๗o
พิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกแห่งสยาม

พิธีพระราชทานปริญญาบัตรของประเทศไทยจัดขึ้นครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2473 พระองค์เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่เวชบัณฑิตชั้นตรี ณ ห้องประชุมตึกบัญชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 34 คน เป็นเวชบัณฑิตที่จบการศึกษาในรุ่น 1 และ รุ่น 2 (หรือเทียบเท่าปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิตในปัจจุบัน) 

กระทรวงธรรมการและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดพิธีพระราชทานปริญญาบัตรโดยมีพิธีการที่แตกต่างจากปัจจุบันประการหนึ่ง คือ มีการกล่าวคาถาญัตติกรรมก่อนพระราชทานปริญญา โดยผู้บัญชาการมหาวิทยาลัยอ่านคาถาว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้อบรมบ่มนิสัยของนิสิตตามพระบรมราชโองการมา จนเห็นสมควรแล้วที่นิสิตเหล่านี้จะได้ปริญญา เมื่อออกชื่อนิสิตทั้งปวงแล้ว จึงถามที่ประชุม 3 ครั้งว่า จะมีสมาชิกแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คัดค้านมิให้นิสิตคนใดรับพระราชทานปริญญา ครั้งไม่มีผู้ใดคัดค้าน จึงขานชื่อบัณฑิตใหม่เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร เมื่อรับพระราชทานปริญญาแล้ว บัณฑิตใหม่กล่าวคำปฏิญาน จากนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราโชวาทแก่บัณฑิต ความตอนหนึ่งว่า 

“…ข้าพเจ้ามีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มีโอกาสมาให้ปริญญาแก่นักเรียนมหาวิทยาลัยเป็นครั้งแรกในวันนี้ ในวันนี้นับว่าเป็นวันสำคัญสำหรับประวัติการของมหาวิทยาลัย และโดยเหตุนั้นนับว่าเป็นวันสำคัญในประวัติการของประเทศสยามด้วย เพราะว่าไม่ว่าประเทศใด ๆ ความเจริญของประเทศนั้นย่อมวัดด้วยความเจริญของการศึกษานั้นอย่างหนึ่ง…”    

ถือเป็นจุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาในสถาบันอุดมศึกษาของไทยที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานครุยกิตติมศักดิ์แก่ข้าราชการของมหาวิทยาลัย 2 ท่าน คือ 

1. บัณฑิตชั้นโท ทางวิทยาศาสตร์ (เทียบเท่ามหาบัณฑิตในปัจจุบัน) แก่พระยาภะรตราชา (หม่อมหลวงทศทิศ อิศรเสนา) ผู้บัญชาการ (อธิการบดีในขณะนั้น) 

2. บัณฑิตชั้นเอก (ดุษฎีบัณฑิตในปัจจุบัน) แก่ศาสตราจารย์ น.พ. A.G.Ellis คณบดีคณะแพทยศาสตร์ (ต่อมาเป็นอธิการบดีของจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ระหว่าง พ.ศ. 2478-2479) 

โดยก่อนหน้าเพียงไม่กี่เดือน เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2473 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกำหนดเสื้อครุยบัณฑิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พุทธศักราช 2473 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 47 ความตอนหนึ่งว่า “…นิสิตที่เล่าเรียนสำเร็จตามหลักสูตรของมหาวิทยาลัยและได้รับปริญญานั้น ควรมีโอกาสใช้เสื้อคลุยมหาวิทยาลัยเป็นที่เชิดชูเกียรติยศให้เข้ารูปเยี่ยงนิสิตในสถานอุดมศึกษาทั้งหลายในนานาประเทศ…” ถือเป็นจุดเริ่มต้นการใช้ครุยวิทยฐานะสำหรับผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาในไทย  

รัชกร คงเจริญ บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ มสธ. 

ร้อยเรียงเรื่องราวสู่บทความ 130 เรื่องของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ พระราชจริยวัตร และพระราชนิยม
ผลงานและเหตุการณ์สําคัญที่เกิดขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 7 อันเป็นผลผลิตของโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้พระปกเกล้าศึกษาสู่ชุมชน
เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ 8 พฤศจิกายน