STOU Storian Podcast EP.18 ภาพยนตร์ในล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 7

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่สนพระราชหฤทัยในการถ่ายภาพยนตร์ และทรงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง ในการพัฒนาและสนับสนุนกิจการภาพยนตร์ไทยให้เป็นที่ประจักษ์ พระองค์ทรงสร้างสรรค์ภาพยนตร์ทรงถ่าย หรือภาพยนตร์อัมพรทรงคุณค่า ผ่านแผ่นฟิลม์หลายร้อยม้วนด้วยฝีพระหัตถ์ จนได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ ซึ่งจะมีเรื่องใดบ้าง แต่ละเรื่องราวมีเนื้อหาอย่างไร และการขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติคืออะไร ใช้หลักเกณฑ์ใดในการพิจารณาในการคัดเลือกภาพยนตร์ให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ National Film Heritage

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 สนพระราชหฤทัยในการถ่ายนิ่งและภาพยนตร์ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติแล้ว พระราชนิยมในด้านนี้ยิ่งเด่นชัดขึ้น ดังจะเห็นได้จากการเสด็จพระราชดำเนินตามสถานที่ต่าง ๆ พระองค์จะทรงมีกล้องถ่ายภาพยนตร์ขนาดเล็กติดพระหัตถ์เสมอ เพื่อทรงบันทึกเหตุการณ์สำคัญด้วยพระองค์เอง ในระยะแรกโปรดเกล้าฯ ให้เรียกว่า “ภาพยนตร์ทรงถ่าย” ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2471 ทรงเปลี่ยนชื่อเป็น “ภาพยนตร์อัมพร” ตามนามของพระที่นั่งอัมพรสถานที่ประทับ สำหรับภาพยนตร์อัมพรสามารถแบ่งเนื้อหาของภาพยนตร์ได้ 4 ประเภท ได้แก่ ภาพยนตร์พระราชพิธีสำคัญที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ไทย ภาพยนตร์สารคดี ภาพยนตร์บันเทิง และภาพยนตร์บันทึกเหตุการณ์ทั่วไป ด้วยพระปรีชาสามารถของพระองค์ ทำให้ภาพยนตร์ทรงถ่ายได้รับประกาศขึ้นทะเบียนเป็น มรดกภาพยนตร์แห่งชาติ จำนวน 5 ครั้ง

การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ 

มรดกภาพยนตร์ของชาติ เป็นโครงการของหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) เพื่อขึ้นทะเบียนภาพยนตร์ที่มีคุณค่าของชาติและเสี่ยงต่อการสูญเสีย โดยมีการจัดโครงการขึ้นในทุกปี ซึ่งจัดมาแล้วรวมทั้งสิ้น 12 ครั้ง สำหรับการเกณฑ์การคัดเลือก มีดังนี้ 

  1. มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และความทรงจำ  
  2. มีคุณค่าทางศิลปะภาพยนตร์ 
  3. มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์  
  4. มีบูรณภาพ คือมีความสมบูรณ์ครบถ้วนของผลงานภาพยนตร์ตรงตามต้นฉบับของผู้สร้างสรรค์ 
  5. มีความเสี่ยงต่อการสูญเสีย หรือยากแก่การหาทดแทน 
  6. มีอิทธิพลต่อคนและสังคม 

มรดกภาพยนตร์แห่งชาติ

สำหรับภาพยนตร์ส่วนพระองค์ในรัชกาลที่ 7 ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็น “มรดกภาพยนตร์แห่งชาติ” รวมทั้งสิ้น 5 ครั้ง ดังนี้ 

มรดกภาพยนตร์ของชาติ ครั้งที่ 1 พ.ศ 2554 ได้รับการขึ้นทะเบียน 2 เรื่อง 

1. ภาพยนตร์ “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว”

