มะเร็งทั้ง 4 ที่ผู้หญิงต้องรู้

โรคมะเร็งเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้หญิงเสียชีวิตเป็นอันดับต้น ๆ ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งมดลูก มะเร็งรังไข่ โดยอวัยวะต่าง ๆ เหล่านี้เป็นจุดซ่อนเร้นที่ผู้หญิงหลาย ๆ คนอายไม่กล้าเข้ามาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจจึงทำให้ละเลยต่อการตรวจพบ การป้องกัน และการตรวจรักษาอย่างถูกต้อง แต่หากรู้เท่าทันโรค เข้ารับการตรวจอย่างสม่ำเสมอก็จะทำให้ตนเองและครอบครัวห่างไกลจากโรคร้ายนี้ได้

มะเร็งทั้ง 4 ที่ผู้หญิงต้องรู้ เขียนโดยแพทย์หญิงชัญวลี ศรีสุโข สูตินรีแพทย์ที่รวบรวมความรู้และประสบการณ์การดูแลรักษาผู้ป่วยสูตินรีเวชและมะเร็งมากว่า 30 ปี สำหรับผู้หญิงทุกคนได้ทำความเข้าใจ การตรวจคัดกรอง การรักษาได้ทันเวลาก่อนที่จะสายเกินไป

มะเร็งทั้ง 4 ที่ผู้หญิงต้องรู้ ได้แก่

 1. มะเร็งเต้านม เป็นมะเร็งที่พบมากอันดับ 1 ของหญิงไทย ความเสี่ยงของโรคจะเพิ่มขึ้นตามอายุ โดยเฉพาะผู้มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ได้แก่ พันธุกรรม การกลายพันธุ์ของยีน BRCA การได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นเวลานาน เคยมีประวัติเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ น้ำหนักเกิน ขาดการออกกำลังกาย ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาการที่อาจบ่งบอก คือ คลำพบก้อนในเต้านมหรือใต้แขน บริเวณหัวนมบุ๋ม มีน้ำเหลืองไหลออกจากหัวนม มีแผล เต้านมมีผื่น แดง ร้อน ผื่นคล้ายผิวส้ม และมีอาการปวดบริเวณเต้านม หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบปรึกษาแพทย์ การป้องกันเร็งเต้านม ผู้หญิงที่อายุ 40 ปีขึ้นไป แนะนำตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องดิจิตอลแมมโมแกรมพร้อมอัลตราซาวด์ (Digital Mammogram + Ultrasound Breast) ทุก 1-2 ปี

2. มะเร็งปากมดลูก มะเร็งที่พบได้บ่อยเป็นอันดับ 2 ของหญิงไทย เกิดได้กับผู้หญิงทุกคนที่ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ กว่าร้อยละ 90 ของผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกมีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัส HPV (Human Papillomavirus) ที่ติดต่อผ่านการสัมผัสทั้งจากการมีเพศสัมพันธ์และไม่ใช่เพศสัมพันธ์ ปัจจัยเสี่ยงอื่น ได้แก่ ช่วงอายุระหว่าง 40-50 ปี มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย เปลี่ยนคู่นอนบ่อย มีบุตรหลายคน สูบบุหรี่ ภูมิคุ้มกันบกพร่อง อาการของโรคระยะเริ่มแรกหรือระยะก่อนเป็นมะเร็ง จะไม่มีอาการใด ๆ เลย หากมีอาการแสดงว่าโรคได้ดำเนินไปมากแล้ว เช่น มีเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด ประจำเดือนมานานผิดปกติ มีเลือดออกหลังวัยหมดประจำเดือนแล้ว มีตกขาวมากและมีกลิ่นผิดปกติ การป้องกันมะเร็งปากมดลูก ผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์แล้วควรรับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกภายใน 3 ปีหลังการมีเพศสัมพันธ์ และเข้ารับการตรวจอย่างสมํ่าเสมอ ผู้ที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์อาจเริ่มตรวจได้ตั้งแต่อายุ 30 ปีขึ้นไป

