บรรณสารฯ ติดเล่า Podcast EP. 2 5 เทพารักษ์ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

สวัสดีครับยินดีต้อนรับเข้าสู่รายการบรรณสารติดเล่า Podcast EP 2 ครับ ผมโยธิน ครุธพันธ์(โย) บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เดือนเมษายนเป็นเดือนหนึ่งที่ผมรู้สึกชอบมากเดือนหนึ่งเพราะเป็นเดือนที่มีวันหยุดเยอะเดือนหนึ่ง วันหยุดแรกที่ทุกท่านจะได้สัมผัสกันก็คือวันจักรี ซึ่งตรงกับวันที่ 6 เมษายนเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ปราบดาภิเษก ขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักกรี และสถาปณากรุงเทพมหานครขึ้นเป็นราชธานี

การสร้างเมืองสิ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้องอย่างขาดไม่ได้เลย ก็คือการประกอบพิธีกรรมนั่นเองครับ ไม่ว่าจะเป็นการยกเสาหลักเมือง หรือการสร้างรูปเคารพเทวดา เพื่อให้ปกปักรักษาบ้านเมืองให้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข บรรณสารติดเล่าของเราวันนีจึงขอพาทุกท่านมารู้จักกับ 5 เทพารักษ์ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ครับ 

5 เทพารักษ์ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

เทพารักษ์สร้างขึ้นตั้งแต่ครั้งสร้างพระนคร แต่เดิมเทพารักษ์ทั้ง 5 มีศาลอยู่ตามที่ต่าง ๆ ภายหลังมีการบูรณะศาลจนปัจจุบันเทพารักษ์ทั้ง 5 ได้มาประดิษฐานอยู่ในศาลเดียวกัน เทวรูปเทพารักษ์ทั้ง 5 เป็นรูปหล่อสำริดปิดทอง ยกเว้นเจ้าพ่อเจตคุปต์ที่เป็นไม้สลัก ทั้ง 5 เป็นฝีมือช่างรัตนโกสินทร์ตอนต้นทรงเครื่องประดับสวมมงกุฎและถืออาวุธที่แตกต่างกันไป 

พระเสื้อเมือง เป็นเทพารักษ์ที่หล่อด้วยสัมฤทธิ์ปิดทอง เทวรูปอยู่ในอริยาบทยืน  มือซ้ายถือคฑา(กระบอง) มือขวาถือจักร บทความในคอลัมน์ On History ของ คุณสิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ จากวารสารมติชนสุดสัปดาห์ ได้อธิบายไว้ว่า “พระเสื้อเมือง” มาจากคำว่า “เชื้อเมือง” ที่หมายถึง ผีบรรพบุรุษของเมือง หรือจะเรียกตามภาษาชาวบ้านว่าเป็น “ผีปู่ตาของเมือง” ก็คงจะไม่ผิดนัก พระเสื้อเมืองมีหน้าที่คุมครองป้องกันทั้งทางบกและทางน้ำ คุมกำลังพลรักษาบ้านเมืองให้สงบสุขและปลอดภัยจากการรุกรานของอริราชศรัตรู 

พระทรงเมือง ลักษณะเป็นรูปหล่อสำริดปิดทองทรงยืน พระหัตถ์ซ้ายท้าวที่บั้นพระองค์ทรงพระขรรค์ พระหัตถ์ขวาทรงสังข์ พระทรงเมือง มีหน้าที่รักษาการปกครองและกระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ ดูแลทุกข์สุขของประชาชนให้ร่มเย็นเป็นสุข ในคอลัมน์เดียวกันกับพระเสื้อเมืองก็ได้กล่าวถึงพระทรงเมืองไว้ว่า คำว่า “ทรงเมือง” หมายถึง ผีผู้ครองเมือง ซึ่งผีที่ครองเมืองได้คือ ดวงพระวิญญาณของพระเจ้าแผ่นดินนั่นเอง 