ถือว่ามีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ไทยเป็นอย่างมาก โดยเป็นบันทึกพระราชพิธี เมื่อปี พ.ศ. 2468 นับเป็นครั้งแรกที่มีการบันทึกภาพยนตร์พระราชพิธีสำคัญตามโบราณราชประเพณีของไทย โดยภาพยนตร์นี้ได้ตัดต่อให้สั้นลงจากฉบับที่ฉายจริงในโรงภาพยนตร์ แล้วพิมพ์ย่อเป็นฟิล์ม 16 มม. เพื่อจำหน่ายแก่ผู้สนใจเก็บไว้เป็นที่ระลึก โดยมีหลักฐานในหนังสือพิมพ์สยามราษฎร์ ระบุภาพยนตร์ที่ฉายจริงในโรงภาพยนตร์วังพญาไทนั้นมีจำนวน 5 ม้วน ถ่ายทำด้วยฟิล์ม 35 มม. ความยาวน่าจะอยู่ที่ราว 1 ชม. ซึ่งเป็นฉบับสมบูรณ์ที่ได้รับการเผยแพร่โดยทั่วไปแต่เป็นฉบับที่ยังไม่ถูกค้นพบ 

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2524 มีการค้นพบเศษฟิล์มที่เหลือจากการตัดต่อขนาด 35 มม. ชนิดไนเตร็ด ซึ่งเป็นภาพบรรยากาศและรายละเอียดเหตุการณ์ในพระราชพิธีที่ไม่พบในภาพยนตร์ฉบับที่ทำจำหน่าย โดยทางหอภาพยนตร์ได้นำมาเรียบเรียงเนื้อหาใหม่ แปลงสัญญาณเป็นดิจิทัลแล้วทำการเผยแพร่มีความยาว 30 นาที 

2. ภาพยนตร์ “พระราชพิธีเฉลิมพระราชวงศ์จักรีและกรุงเทพพระมหานคร อันสถาปนามาครบ 150 ปี (พ.ศ. 2475) 

ความพิเศษของภาพยนตร์เรื่องนี้คือ ถือเป็นครั้งแรกที่ได้มีการบันทึกงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่ได้รับการสถาปนาเป็นราชธานี เมื่อปี พ.ศ. 2325 โดยเป็นการบันทึกเหตุการณ์ตั้งแต่ รัชกาลที่ 7 เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีบวงสรวง ณ ท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 4 เมษายน ไปจนถึงพิธีฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในวันที่ 5 เมษายน และพิธีเปิดพระปฐมบรมราชานุสรณ์ รวมถึงพิธีเปิดสะพานพระพุทธยอดฟ้าเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2475 

ภาพยนตร์นี้สร้างขึ้นในนามคณะ “ภาพยนตร์เสียงศรีกรุง” ของพี่น้องตระกูลวสุวัต นำโดย มานิต และ เภา วสุวัต ซึ่งได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ให้เป็นผู้ถ่ายทำภาพยนตร์เสียงบันทึกเหตุการณ์สำคัญนี้ เพื่อเผยแพร่ให้ราษฎรได้ชมตามโรงภาพยนตร์ โดยจัดทำเสียงบรรยายทั้งภาษาไทย อังกฤษ และจีน ในขณะเดียวกันยังมีตัวอักษรหรือ intertitles แบบภาพยนตร์เงียบ บรรยายควบคู่ไปตลอดทั้งเรื่อง

มรดกภาพยนตร์ของชาติ ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2556 ได้ขึ้นทะเบียน 2 เรื่อง 

3. ภาพยนตร์ “แหวนวิเศษ (2472)”

หรืออีกชื่อ “นิทานของลุง” เป็นภาพยนตร์ที่กำกับโดย นายน้อย ศรศักดิ์ ซึ่งเป็นพระนามแฝงของรัชกาลที่ 7 ที่มาจากพระนาม “ทูลกระหม่อมฟ้าน้อย” ของชาววัง เป็นภาพยนตร์ชนิดเดินเรื่อง โดยมีคำบอกเล่าจากหม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ ซึ่งทรงร่วมแสดงในบทอ้ายเก่ง ทรงเล่าว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชนิพนธ์บทภาพยนตร์เรื่องนี้ในเรื่องพระที่นั่งจักรี ขณะเสด็จประพาสทางทะเล เมื่อปี พ.ศ. 2472 ที่เกาะพงัน จ.สุราษฎร์ธานี และโปรดเกล้าฯ ให้เจ้านายเด็ก ๆ ที่ตามเสด็จเป็นตัวแสดง 

