STOU Storian Podcast EP.16 พระปกเกล้าฯ พระผู้ทรงพลิกวิกฤตสร้างโอกาสวงการดนตรีของไทย 

รายการ STOU Storian potcast ตอนที่ 15 “พระราชนิยมพระปกเกล้า สู่มรดกดนตรีแห่งสยาม” ได้นําเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับดนตรีในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ตลอดจนเรื่องราวความประทับใจที่มีต่อพระกษัตริย์ผู้ทรงโปรดปรานทั้งดนตรีไทยและดนตรีสากล ซึ่งถ่ายทอดจากมุมมองของศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญวิชาความผิดปกติของการสื่อความหมายโรงพยาบาลรามาธิบดี และเป็นอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรี รวมถึงเป็นผู้บุกเบิกเรื่องการศึกษาค้นคว้าทางด้านดนตรีในระดับอุดมศึกษา 

และในตอนที่ 16 นำเสนอเรื่องราวของรัชกาลที่ 7 พระมหากษัตริย์ผู้ทรงมีบทบาทสําคัญต่อดนตรีของไทยในช่วงที่ประเทศต้องเผชิญกับวิกฤติอันเนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ส่งผลกระทบทําให้ต้องลดคนลดรายจ่าย เพื่อความอยู่รอด พระองค์ทรงพลิกวิกฤตสร้างโอกาสที่มากกว่าด้วยการผลิตงานและคนดนตรีที่มีคุณภาพซึ่งเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน และยังสืบทอดด้านดนตรีจนถึงปัจจุบัน

วิกฤตสงครามโลกครั้งที่ 1 

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่ รัชกาลที่ 7 ทรงพระบรมราชสมภพ เมื่อปี พ.ศ. 2436 ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเป็นสมัยกลางใกล้มาตอนปลายรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 ประเทศไทยในยุคนั้นถือว่าอุดมสมบูรณ์ มีความศิวิไลซ์มาก และมีการติดต่อต่างประเทศ มีการดนตรี การละคร สารพัดเรื่องราวที่เป็นสิ่งอํานวยความสะดวกในเรื่องความบันเทิง

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินตามกฎหมายเฑียรบาลสืบพระราชสมบัติ เมื่อปี พ.ศ. 2468 จึงทรงตัดสินพระทัยยุบกรมมหรสพของรัชกาลที่ 6 ข้าราชบริพารทั้งหมดจํานวนกว่า 100 คนให้เกษียณอายุราชการ บางคนเงินเดือนหนึ่ง 500-600 บาท ก็ถูกปรับลดลงเหลือ 120 บาท บางคนที่เคยรับเงินเดือน เดือนละ 30 บาท ปรับลดเหลือ 8 บาท ซึ่งเป็นการลดพระราชภาระของรัชกาลที่ 7 ทำให้งบประมาณสามารถปิดหีบได้ ถือเป็นวิกฤตเกิดของดนตรีและนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงต้นรัชสมัย

โรงเรียนที่สอนนักเรียนที่เรียกว่า “โรงเรียนพรานหลวง” และมีนักเรียนที่ได้รับเงินเดือนก็เกษียณหมด อาจารย์มนตรี ตราโมท เล่าให้ฟังว่า “ตัวท่านเองก็เกษียณออกจากวังจันทร์ ท่านก็เลยย้ายไปอยู่กับพระยาอนิรุทธเทวา ซึ่งก็เกษียณเหมือนกัน โดยอาจารย์มนตรียังคงทําหน้าที่ด้านดนตรีต่อ แต่เล็กลงจากการที่เคยเป็นวงตามเสด็จอยู่ในสมัยรัชกาลที่ 6 ต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าวงดนตรีให้กับพระยาอนิรุธเทวา 

หลังจากเกิดวิกฤตด้านดนตรีในสยาม 

หลังจากหยุดพักประมาณ 1 ปี พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้รื้อฟื้นขึ้นงานดนตรีและนาฏกรรมขึ้นในราชสํานักอีกครั้ง โดยพระองค์ทรงให้เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ (หม่อมราชวงศ์เย็น อิศรเสนา) ซึ่งเป็นเสนาบดีกระทรวงวังในขณะนั้น ทรงพิจารณาเลือกคนกลับเข้ามารับราชการใหม่ โดยทุกคนได้รับเงินเดือนจากเงินส่วนพระองค์เรียกได้ว่า เป็นกรมมหรสพในรัชกาลที่ 7 การเลือกนักดนตรีได้เลือกคนที่เป็นหัวกะทิมาเป็นหัวหน้า และคัดเลือกเด็กซึ่งกําลังฝึกที่มีฝีมือดีเข้ามาช่วยเหลือในการดนตรี สำหรับโรงโขนขนาดใหญ่ ก็ปรับลดลงมาเป็นโรงโขนขนาดเล็กอยู่ท้ายวัง