พระกาฬไชยศรีที่พร้อมมารับวิญญาณเราทุกเมื่อ

พระกาฬไชยศรี ลักษณะเป็นรูปหล่อสำริดปิดทองมีสี่กร ประทับบนหลังนกแสก พระหัตถ์ขวาบนถือชวาลา คือดวงวิญญาณ เปรียบดังธาตุไฟในร่างกายคนเรา ซึ่งหากแตกดับลงเมื่อใดก็เท่ากับสิ้นชีวิตดวงวิญญาณออกจากร่างแล้วนั่นเอง และที่เห็นเป็นรูป 3 แฉกมีความหมายถึง ความตายนั้นย่อมเกิดขึ้นได้โดยไม่กำหนดว่าจะเป็นปฐมวัย มัชฌิมวัย หรือปัจฉิมวัยก็ตาม พระหัตถ์ขวาล่างกุมพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายบนถือเชือกบาศ สำหรับคล้องมัดปราณของมนุษย์ผู้ถึงฆาต ส่วนพระหัตถ์ซ้ายล่าง ทรงแสดงกิริยาตักเตือนสั่งสอนมิให้กระทำความชั่วร้าย 
พระกาฬไชยศรี เป็นบริวารของพระยม มีหน้าที่ป้องกันไม่ให้คนทำชั่ว ป้องกันการเจ็บไข้ ขี่นกแสกนำดวงวิญญาณไปสู่ยมโลกเพื่อรับการชำระความ ทำดีก็ส่งขึ้นสวรรค์ ทำชั่วก็ส่งไปรับกรรมในนรก จากการที่พระกาฬขี่นกแสกรับวิญญาณจึงทำให้เกิดความเชื่อหากนกแสกบินไปเกาะบ้านใครบ้านนั้นจะมีคนตาย จนกลายเป็นควาามหวาดกลัวจนถึงขั้นไล่ทำร้ายนกแสก แต่อย่าไปทำน้องเลยน้องช่วยจับหนูครับ


เจ้าพ่อเจตคุปต์ผู้บันทึกความผิดของมนุษย์

เจ้าพ่อเจตคุปต์  ลักษณะเป็นรูปแกะสลักด้วยไม้ ประทับยืนพระหัตถ์ขวาเหล็กจาร พระหัตถ์ซ้ายถือใบลานอัครสันธานา เจ้าเจตคุปต์เป็นเลขานุการของพระยมราช มีหน้าจดบันทึกความชั่วร้ายของมนุษย์ที่ไปและอ่านประวัติผู้ตายเสนอพระยมราช 


เจ้าพ่อหอกลองผู้ค่อยบอกวันเวลาที่ล่วงเลยผ่านไป

เจ้าพ่อหอกลอง ลักษณะเป็นรูปหล่อสำริดปิดทอง ทรงยืนบนแท่นแปดเหลี่ยมพระหัตถ์ยกชูขึ้นเสมอพระอุระ พระหัตถ์ขวาถือดอกบัว ซึ่งแทนความหมายของธรณี(แผ่นดิน) พระหัตถ์ซ้ายถือเขาสัตว์ เจ้าหอกลองเป็นเทพารักษ์ประจำหอกลอง มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบเหตุการณ์ต่าง ๆ อันเกิดขึ้นในแผ่นดิน เช่น คอยรักษาเวลา ย่ำรุ่ง ย่ำค่ำและเที่ยงคืน เกิดเหตุอัคคีภัย หรือมีอริราชศัตรูยกมาประชิดพระนคร  

เทพารักษ์ทั้ง 5 ประดิษฐานไว้ที่ศาลเดียวกันซึ่งอยู่ทางฝั่งซ้ายของเสาหลักเมือง มีอำนาจที่แตกต่างกันไป เป็นทั้งที่เคารพสักการะขวัญกำลังใจให้คนไทยทั้งในระดับราชวงศ์ไปจนถึงราษฎร์  และสิ่งหนึ่งที่เห็นจากพลานุภาพของเหล่าเทพารักษ์นอกจากจะคุ้มครองและปกป้องบ้านเมืองแล้ว ยังเป็นเทพที่คอยเตือนสติให้มนุษย์รู้จักดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท เช่น

  • พระกาฬไชยศรีที่พร้อมมารับวิญญาณเราทุกเมื่อ
  • เจ้าพ่อเจตคุปต์ที่ค่อยบันทึกความผิดของเรา
  • เจ้าพ่อหอกลองผู้ค่อยบอกวันเวลาที่ล่วงเลยผ่านไป

ผู้ฟังล่ะครับมีความคิดเห็นอย่างไรกับเทพารักษ์ทั้ง 5 สามารถแสดงความคิดเห็นกันมาได้ หรืออยากให้บรรณสารติดเล่าของเราเล่าเรื่องอะไรก็แสดงความคิดเห็นกันมาได้เลยครับ ครั้งหน้ารายการบรรณาสารติดเล่าของเราเล่าเรื่องอะไรก็สามารถติดตามกันได้ทุกวันที่ 1 และวันที่ 16 ของทุกเดือนเวลา 1 ทุ่มตรง วันนี้ต้องขอลาไปก่อนสวัสดีครับ 

สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมของเทพารักษ์ทั้งห้าได้ที่ห้องสมุด มสธ. ดังนี้

เรียบเรียง: โยธิน ครุธพันธ์ (บรรณารักษ์)