ในส่วนการบรรยายเนื้อเรื่องของแหวนวิเศษ เป็นหนังเงียบที่มี intertitles คั่นบอกความเป็นไปและบทเจรจาแต่ละฉาก ซึ่ง “แหวนวิเศษ” มีความมหัศจรรย์ที่กล่าวได้ว่าเป็นมรดกหนังเงียบเรื่องเดียวที่สมบูรณ์ของชาติ

4. ภาพยนตร์ “เสด็จทอดพระเนตรมอญรำผี ปากลัด 1 มีนาคม พ.ศ. 2473”

ในบรรดาฟิล์มภาพยนตร์ส่วนพระองค์ของรัชกาลที่ 7 กว่าร้อยม้วนที่เหลืออยู่ “มอญรำผี” เป็นผลงานฝีพระหัตถ์ทรงถ่ายที่โดดเด่นที่สุดม้วนหนึ่ง ในฐานะภาพยนตร์บันทึกพิธีกรรมและวิถีความเชื่อในพิธีกรรมรำผีที่ชาวมอญปากลัด จังหวัดสมุทรปราการ ความพิเศษของภาพยนตร์นี้ที่ทำให้ได้รับประกาศเป็นมรดกภาพยนตร์แห่งชาติ คือ เป็นหลักฐานทางเป็นหลักฐานทางชาติพันธุ์ ทางมานุษยวิทยา ทางขนบประเพณี และยังมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ไทยเป็นอย่างมาก 

มรดกภาพยนตร์ของชาติ ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2557 ได้ขึ้นทะเบียน 3 เรื่อง 

5. ภาพยนตร์ “เสด็จอินโดจีน พ.ศ. ๒๔๗๓ (พ.ศ. 2473) รัชกาลที่ 7”

ทรงบันทึกการเดินทางครั้งนั้นด้วยกล้องถ่ายภาพยนตร์ เป็นภาพยนตร์ส่วนพระองค์มีความยาวทั้งสิ้น 7 ม้วน (ประมาณ 80 นาที) พระองค์ทรงถ่ายภาพยนตร์โดยละเอียดตลอดการเดินทางกว่าหนึ่งเดือน ซึ่งมีเหตุการณ์สำคัญมากมาย เช่น ทรงบันทึกเหตุการณ์การแข่งขันฟุตบอล ระหว่างทีมฟุตบอลสยาม กับ ทีมไซ่ง่อน ถือเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ฟุตบอลไทยเยือนต่างประเทศเป็นครั้งแรก 

ความพิเศษภาพยนตร์ส่วนพระองค์ของรัชกาลที่ 7 นี้ มีคุณค่าทำนองเดียวกับพระราชหัตถเลขา “ไกลบ้าน” ในรัชกาลที่ 5 เพียงแต่รัชกาลที่ 7 พระราชนิพนธ์ด้วยกล้องถ่ายภาพยนตร์แทนที่จะเป็นปากกานั่นเอง 

6. ภาพยนตร์ “พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ เลียบมณฑลฝ่ายเหนือ (พ.ศ. 2469)”

ถือเป็นการบันทึกเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ เพราะเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกในราชวงศ์จักรี ที่เสด็จประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือถึงนครเชียงใหม่ รัชกาลที่ 7 ทรงถ่ายเหตุการณ์ต่าง ๆ ด้วยพระองค์เองเป็นส่วนใหญ่ บันทึกสิ่งที่ทรงสนพระราชหฤทัย ซึ่งได้ทอดพระเนตรระหว่างเสด็จพระราชดำเนิน ทั้งโบราณสถาน โบราณวัตถุ ภูมิประเทศที่แปลกตา บ้านเมืองของราษฎร วิถีการดำรงชีวิต การลากซุงโดยช้าง กีฬาพื้นบ้านและกีฬาสากล โดยทรงนำมาตัดต่อลำดับเหตุการณ์เป็นตอน ๆ และจัดทำคำบรรยายเป็นข้อความระบุแต่ละเหตุการณ์สำคัญตลอดเรื่อง 

