STOU Storian Podcast EP.14 พระปกเกล้าฯ ราชันผู้ทรงสละราชสมบัติ 

เดือนมีนาคม มีวันสำคัญแห่งประวัติศาสตร์ประชาชนชาวไทยระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 แห่งบรมราชจักรีวงศ์ ในการที่พระองค์ทรงสละราชสมบัติ และทรงมอบอำนาจประชาธิปไตยที่แท้จริงให้แก่กับปวงชนชาวไทย เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2477 เหตุใดที่ทำให้พระองค์ทรงสละราชสมบัติ ติดตามได้ในรายการ “STOU Storian Podcast EP.14 พระปกเกล้าฯ ราชันผู้ทรงสละราชสมบัติ”

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีน้ำพระทัยเปี่ยมล้นไปด้วย ความรักความเมตตาต่ออาณาประชาราษฎร์ และทรงเสียสละอย่างใหญ่หลวงเพื่อประเทศชาติ อันประจักษ์ได้ชัดจากเหตุการณ์ที่พระองค์ทรงยินยอมเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญตามการปกครองของระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เพื่อให้บ้านเมืองเกิดความสงบเรียบร้อย และมิให้ชาวไทยต้องเสียเลือดเนื้อ แต่ผลของการเปลี่ยนแปลงการปกครองในครั้งนั้น ก่อให้เกิดปัญหาวิกฤตทางการเมือง ด้วยข้อขัดแย้งกันจากความคิดเห็นที่ไม่ลงตรงกันเกี่ยวกับหลักการของรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย ระหว่างสภา รัฐบาล และพระมหากษัตริย์ จนนำมาสู่เหตุการณ์กบฏบวรเดช

11 มกราคม 2476 พระราชปฏิสันถารอำลาราษฎร

หลังจากที่สภาวะการณ์การสู้รบระหว่างทหารของฝ่ายรัฐบาล กับทหารฝ่ายกู้บ้านกู้เมือง ในเหตุการณ์กบฏบวรเดชสงบลงแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตัดสินพระทัยเสด็จฯ ประพาสยุโรป ด้วยมีพระประสงค์ในการรักษาพระเนตร โดยในคืนวันที่ 11 มกราคม 2476 พระองค์ทรงปราศรัยทางวิทยุกระจายเสียง เพื่อเป็นการปลอบขวัญและอำลาประชาชน

เช้าวันที่ 12 มกราคม 2476 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี จึงเสด็จฯ ไปต่างประเทศ บรรยากาศของการส่งเสด็จฯ ณ ท่าเทียบเรือราชวรดิษฐ์ ผู้คนที่มาคอยส่งเสด็จฯ มีทั้งข้าราชการและประชาชนเป็นจำนวนมากทั้ง 2 ฝั่งเจ้าพระยา ทุกคนต่างเปล่งเสียงถวายพระพรกันอย่างกึงก้อง ท่ามกลางการประโคมเสียงเพลงสรรเสริญพระบารมี พระองค์ทรงโบกพระหัตถ์ อำลาพสกนิกรของพระองค์ ในขณะที่เรือยนต์ที่ประทับได้เคลื่อนตัวออกจากท่าราชวรดิษฐ์  

และนั่นก็คือ ภาพการอำลาครั้งสุดท้ายของรัชกาลที่ 7 ที่เสด็จนิราศจากประเทศไทย ครั้นเมื่อเสด็จฯ ถึงทวีปยุโรปแล้ว ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จฯ ประพาสเมืองต่าง ๆ ในฐานะแขกเมืองของรัฐบาลในหลายประเทศ ระหว่างประทับที่อังกฤษพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จฯ ประทับที่พระตำหนักโนล ใกล้กรุงลอนดอน ซึ่งทางการได้เช่าเตรียมไว้ให้ 

ในครึ่งปีแรก ตั้งแต่เดือนเมษายน – กันยายน พ.ศ. 2476 พระองค์ทรงได้มีการติดต่อข้อราชการกับรัฐบาลโดยผ่านผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ มาโดยตลอด แต่ข้อตกลงก็ไม่เป็นดังที่พระองค์ประสงค์ ทำให้ทรงเกิดความโทมนัสขึ้นในพระทัย และในที่สุดจึงทรงตัดสินพระทัยที่จะเปิดการเจรจาเป็นครั้งสุดท้าย พระองค์ทรงพระกระแสรับสั่งทางโทรเลข ถึงกรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ เพื่อทำหนังสือไปถึง พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ในการที่จะทรงเจรจาต่อรองตามข้อเสนอของพระองค์