ด้านดนตรีสากล พระองค์ทรงตามพระเจนดุริยางค์กลับมา พร้อมกับลูกศิษย์พระเจนดุริยางค์อีก 3-4 คน ที่พอจะเป็นครูสอนได้ และได้รับเด็กรุ่นใหม่เข้ามา โดยให้ซ้อมที่สวนมิสกวัน เพื่อประะหยัดงบประมาณรายจ่าย เพราะฉะนั้นเด็กรุ่นเก่าที่เคยอยู่ในวงเครื่องสายฝรั่งหลวงสมัยนั้น ซึ่งรับเงินเดือนแพง ๆ กลับกลายเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่รับเบี้ยเลี้ยงเพียงเล็กน้อย แต่เป็นคนเก่ง เช่น ครูเอื้อ สุนทรสนาน แล้วก็รับเด็กเป็นรุ่นที่ 2 และรุ่นที่ 3 เข้ามาเรื่อย ๆ ทำให้ช่วงระยะเวลาเพียง 9 ปีของพระองค์ พระเจนดุริยางค์สามารถสร้างวงเครื่องสายฝรั่งวงเล็กที่สร้างเด็กที่มีคุณภาพและมีความสามารถถวายได้

โอกาสวันนั้นสู่มรดกดนตรีของสยามในวันนี้ 

พ.ศ. 2473 – 2474 เริ่มมีการทําละครร้อง แล้วเริ่มใช้เครื่องดนตรีฝรั่งในวง และสร้างละครจันทร์เจ้าขาขึ้นมาเป็นเพลงไทยสากลเกือบทั้งหมด โดยใช้วงดนตรีเครื่องสายฝรั่งหลวงมาช่วย ทำให้ละครร้องมีความทันสมัยด้วยเพลงสมัยใหม่คล้ายเพลงไทยสากล แต่ไม่ใช่เพลงไทยสากลซะทีเดียว 

ต่อมาในปี พ.ศ. 2479-2480 ได้สร้างละครของหลวงวิจิตรวาทการ ภาพยนตร์เรื่อง “เลือดสุพรรณ” ใช้วงดนตรีสากลของกรมศิลปากรบรรเลง เนื้อเพลงร้องว่า “เอ้า มาด้วยกัน เอ้า ไปด้วยกัน เลือดสุพรรณของเรานี่เอย” และก็มีการสร้างละครเรื่องมหาเทวี รวมถึงเรื่องอื่น ๆ ตามมา ถือว่าเพลงไทยสากลส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากค่ายหลวงวิจิตรวาทการ เพราะว่าหลวงวิจิตรวาทการได้คนจากโรงเรียนนาฏดุริยางค์ ก็คือ คนจากกรมมหรสพในรัชสมัยรัชกาลที่ 7 ซึ่งยกมาทั้งกองจากบ้านเจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ (หม่อมราชวงศ์เย็น อิศรเสนา) ก่อตั้งขึ้นเป็นโรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์ ที่วังหน้า ซึ่งปัจจุบัน คือ “วิทยาลัยนาฏศิลป” 

พ.ศ. 2482 มีการประกวดเพลงชาติใหม่ ทางทหารบกแต่งเพลงได้เนื้อร้อง “ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย” เดิมเป็นเนื้อร้องเก่ามี 4 ท่อน โดยมีครูจำปา ลิ้มสำราญ เป็นหัวหน้าวงบิ๊กแบนด์วงใหญ่ คือ วงดนตรีดุริยะโยธิน  

เดือนพฤศจิกายน ปี พ.ศ. 2482 คุณวิลาศ โอสถานนท์ สังกัดกรมโฆษณาการ ได้สร้างวงดนตรีโฆษณา โดยมีคุณเอื้อ สุนทรสนาน เป็นหัวหน้า มีนักดนตรี อาทิ คุณมัณฑนา โมรากุล คุณจูรี โอศิริ คุณชวลี ช่วงวิทย์ และคุณวินัย จุลละบุษปะ ได้ออกไปเล่นนอกเวลาราชการ ต่อมากลายเป็น “วงสุนทราภรณ์” เรียกได้ว่า เป็นสมบัติมรดกของโรงเรียนนาฏดุริยางค์ในรัชสมัยรัชกาลที่ 7 

เพราะฉะนั้น ถือว่าเป็นโอกาสอันงดงามมากในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่ที่ทรงส่งเสริมให้ดนตรีเจริญมากขึ้นในยุคสมัยนั้น

บทสรุป 

“วิกฤตนั้นทําให้ประเทศไทยเงียบไประยะหนึ่ง แต่กลายเป็นโอกาสที่จะสร้างสรรค์งานพวกนี้ขึ้นมาใหม่ เมื่อสร้างงานขึ้นมาใหม่แล้ว ก็ทําด้วยความประหยัด ด้วยความรอบคอบ และเลือกเฟ้นคนที่มีฝีมือดีเข้ามา ก่อเกิดสิ่งที่มีคุณค่าเป็นผลดีตามมา” 

รับชมผ่านช่องทางอื่นได้ที่

Facebook: www.stou.ac.th/link/122Y
YouTube: www.stou.ac.th/link/Pj9U
SoundCloud: www.stou.ac.th/link/DLWdO
Blockdit: www.stou.ac.th/link/QYU8I