“ภาวะซึมเศร้า คือ โรคที่ผู้คนส่วนมากมักเข้าใจผิดว่าเป็นโรคทางอารมณ์ ความบอบบางในจิตใจเท่านั้น แต่ทางการแพทย์ถือว่าเป็นโรคทางจิตเวชประเภทหนึ่ง เพราะมีสารบางอย่างในสมองที่ขาดหายไป ควรได้รับการรักษากับจิตแพทย์ หากเข้าใจว่าภาวะซึมเศร้าเป็นโรคที่ไม่ใช่โรคแล้วจะได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีได้อย่างไร ลองมาทำความเข้าใจโรคซึมเศร้าและมาเช็คความเสี่ยงว่า เรา หรือคนใกล้ตัวมีภาวะดังกล่าวไหม ? รู้ก่อนรักษาก่อน ก่อนจะถลำลึกไปกับเจ้าซึมเศร้าตัวร้าย”
- โรคซึมเศร้า คือ ?
- สาเหตุของโรคซึมเศร้า
- อาการโรคซึมเศร้า
- Depression Diary หนังสือแนะนำสำหรับคนที่อยากจะเข้าใจโรคซึมเศร้ามากยิ่งขึ้น
- การเลี้ยงสัตว์ฮีลใจ Pet therapy
- สัตว์ที่นำมาใช้ในการบำบัด
- ประโยชน์การบำบัดด้วยสัตว์
- รายการอ้างอิง
โรคซึมเศร้า คือ ?
โรคซึมเศร้า คือ โรคทางจิตเวช เกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง อย่างเช่นสารเซโรโทนิน (Serotonin) สารที่ควบคุมความรู้สึก และยังเป็นตัวกระตุ้นหลาย ๆ อย่างในร่างกาย พอมีปริมาณที่ลดลงส่งผลให้ร่ายกายมีอาการป่วยทางจิตใจและความคิด รู้สึกว่าไม่มีความสุข มีแต่ความวิตกกังวล เป็นความรู้สึกด้านลบที่มากดทับอยู่เสมอ
สาเหตุของโรคซึมเศร้า
สาเหตุของการเกิดโรคซึมเศร้ามีหลายปัจจัย ได้แก่
1. ทางพันธุกรรม หากมีคนในครอบครัวที่เป็นโรคซึมเศร้า หรือมีความผิดปกติทางอารมณ์ อารมณ์ร้าย ฉุนเฉียว ก็จะถูกส่งต่อมาทางพันธุกรรมได้
2. การเจ็บป่วยทางร่างกาย หรือโรคเจ็บป่วยเรื้อรัง หากมีความทรมานจากโรคที่เป็นอยู่ก่อน อาจจะเกิดสภาวะเครียดในเวลานานก็จะทำให้เกิดโรคซึมเศร้า
3. การเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมน ความไม่สมดุล หรือ ผิดปกติทางฮอร์โมนอาจจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคซึมเศร้า
4. เหตุการณ์สำคัญในชีวิต เช่น การสูญเสียคนสำคัญ การอกหัก เครียดการเงิน เป็นต้น ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้คนตกอยู่ในสภาวะความเครียดเป็นเวลานานอาจนำไปสู่ภาวะโรคซึมเศร้าได้
อาการโรคซึมเศร้า
- พบว่าเมื่อลืมตาตื่นมาไม่อยากจะทำอะไรเลย ไม่มีพลังในการใช้ชีวิต
- เบื่อหน่ายกับสิ่งที่รัก
- แยกตัวออกจากสังคม
- ไม่มีสมาธิ ไม่ว่าจะทำเรื่องง่าย ๆ ก็ตาม
- รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า
- ความรู้สึกอยากตาย
หากมีอาการดังกล่าวนี้ควรปรึกษาจิตแพทย์เพื่อทำการประเมินและหาวิธีการรักษาที่ถูกต้อง แต่หากอยากเช็คให้แน่ใจสามารถทำแบบทดสอบภาวะซึมเศร้า PHQ-9 ของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ที่ https://www.rama.mahidol.ac.th/th/depression_risk
การหาจิตแพทย์ไม่ใช่เรื่องแปลก สุขภาพจิตก็เหมือนสุขภายกาย เมื่อไม่สบายก็ต้องได้รับการรักษา
Depression Diary หนังสือแนะนำสำหรับคนที่อยากจะเข้าใจโรคซึมเศร้ามากยิ่งขึ้น
