STOU Storian Podcast EP.13 รักนิรันดร์ของรัชกาลที่ 7

ในเดือนกุมภาพันธ์ ถือเป็นเดือนแห่งความรัก เรื่องราวประวัติศาสตร์ของ “14 กุมภาวันวาเลนไทน์” ที่ถูกยกย่องว่าเป็นวันแห่งความรัก และ 7 เทพ-เทพี แห่งความรักจากทั่วโลก รวมทั้งเรื่องราวความรักในสมัยรัตนโกสินทร์ที่เป็นแบบอย่างในเรื่องรักเดียวใจเดียวของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ที่การอภิเษกสมรสของทั้งสองพระองค์ ถือเป็นต้นแบบการสมรสในประเทศไทยมาจนถึงปัจจุบันนี้ ติดตามได้ในรายการ STOU Storian Podcast EP.13 “รักนิรันดร์ของรัชกาลที่ 7”

คำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับ “ความรัก”

“ความรัก” ความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 หมายถึง มีใจผูกพันด้วยความห่วงใย เช่น พ่อแม่รักลูก รักชื่อเสียง, และมีใจผูกพันด้วยความเสน่หา หรือ มีใจผูกพันฉันชู้สาว เช่น ชายรักหญิง

“สมรส” หมายถึง การแต่งงาน ที่เกี่ยวกับการแต่งงาน เช่น พิธีมงคลสมรส เป็นต้น

ตำนาน 14 กุมภาวันวาเลนไทน์

“นักบุญวาเลนตินุส” หรือนักบุญวาเลนไทน์ หรือเซนต์วาเลนไทน์ ทั้ง 3 ชื่อนี้ล้วนคือ คน ๆ เดียวกัน ในฐานะบุคคลผู้เป็นต้นกำเนิดของวันวาเลนไทน์ 

วาเลนตินุส เกิดเมื่อประมาณ ค.ศ. 226 เป็นนักบุญของศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกของกรุงโรม ซึ่งยุคสมัยนั้นพระเจ้าคลอดิอุสที่ 2 มีการตั้งกฎหมายว่าห้ามมีการแต่งงานในเมือง เนื่องจากทรงต้องการให้ผู้ชายในเมืองเป็นทหารเพื่อร่วมรบในสงคราม นักบุญวาเลนตินุสรู้สึกเห็นใจคู่รักที่มีความรักจึงแอบทำพิธีแต่งงานให้อย่างลับ ๆ แต่โดนจับได้ว่าทำผิดกฎ จึงถูกนำไปขังและทรมานอย่างแสนสาหัส

ด้วยความศรัทธาที่มีต่อนักบุญ ในขณะทีถูกคุมขังก็ยังมีหนุ่มสาวมาแอบเยี่ยม พร้อมทั้งโยนดอกไม้และกระดาษข้อความให้กำลังใจ หนึ่งในนั้นเป็นลูกสาวของผู้คุม ชื่อ “จูเลีย” เป็นผู้หญิงที่มีหน้าตาสะสวย แต่ตาบอดทั้งสองข้างตั้งแต่เกิด วาเลนตินุสได้เล่าเรื่องประวัติศาสตร์ต่าง ๆ สอนเลข และเล่าเรื่องพระเจ้าให้จูเลียฟัง ทำให้จูเลียสามารถรับรู้สิ่งต่าง ๆ ในโลกนี้ได้ด้วยคำบอกเล่าของวาเลนตินุส และช่วงวาระสุดท้ายของเขาขณะที่กำลังขอพรต่อพระเจ้าพร้อมกับจูเลีย ได้เกิดปาฏิหาริย์กับจูเลียที่สามารถมองเห็นได้เป็นครั้งแรก เรื่องราวนี้ได้แพร่หลายไปทั่วราชอาณาจักร หลังจากนั้นวาเลนตินุสถูกประหารชีวิตในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 270 โดยศพถูกเก็บไว้ที่โบสถ์พราซีเดส (Praxedes) ณ กรุงโรม 

จดหมายฉบับสุดท้าย “From Your Valentine”

ทั้งนี้ก่อนที่วาเลนตินุสเสียชีวิต ได้ส่งจดหมายฉบับสุดท้ายถึงจูเลีย โดยลงท้ายว่า “From Your Valentine” จูเลียจึงได้ปลูกต้นอัลมอนด์สีชมพู ไว้ใกล้หลุมศพของวาเลนตินุส ในเวลาต่อมา “ต้นอัลมอนด์สีชมพู” จึงได้เป็นตัวแทนแห่งรักนิรันดร์และมิตรภาพอันสวยงาม 

วาเลนตินุสได้รับยกย่องให้เป็นนักบุญผู้เสียสละชีวิตของตัวเองเพื่อแสดงออกถึงพลังแห่งความรักและมิตรภาพของมนุษย์ หลังจากนั้นพระสันตปาปาเกลาซิอุสได้กำหนดให้วันที่ 14 กุมภาพันธ์ เป็น “วันนักบุญวาเลนไทน์” ซึ่งถือเป็นวันแห่งความรัก และเพื่อเป็นอนุสรณ์ให้รำลึกถึงคุณความดี ความกล้าหาญ และความเสียสละของนักบุญวาเลนไทน์

เทพ เทพี และเทวีแห่งความรัก

7 เทพ เทพี และเทวีแห่งความรักที่มีชื่อเสียงและความศักดิ์สิทธิ์ที่ก่อเกิดเป็นความเลื่อมใสศรัทธา ผู้คนนิยมขอพรให้สมหวังทั้งด้านความรัก โชคลาภ รวมถึงหน้าที่การงาน ขอแนะนำ 7 องค์ ดังนี้

  1. เทพีอโฟรไดท์  หรือเทพีวีนัส เป็นเทพีของกรีก ซึ่งเป็นเทพีแห่งความรัก ความงาม และความปรารถนา
  2. เทพอีรอส (Eros) หรือ เทพคิวปิด (Cupid) เป็นเทพของกรีกที่ทุกคนต้องเคยผ่านตากับเทวดาตัวน้อยมีปีกและธนู ที่คอยแผลงศรแห่งความรัก ที่เค้าว่ากันว่า หากคิวปิดนี้ยิงศรไปที่คนคู่ไหน คน 2 คน นั้น ก็จะตกหลุมรักกัน
  3. เทพเย่ว์เหล่า หรือผู้เฒ่าใต้แสงจันทร์ ในความเชื่อของชาวจีน เป็นเทพผู้บันดาลความรัก ลักษณะจะเป็นผู้เฒ่าถือไม้เท้า และสมุดสมรสรัก  
  4. พระแม่อุมาเทวี หรือ ปารวตี (Parvati) เป็นเทวีแห่งพลังอำนาจ บารมี ชัยชนะ และความผาสุขในการครองเรือน มีความเชื่อกันว่าผู้ใดที่บูชาพระแม่อุมาเทวี จะบันดาลให้เกิดความร่ำรวยเงินทอง และชีวิตคู่ที่สมบูรณ์
  5. พระกฤษณะและนางราธาเทวี (ฮินดู) พระกฤษณะเทพแห่งความเมตตา อ่อนโยน และความรัก เป็นเทวะองค์หนึ่งในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู โดยถือเป็นรูปอวตาลของพระวิษณุ พระกฤษณะจะขึ้นชื่อเรื่องการเป็นนักรบ และนักรัก พระนางราธาเทวีพระองค์เป็นภรรยาที่ซื่อสัตย์ และรักพระกฤษณะสุดหัวใจ
  6. พระลักษมี ความเชื่อในศาสนาฮินดู เชื่อกันว่าพระแม่ลักษมีเกิดจากมหาสมุทรจากการกวนเกษียรสมุทรเมื่อครั้งสร้างโลก เป็นชายาของพระวิษณุ เป็นเทวีแห่งความงดงาม ร่ำรวย อุดมสมบูรณ์ โดดเด่นในเรื่องขอพรความรัก การค้าขายและประกอบกิจการต่าง ๆ 
  7. พระตรีมูรติมหาเทพผู้ยิ่งใหญ่เพราะมีศักดิ์สูงสุดในศาสนาพราหมณ์ เนื่องจากเป็นการรวมกันของมหาเทพที่ยิ่งใหญ่ถึง 3 พระองค์ด้วยกัน คือ พระพรหม พระวิษณุ พระศิวะ ผู้ประทานความสมหวังทุกประการ รวมถึงด้านความรักอีก

