“ก็มีทางเลือกอยู่ 3 ทาง หนึ่ง “สู้” สอง “หนี” สาม “กลับกรุงเทพฯ” ยอมรับเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญตามที่เขากราบทูลว่าเช่นนั้น ผู้หญิงทั้งสองคนก็บอกว่า “กลับกรุงเทพฯ” ผู้หญิงทั้งสองคนก็มี “ความกล้าหาญ” ก็ไม่รู้ว่ากลับกรุงเทพแล้วอะไรจะเกิดขึ้น ในสถานการณ์เช่นนี้ ความเป็น “ขัตติยะ” จะต้องทำอย่างไร ”
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี มิได้ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นเพียงพระราชินีผู้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเคียงข้างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเท่านั้น หากยังทรงมีบทบาทสำคัญในฐานะแบบอย่างของ “ขัตติยนารี” ของแผ่นดิน ผู้ทรงไว้ซึ่งพระปรีชาสามารถ พระราชจริยวัตรอันงดงาม และพระราชหฤทัยที่เปี่ยมด้วยเมตตาธรรม
ห้องสมุด มสธ. ได้รับเกียรติอย่างยิ่งจาก หม่อมราชวงศ์พฤทธิสาณ ชุมพล ผู้ทรงคุณวุฒิด้านพระปกเกล้าศึกษา และที่ปรึกษาห้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ปัจจุบัน หม่อมราชวงศ์พฤทธิสาณ ยังดำรงตำแหน่ง รองประธานกรรมการมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี อีกทั้งยังทรงเป็นพระญาติใกล้ชิดในฐานะ “หลานป้า” ของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ
ในการนี้ ท่านได้ให้เกียรติมาถ่ายทอดเรื่องราวและบทบาทอันสะท้อนถึงพระราชจริยวัตรแห่งความเป็นขัตติยมานะราชินี ผ่านเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ชาติไทย อาทิ การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 เหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 รวมถึงเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในต่างประเทศ โดยถ่ายทอดผ่านมุมมองที่ประวัติศาสตร์อาจยังไม่ได้บันทึกไว้ นับเป็นโอกาสอันทรงคุณค่าอย่างยิ่งในการเรียนรู้และซาบซึ้งในพระเกียรติคุณของพระองค์
รับฟังได้ในรายการ STOU Oral History ตอนที่ 1 “สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี: ขัตติยมานะราชินี”