. (2565). จาก “ฌ เฌอ” เมื่อร้อยปีก่อน ถึง “ฌ กระเฌอ” พยัญชนะไทยที่มาจากเขมร. สืบค้น 12 มกราคม 2566, จาก https://www.silpa-mag.com/culture/article_36757