3. มะเร็งมดลูก เป็นมะเร็งที่พบเป็นอันดับ 1 ของมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์ของผู้หญิง และมีแนวโน้มเกิดกับผู้หญิงที่มีอายุยังน้อย สำหรับมะเร็งมดลูกคนส่วนใหญ่อาจเข้าใจว่าคือที่เดียวกับปากมดลูก แต่แท้จริงแล้วเป็นคนละที่กัน บางครั้งจึงเกิดความเข้าใจว่าการตรวจภายในหรือการตรวจมะเร็งปากมดลูกเป็นการตรวจมะเร็งในระบบอวัยวะสืบพันธุ์ที่ครบถ้วน ทั้งๆ ที่การตรวจมะเร็งปากมดลูกเป็นเพียงแค่การตรวจส่วนเดียวเท่านั้น ไม่ได้รวมถึงการตรวจมะเร็งมดลูกด้วย ปัจจัยเสี่ยงบางอย่างที่ทำให้เกิดโรคนี้ได้ เนื่องจากมะเร็งชนิดนี้เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนในร่างกายผู้หญิง ดังนั้นผู้หญิงที่มีบุตรน้อยหรือไม่มีบุตร มีประจำเดือนเป็นเวลานานแม้จะถึงวัยที่ควรหมดประจำเดือนแล้ว มีภาวะฮอร์โมนผันผวน อาจมีความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งมดลูกได้มากขึ้น อาการของมะเร็งมดลูกหรือมะเร็งโพรงมดลูกมีเพียงอย่างเดียวเท่านั้น คือ ประจำเดือนผิดปกติ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้หญิงทุกคนที่มีประจำเดือนผิดปกติจะต้องเป็นมะเร็งมดลูก ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดที่ไม่ควรละเลยคือ หากมีประจำเดือนผิดปกติควรรีบพบสูตินรีแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและหาสาเหตุที่แน่ชัด

4. มะเร็งรังไข่ พบได้มากเป็นอันดับ 2 ของมะเร็งระบบอวัยวะสืบพันธุ์ของผู้หญิง และเป็นมะเร็งชนิดที่ทำให้เสียชีวิตมากกว่ารอดชีวิต มักพบในช่วงอายุ 40-60 ปี ส่วนในเด็กก่อนหรือหลังวัย 10 ปีก็อาจพบได้บ้าง โดยมักไม่ค่อยตรวจเจอมะเร็งรังไข่ในระยะต้นๆ จะมารู้ตัวอีกทีก็พบว่าเป็นมะเร็งรังไข่ในระยะท้ายๆ แล้ว ฉะนั้นอย่ารอจนสายเกินไป อาการของโรค รู้สึกอึดอัดในช่องท้อง เบื่ออาหาร รู้สึกอิ่มจนอึดอัดถึงแม้รับประทานอาหารอ่อนๆ อาหารไม่ย่อย ท้องอืดท้องเฟ้อ หรือปวดท้องคลื่นไส้ ท้องเสีย ท้องผูก หรือปัสสาวะบ่อย หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบพบแพย์เพื่อการรักษาได้ทันเวลา

เนื้อหาในหนังสือเป็นความรู้ที่ครอบคลุมเกี่ยวกับโรคตั้งแต่ การทำความรู้จักกับโรค การตรวจคัดกรอง การรักษา การดูแลจิตใจผู้ป่วย การดูแลหลังได้รับการรักษา พร้อมทั้งยกตัวอย่างอาการของผู้ป่วยมะเร็งทั้ง 4 ชนิดที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้หญิงที่รักสุขภาพทุกท่าน หรือผู้ที่มีความเสี่ยง รวมถึงผู้ใกล้ชิดให้ห่างไกลจากโรคมะเร็งทั้ง 4 ชนิดนี้ได้

หากสนใจหนังสือเล่มนี้ ตรวจสอบสถานะ