หนังสือ Depression Diary เป็นเรื่องราวของผู้เขียนที่ชื่อว่า แมนดี้ ประสบการณ์ตรงของผู้เขียนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่า 8 ปี มาถ่ายทอดให้เข้าใจที่มาของโรคซึมเศร้า โดยเธอได้เปรียบโรคซึมเศร้าว่าเป็นดอก Depression หรือ ดอกไม้แห่งความเศร้าที่งอกอยู่บนหัวของเธอ คอยกดทับความรู้สึกอยู่ตลอดเวลา เมื่อดอกไม้นี้เบ่งบานแต่ชีวิตของเธอกับหดหู่ ลองมาหาวิธีควบคุมดอกไม้นี้ไปกับเธอและมาทำความเข้าใจโรคนี้ไปด้วยกัน นี่คือหนังสือที่คนเป็นโรคซึมเศร้าควรอ่าน ส่วนคนที่ไม่ได้เป็นโรคซึมเศร้ายิ่งต้องอ่าน
การเลี้ยงสัตว์ฮีลใจ Pet therapy
การเลี้ยงสัตว์บำบัด หรือ Pet therapy สามารถบำบัดได้หลายปัญหาสุขภาพเลย เช่น สมาธิสั้น อัลไซเมอร์ เป็นต้น แนวคิดของการบำบัดด้วยสัตว์ พบว่าสัตว์สามารถช่วยในเรื่อง การรับรู้สัมผัส เสริมสร้างสมาธิ เพิ่มความไว้วางใจผู้อื่น ให้สัมผัสที่อบอุ่น ปลอดภัย และเป็นมิตร เพิ่มแรงจูงใจในการทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังช่วยให้เด็กเรียนรู้ในเรื่องสัมพันธภาพ และการตอบสนองทางอารมณ์ได้ดีขึ้นด้วย
สัตว์ที่นำมาใช้ในการบำบัด
ส่วนใหญ่มักเป็นสัตว์เลี้ยง ซึ่งมนุษย์คุ้นเคยเป็นอย่างดี เช่น สุนัข แมว หรือสัตว์ใหญ่ที่เป็นมิตรกับมนุษย์เสมอในความรู้สึก เช่น โลมา ม้า ช้าง เป็นต้น ส่วนสัตว์ที่ไม่แนะนำให้นำมาใช้ในการบำบัด เช่น กระต่าย หมู หนู เป็นต้น
ประโยชน์การบำบัดด้วยสัตว์
การบําบัดด้วยสัตว์มีประโยชน์มากมาย ถ้าสามารถเลือกนํามาใช้ได้เหมาะสม อย่างน้อย 3 ประการ คือ
1) ผลทางด้านจิตวิทยา คือ ช่วยให้เกิดความผ่อนคลาย สร้างเสริมแรงจูงใจ
2) ผลทางด้านสังคม คือ กระตุ้นให้เกิดการสื่อสารระหว่างผู้ป่วยและผู้ดูแล
3) ผลทางด้านชีววิทยา คือ การช่วยให้สัญญาณชีพดีขึ้น เช่น การเต้นของหัวใจ ชีพจร ความดันโลหิต
นอกจากนี้การเลี้ยงสัตว์เพื่อบำบัดหรือ pet therapy ก็มีหลายผลงานวิจัยที่มีผลการศึกษา ว่าสัตว์เลี้ยงช่วยลดความเสี่ยงต่อปัญหาทางด้านสุขภาพจิตและโรคจิตเวชต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคซึมเศร้า แต่อย่างไรก็ดี ใช่ว่าทุกคนจำเป็นต้องไปหาซื้อสัตว์เลี้ยงเพื่อทำให้สุขภาพจิตดีขึ้น เนื่องจากข้อมูลนี้เป็นเพียงงานวิจัยที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของสัตว์เลี้ยง ที่ช่วยฮีลใจ ให้หายเครียดเท่านั้น แต่ถ้าหากอยากเลี้ยงแล้วควรดูแลเลี้ยงเขาให้อย่างดีที่สุดและเหมาะสมกับตนเองที่จะสามารถดูแลสัตว์เลี้ยงได้อย่างเต็มที่
รายการอ้างอิง
แมนดี้. (2560). Depression Diary #มันไม่ได้เศร้าอย่างที่คิดหรอกนะ. กรุงเทพฯ: คาร์ปเปเดียมเมอร์.
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2564). การบำบัดทางเลือกในเด็กพิเศษ (พิมพ์ครั้งที่ 2). สมุทรปราการ: โรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข.
มาโนช หล่อตระกูล. (ม.ป.ป.). โรคซึมเศร้าโดยละเอียด. สืบค้นจาก https://www.rama.mahidol.ac.th/ramamental/generalknowledge/general/09042014-1017
กรมสุขภาพจิต. (2562). สัตว์เลี้ยงบำบัด (Pets Therapy). สืบค้นจาก https://dmh.go.th/news/view.asp?id=2259