โครงการกิตติเมธี เป็นโครงการที่สร้างคุณค่าและส่งเสริมให้ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความสามารถในการสร้างสรรค์ผลงานทางวิชาการให้ปรากฏในวงการศึกษา และสนับสนุนการพัฒนางานด้านวิชาการและการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษาของมหาวิทยาลัย ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความก้าวหน้าให้แก่วงวิชาการของประเทศไทยได้อย่างดียิ่ง
เมื่อปี พ.ศ. 2528 มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชได้มีนโยบายจัดให้มี “โครงการกิตติเมธี” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการส่งเสริมภารกิจหลักของมหาวิทยาลัยทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการสอน การวิจัย การบริการวิชาการแก่สังคม และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดการสร้างสรรค์ผลงานและความเป็นเลิศทางวิชาการในสาขาวิชาการต่าง ๆ ด้วยการเชิญผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ และมีประสบการณ์เป็นเลิศหรือเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาหรือวิชาชีพต่าง ๆ ที่เกษียณอายุหรือปลอดจากภาระงานประจำแล้วทั้งจากภาครัฐและเอกชนให้มาเป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางวิชาการของมหาวิทยาลัย ซึ่งถือเป็นกลุ่มทรัพยากรบุคคลที่มีค่ายิ่งที่จะได้มีโอกาสใช้ความเป็นเลิศทางวิชาการหรือความเป็นผู้เชี่ยวชาญของตนในการทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคมและประเทศชาติในวงวิชาการ
ผู้ทรงคุณวุฒิที่มหาวิทยาลัยเชิญเข้ามาร่วมโครงการกิตติเมธีจะมีสถานภาพเป็นสมาชิกของคณะกิตติเมธี ซึ่งมหาวิทยาลัยจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์รวมของผู้ทรงคุณวุฒิที่เชี่ยวชาญในสาขาวิทยาการต่าง ๆ ทั้งนี้มหาวิทยาลัยจะจัดเตรียมบุคลากรและสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่กิตติเมธีตามความเหมาะสม
กิตติเมธีของมหาวิทยาลัยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. กิตติเมธีประจำสาขาวิชา หมายถึง ผู้ทรงคุณวุฒิที่มหาวิทยาลัยเลือกสรรและเชิญมาร่วมโครงการหรือกิจกรรมทางวิชาการตามข้อตกลงร่วมกัน มีวาระในการดำรงตำแหน่งคราวละ 2 ปี แต่อาจได้รับการแต่งตั้งใหม่ได้
2. กิตติเมธีกิตติมศักดิ์ หมายถึง กิตติเมธีประจำสาขาวิชาที่ดำรงตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 วาระ ซึ่งได้ทำคุณประโยชน์ให้กับมหาวิทยาลัยและได้รับการพิจารณาเห็นควรแต่งตั้งให้เป็นกิตติเมธีกิตติมศักดิ์ มีหน้าที่ให้คำปรึกษาหารือด้านวิชาการแก่มหาวิทยาลัย โดยไม่มีข้อผูกพันว่าจะต้องดำเนินโครงการหรือเข้าร่วมกิจกรรมทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยเช่นเดียวกับกิตติเมธีประจำสาขาวิชา
ในปี พ.ศ. 2530 มหาวิทยาลัยได้จัดตั้งกองทุนกิตติเมธีและออกระเบียบมหาวิทยาลัยฯ ว่าด้วยกองทุนกิตติเมธี พ.ศ. 2530 เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามโครงการกิตติเมธี โดยจัดสรรเงินรายได้จากเงินคงคลังของมหาวิทยาลัยเป็นทุนประเดิมจำนวน 30 ล้านบาท ส่วนการจัดสรรค่าใช้จ่ายของแต่ละโครงการได้มาจากการนำเงินผลประโยชน์ที่เกิดจากกองทุนมาจัดสรรเป็นรายปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชได้มีการแต่งตั้งกิตติเมธีประจำมหาวิทยาลัย
แล้วในหลายสาขาวิชาซึ่งมีผลการดำเนินโครงการของกิตติเมธีและจัดพิมพ์เผยแพร่ผลงานออกสู่สาธารณชนแล้ว https://www.stou.ac.th/Thai/Distinguish/Kitti/first/ProfileKitti.pdf จากการสร้างสรรค์ผลงานทางวิชาการที่ทรงคุณค่าและถ่ายทอดความรู้ไปสู่สังคม ซึ่งเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับนักวิชาการรุ่นหลัง เพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติกิตติเมธีที่มีคุณูปการต่อมหาวิทยาลัย ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชจึงได้มีการ ประกาศเกียรติคุณและมีพิธีพระราชทานกิตติบัตรให้กับกิตติเมธีของมหาวิทยาลัย ในระหว่างปี พ.ศ. 2532 – 2566 ดังรายนามต่อไปนี้
กิตติเมธี | สาขาวิชา | ปีที่เข้ารับพระราชทานกิตติบัตร |
---|---|---|
1. ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร | ศิลปศาสตร์ | พ.ศ. 2532 |
2. ศาสตราจารย์ ดร.เอกวิทย์ ณ ถลาง | ศึกษาศาสตร์ | พ.ศ. 2536 |
3. ศาสตราจารย์ ดร.จรรยา สุวรรณทัต | มนุษยนิเวศศาสตร์ | พ.ศ. 2536 |
4. ศาสตราจารย์คุณหญิงแม้นมาศ ชวลิต | ศิลปศาสตร์ | พ.ศ. 2537 |
5. ศาสตราจารย์ ดร.สุรพงษ์ โสธนะเสถียร | นิเทศศาสตร์ | พ.ศ. 2566 |
ศาสตราจารย์ ดร.สุรพงษ์ โสธนะเสถียร กิตติเมธีนิเทศศาสตร์ เข้ารับพระราชทานกิตติบัตร เมื่อ พ.ศ. 2566
ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร กิตติเมธีคนแรกของสาขาวิชาศิลปศาสตร์ เข้ารับพระราชทานกิตติบัตร เมื่อ พ.ศ. 2532
ศาสตราจารย์ คุณหญิงแม้นมาศ ชวลิต กิตติเมธีสาขาวิชาศิลปศาสตร์ เข้ารับพระราชทานกิตติบัตร เมื่อ พ.ศ. 2537
เรียบเรียงโดย
วราภรณ์ ยงบรรทม บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ
เอกสารอ้างอิง
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. (2528). การประชุมสภามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ครั้งที่ 6/2528 วันที่ 29 ตุลาคม 2528 เรื่อง (ร่าง) โครงการกิตติเมธีของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และ (ร่าง) ระเบียบมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชว่าด้วย กิตติเมธี พ.ศ. 2528.
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. (2532, 2536-2537). สูจิบัตรพิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ประจำปีการศึกษา 2530 และ 2534-2535.