ดอกกุหลาบความหมายสื่อรัก

นอกจากนี้ยังมีสัญลักษณ์แทนความรักอีกหนึ่งสิ่งคือ “ดอกกุหลาบ” ดอกไม้ที่มอบเพื่อเป็นของขวัญแทนใจใน “วันวาเลนไทน์” เพราะในตำนานกรีกเชื่อว่า ดอกไม้ประจำเทศกาลวาเลนไทน์อย่างดอกกุหลาบมีความเกี่ยวข้องกับเทพีอโฟรไดท์ หรือเทพีวีนัส ซึ่งเป็นเทพแห่งความรัก และความหมายของสีดอกกุหลาบ ยังสื่อถึงความรักที่แตกต่างกัน เช่น 

  • สีแดง สื่อความหมายถึง การตกหลุมรัก 
  • สีชมพู สื่อถึงความสง่างาม อ่อนโยน ความรักที่แสนโรแมนติก 
  • สีชมพูพีช สื่อถึงความสุภาพอ่อนโยน 
  • สีเหลือง สื่อถึงความห่วงใยของผู้ให้ ความปราถนาดี 
  • สีขาว สื่อถึงรักที่จริงใจ บริสุทธิ์ และนิยมใช้ในงานแต่ง

รักแรกและรักเดียวของรัชกาลที่ 7

ตำนานความรักของไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ “รักนิรันดร์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7” พระองค์เป็นแบบอย่างของความรักที่ซื่อสัตย์และความรักเดียวใจเดียว ทรงพบรักครั้งแรกเมื่อครั้งที่ทรงดำรงพระอิศริยยศเป็นเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิ์เดชน์ ทรงสำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษและเสด็จกลับประเทศไทย เมื่อเสด็จมาหาพระราชมารดาครั้งใด ก็ทรงสนทนาวิสาสะกับพระญาติรุ่นเล็ก รวมถึงหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี สวัสดิวัฒน์ พระองค์ทรงเป็นดรุณีที่งดงามสดใส ทำให้พระทัยของสมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิ์เดชน์ทรงหวั่นไหว และความในพระทัยก็ถูกเปิดเผยหลังจากทรงผนวชครบพรรษา สมเด็จพระอุปัชณาย์ทรงขอให้ทรงพระผนวชตลอดไป แต่ทรงปฏิเสธโดยรับสั่งว่าทรงมีความรักแล้ว

ต่อมาในปี พ.ศ. 2461 ได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตอภิเษกสมรสว่า “…บัดนี้ข้าพระพุทธเจ้า ได้ปฏิพัดธ์รักใคร่กับหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี ธิดาแห่งเสด็จน้า และข้าพระพุทธเจ้าอยากจะใคร่ทำการสมรสกับเจ้าหญิงนั้น

การอภิเษกสมรสผสาน 2 วัฒนธรรมครั้งแรกในสยาม

พระราชพิธีอภิเษกสมรสจัดขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม 2461 ณ พระที่นั่งวโรภาษพิมาน พระราชวังบางปะอิน เป็นพระราชพิธีที่มีความพิเศษหลายประการ คือ 

ประการแรก การผสานสองวัฒนธรรมไทยและตะวันตก โดยมีพิธีการตั้งกระทู้ถามตอบคู่สมรสว่าจะทรงรักษาสัญญาต่อกันอย่างซื่อตรง และมีพิธีการรดน้ำสังข์ตามประเพณีแบบไทย ซึ่งรัชกาลที่ 6 ทรงพระราชทานน้ำพระมหาสังข์ทักษิณาวัฏและทรงเจิมที่พระนลาฏ (หน้าผาก) ของคู่อภิเษกสมรส