ถือเป็นภาพยนตร์ส่วนพระองค์ชุดแรกในรัชสมัยของรัชกาลที่ 7 ที่เป็นหนึ่งในนักถ่ายภาพยนตร์สมัครเล่น จึงมีคุณค่าเปรียบดั่งนิราศส่วนพระองค์ที่ได้พระราชนิพนธ์ไว้ด้วยกล้องถ่ายภาพยนตร์ และกลายเป็นจดหมายเหตุทางประวัติศาสตร์ชาติไทย 

7. ภาพยนตร์ “การเสด็จเลียบหัวเมืองเหนือ ROYAL TOUR IN NORTHERN SIAM (ส่วนที่ไม่ได้ใช้) (พ.ศ. 2470)”

ผู้สร้างเป็นกองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าว กรมรถไฟหลวง ภาพยนตร์ชุดนี้เป็นการค้นพบเศษฟิล์มเนกาทีฟ 35 มม. ที่เหลือจากการตัดต่อภาพยนตร์เหตุการณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ เลียบมณฑลฝ่ายเหนือ แม้จะเป็นเพียงเศษที่เหลือใช้ แต่ภาพยนตร์ชุดนี้ได้ทำให้เห็นถึงเค้าโครงและมุมมองของการนำเสนอข่าวเหตุการณ์สำคัญที่แตกต่างจากภาพยนตร์ที่ใช้ฉายจริง เช่น ขบวนแห่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเข้าประตูเมืองเชียงใหม่โดยประทับบนหลังช้าง ท่ามกลางขบวนช้างหลายสิบเชือก

รดกภาพยนตร์ของชาติ ครั้งที่ 11 พ.ศ. 2564 ได้ขึ้นทะเบียน 1 เรื่อง 

8. ภาพยนตร์ “[โสกันต์พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต] (พ.ศ. 2471)”

ภาพยนตร์ชุดนี้เป็นภาพยนตร์ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงถ่ายด้วยฝีพระหัตถ์และโปรดให้ข้าราชบริพารถ่ายด้วย ความพิเศษคือ เป็นการถ่ายไว้เป็นที่ระลึกที่กลายเป็นบันทึกความทรงจำของครอบครัวที่พระเจ้าแผ่นดินได้พระราชนิพนธ์ไว้ด้วยกล้องถ่ายภาพยนตร์ที่ได้แสดงให้เห็นพระราชพิธีเก่าแก่อย่างหนึ่งที่สืบทอดมายาวนานในราชสำนักสยามซึ่งปัจจุบันกลายเป็นอดีตไปแล้ว

กล่าวได้ว่าในรัชสมัยรัชกาลที่ 7 เป็นยุครุ่งเรืองของวงการภาพยนตร์ไทยอย่างแท้จริง พระองค์ทรงสนับสนุนกิจการภาพยนตร์ไทยจากพระราชนิยมส่วนพระองค์ ด้วยการทรงสร้างสรรค์ภาพยนตร์อัมพร ที่บันทึกเรื่องราวและเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ด้วยฝีพระหัตถ์ของพระองค์เอง ผู้ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์นักถ่ายภาพยนตร์สมัครเล่นที่ยิ่งใหญ่ ก่อเกิดเป็นภาพยนตร์อัมพรที่ทรงคุณค่า เป็นความทรงจำอันล้ำค่าที่สำคัญของชาติ หาชมได้ยาก และควรค่าแก่การได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติสืบไป 

เรียบเรียงโดย

ดวงรัตน์ ดีขั้ว และภัทราวดี พลบุญ บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ

รับชมผ่านช่องทางอื่นได้ที่

YouTube: www.stou.ac.th/link/1nHsm
SoundCloud: www.stou.ac.th/link/ocGYs
Blockdit: www.stou.ac.th/link/8j1W