2 มีนาคม 2477 ทรงสละราชสมบัติ

เมื่อการเจรจาไม่เป็นผลสำเร็จ เพราะรัฐบาลไม่พยายามที่จะผ่อนปรนเพื่อถวายพระเกียรติยศ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริว่า พระองค์ไม่ควรที่จะทรงดำรงราชสมบัติอยู่สืบไป เพราะไม่มีประโยชน์ที่จะช่วยปกปักษ์รักษาผู้ใดได้เลย จึงสมัครพระราชหฤทัยสละราชสมบัติ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2477 ขณะที่ทรงประทับ ณ พระตำหนักโนล ประเทศอังกฤษ

ใจความสำคัญบางตอนของพระราชหัตถเลขาประกาศสละราชสมบัติของพระองค์ ดังนี้

“…ข้าพเจ้าเห็นว่าคณะรัฐบาลและพวกพ้อง ใช้วิธีการปกครองซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักการของเสรีภาพในตัวบุคคล และหลักความยุติธรรมตามความเข้าใจและยึดถือของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่สามารถที่จะยินยอมให้ผู้ใดคณะใดใช้วิธีการปกครองอย่างนั้นในนามของข้าพเจ้าต่อไปได้…”

“…ข้าพเจ้าเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิ์ขาดและโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร…

…และเมื่อข้าพเจ้ารู้สึกว่าบัดนี้เปนอันหมดหนทางที่ข้าพเจ้าจะช่วยเหลือหรือให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนได้ต่อไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงขอสละราชสมบัติและออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์แต่บัดนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าขอสละสิทธิของข้าพเจ้าทั้งปวง ซึ่งเป็นของข้าพเจ้าในฐานที่เป็นพระมหากษัตริย์ แต่ข้าพเจ้าสงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งปวงอันเป็นของ ข้าพเจ้าแต่เดิมมาก่อนที่ข้าพเจ้าได้รับราชสมบัติสืบสันตติวงศ์…”

ข่าวการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ถูกเผยแพร่ลงทั้งในหนังสือหนังสือพิมพ์ 
ของประเทศอังกฤษ ในวันที่ 5 มีนาคม 2477

วันที่ 6 มีนาคม 2477 นายกรัฐมนตรีได้นำสำเนาพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรเพื่อรับทราบในที่ประชุม และหลังจากที่รัฐมนตรีกระทรวงวังเสนอรายพระนามพระราชวงศ์ ที่มีสิทธิสืบราชสันตติวงศ์ตามกฎมณเฑียรบาลให้สภาพิจารณา โดยพระนาม “พระวรวงค์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล” อยู่ในลำดับแรก ในประชุมสมาชิกสภาได้มีการอภิปรายความเห็นกันอย่างกว้างขวาง และได้ลงมติเห็นชอบในวันที่ 7 มีนาคม 2478 ให้อัญเชิญพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ขึ้นทรงครองราชย์ตั้งแต่วันที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติเป็นต้นไป 

ตลอดระยะเวลา 9 ปีที่ทรงดำรงสิริราชสมบัติ พระองค์ได้ทรงพยายามทุกวิถีทางที่จะพัฒนาระบอบการเมืองและการปกครองของสยามให้เจริญก้าวหน้าเพื่อให้เท่าเทียมกับนานาอารยประเทศ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษอย่างเรียบง่ายแบบสามัญชน พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี โดยมิได้เสด็จนิวัติประเทศไทยอีกเลย จนเสด็จสวรรคตด้วยโรคพระหทัยวาย เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2484 ขณะมีพระชนมายุ 48 พรรษา
 

รับชมผ่านช่องทางอื่นได้ที่

YouTube: www.stou.ac.th/link/zfeF
SoundCloud: www.stou.ac.th/link/UjIh1
Blockdit: www.stou.ac.th/link/rcmD1

กวิสรา เรือนทองใบ บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ มสธ.