ประการที่สอง ทรงลงพระนามในสมุด “ทะเบียนแต่งงาน” เป็นครั้งแรกที่มีการจดทะเบียนสมรสในพระราชวงศ์ โดยรัชกาลที่ 6 ทรงลงพระปรมาภิไธยเป็น “ผู้สู่ขอตกแต่ง” และ “ผู้ทรงเป็นประธานและพยานในการแต่งงาน” และโปรดเกล้าฯ ให้เจ้านายชั้นพระบรมวงศ์ 12 พระองค์ ลงพระนามเป็นพยาน

ประการที่สาม มีของชำร่วยครั้งแรกในสยามเป็นแหวนทองคำลงยาประดับเพชร จารึกว่า “อภิเษกสมรส

ประการที่สี่ พิธีลอดซุ้มกระบี่อันทรงเกียรติ จากคำสัมภาษณ์ของหม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ ได้ทรงเล่าว่า “ผู้ใหญ่เล่าให้ฟังว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าพระราชทานสมรสแบบฝรั่งที่พระราชวังบางปะอิน มีพิธีลอดกระบี่ซึ่งเป็นของเก๋ในสมัยรัชกาลที่ 6 นายทหารยืนรายทางสองแถวชักดาบแล้วคู่สมรสควงกันลอดกระบี่..”

หลังจากพระราชพิธีอภิเษกสมรส ทั้งสองพระองค์เสด็จฯ มาประทับที่วังบศุกร์โขทัย ซึ่งสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี ในรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเพื่อพระราชทานเป็นเรือนหอ

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2468 ได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกทรงประกาศเฉลิมพระนาม พระชายา เป็นสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี และสถาปนาพระอิสริยยศเป็นพระอัครมเหสีโดยสมบูรณ์ตามพระราชกำหนดกฎหมายและราชประเพณี ซึ่งมีการปรับรูปแบบพิธีการบางอย่างเพื่อให้เหมาะสมแก่กาลสมัยและเน้นบทบาทสำคัญในฐานะองค์อัครมเหสี รวมทั้งเป็นการยืนยันพระราชสถานะ “พระราชาและพระราชินี” อันเป็นแนวคิดการครองคู่แบบสากล มิใช่การเฉลิมพระราชมณเฑียรของพระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียวเช่นในสมัยอดีต

ค่านิยม “ผัวเดียว-เมียเดียว” สู่พระราชบัญญัติลักษณะผัวเมีย พ.ศ. 2473

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นแบบอย่างของการมีพระมเหสีเพียงพระองค์เดียว และในพระราชพิธีอภิเษกสมรสที่ทรงจดทะเบียนแต่งงานด้วยกัน กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของการมีคู่ครองและเป็นจุดเริ่มต้นค่านิยม “ผัวเดียว-เมียเดียว” นำมาซึ่งการตราพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะผัวเมีย พุทธศักราช ๒๔๗๓ ให้เป็นกฎหมายฉบับแรกที่รับรองสถานะหญิงที่เป็นภรรยาด้วยทะเบียนสมรส ทะเบียนการหย่า และการจดทะเบียนรับรองบุตร ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2475 เพื่อทดแทนธรรมเนียมดั้งเดิมแบบ “ผัวเดียว-หลายเมีย” ที่เพศชายไม่ว่าจะอยู่ในฐานะใดก็ตามล้วนมีสิทธิและอำนาจเหนือเพศหญิง

จึงกล่าวได้ว่า ความรักที่เป็นแบบอย่างความรักที่ซื่อสัตย์ ความรักเดียวใจเดียว ก็คือ “ความรักของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ที่มีต่อสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี”  พระมเหสีองค์แรกและองค์เดียวของพระองค์ที่ทรงอยู่เคียงข้างกันเสมอแม้ในยามทุกข์หรือสุข ตามคำสัตย์สัญญาที่ให้ไว้ตอนอภิเษกสมรสว่าจะเคียงคู่กันตลอดไป