27 มิถุนายน 2475 วันนี้เมื่อ 88 ปีที่แล้ว เป็นวันประกาศใช้บังคับ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ซึ่งถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทย ภายหลังจากที่มีการปฏิวัติเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 โดยคณะราษฎรได้ทำการยึดอำนาจและเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งในขณะนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จแปรพระราชฐานประทับอยู่ที่พระราชวังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ คณะราษฎรจึงกราบบังคมทูลอัญเชิญเสด็จกลับพระนคร
ในคืนวันที่ 25 มิถุนายน 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับพระนคร และในวันที่ 26 มิถุนายน 2475 คณะราษฎรได้เข้าเฝ้าฯ เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พุทธศักราช 2475 พร้อมด้วยร่างพระราชกำหนดนิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย โดยพระองค์ทรงเติมคำว่า “ชั่วคราว” ลงไป รัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย จึงมีชื่ออย่างเป็นทางการ ว่า “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว” และพระองค์มีพระราชกระแสรับสั่งแก่คณะราษฎรว่าให้ใช้ พ.ร.บ. ธรรมนูญฯ นี้เป็นการชั่วคราว โดยให้เสนอสภาผู้แทนราษฎรเพื่อตั้งคณะอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร เพื่อปรับปรุงข้อกฏหมายและข้อบังคับต่าง ๆ ให้มีความเสถียรภาพมากขึ้น พระองค์พระราชทานความร่วมมือแก่คณะราษฎร เพื่อแก้ไขสถานการณ์ให้เข้าสู่ความสงบเรียบร้อย และหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ที่อาจนำไปสู่การสูญเสียในบ้านเมือง
พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ฉบับนี้มีทั้งหมด 39 มาตรา มีการจัดวางโครงสร้างอำนาจ ออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ อำนาจของกษัตริย์ อำนาจของสภาผู้แทนราษฎร อำนาจของคณะกรรมการราษฎร และอำนาจศาล
อ่านฉบับเต็ม: พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475
และภายหลังได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรแทน เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม