22 พฤษภาคม วันคล้ายวันสวรรคตสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี

22 พฤษภาคม 2527 สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ทรงประชวรสวรรคตด้วยพระหทัยวายโดยพระอาการสงบ ณ พระตำหนักวังศุโขทัย รวมพระชนมายุได้ 79 พรรษา เพื่อเป็นการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ห้องสมุด มสธ. ขออันเชิญพระราชประวัติ ดังต่อไปนี้

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จพระราชสมภพ เมื่อ 20 ธันวาคม 2447 เป็นพระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงอาภาพรรณี มีพระนามที่เรียกขานกันเล่นๆ ว่า “ท่านหญิงนา”

เมื่อทรงเจริญพระชันษาได้ 2 ปี พระบิดาได้นำเข้าไปถวายตัวแด่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อหม่อมเจ้ารำไพพรรณีมีชันษาได้ 8 ปีเศษ และได้ผ่านพระราชพิธีเกศากันต์ (โกนจุก) ก็ได้ทรงรู้จักกับร้อยโทสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา (รัชกาลที่ 7) ซึ่งได้เสด็จนิวัตกลับกรุงเทพ หลังจากทรงได้สำเร็จการศึกษาวิชาการทหารจากประเทศอังกฤษ และได้เสด็จมาประทับที่พระราชวังพญาไทกับพระชนนีเป็นครั้งคราว ทรงต้องพระอัธยาศัยในหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณีจนบังเกิดมีพระราชหฤทัยรักใคร่ผูกพัน

และในปี พ.ศ. 2460 เมื่อสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ ฯ ได้ทรงลาสิกขาจากการผนวช ก็ได้กราบบังคมทูลพระกรุณา และขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่ออภิเษกสมรสกับหม่อมเจ้ารำไพพรรณี ที่สุด ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จัดพระราชพิธีอภิเษกสมรส เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2461 ที่พระราชวังบางปะอิน ซึ่อถือเป็นการพิธีครั้งแรกหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรากฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการเศกสมรสแห่งเจ้านายในพระราชวงศ์ พุทธศักราช 2461 รวมทั้งยังเป็นการแต่งงานแบบตะวันตกอย่างแท้จริง กล่าวคือมีการถามความสมัครใจของคู่บ่าวสาวด้วย

ต่อมาสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา และเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 จึงโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี พระวรชายาขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเคียงคู่พระราชสวามี เสมอมา หลังจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จสวรรคต พระองค์จึงได้เสด็จกลับพระนคร เมื่อปี 2492 โดยพระองค์มีพระราชประสงค์ประทับอยู่อย่างเรียบง่าย ณ สวนบ้านแก้ว จ.จันทบุรี ทรงดำเนินกิจการด้านเกษตร การเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ เพื่อเป็นโครงการตัวอย่างแก่ประชาชนในท้องถิ่น รวมถึงทรงพัฒนาการทอเสื่อจันทบูร ซึ่งเป็นหัตถกรรมพื้นบ้านของชาวจันทบุรี ทั้งนี้พระองค์ทรงประทับที่สวนบ้านแก้ว เป็นเวลา 18 ปี จนปี 2511 ได้เสด็จกลับมาประทับที่วังศุโขทัยเป็นการถาวร หลังจากนั้นรัฐบาลได้ขอซื้อสวนบ้านแก้วเพื่อจัดตั้งวิทยาลัยครูจันทบุรีหรือมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ในปัจจุบัน

พระมหากรุณาธิคุณต่อมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เป็นอย่างมาก โดยเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2522 พระองค์ได้พระราชทานพระราชวโรกาสให้ ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ทูลเกล้าฯ ถวายตรามหาวิทยาลัย และรายงานกิจการของมหาวิทยาลัย พร้อมทั้งพระราชทานกำลังใจในการปฏิบัติงานแก่คณะผู้บริหาร และในปี 2538 มหาวิทยาลัยได้พระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระปรมาภิไธยในพระบาทสมเด็จพระปกเจ้าอยู่หัวและพระนามาภิไธยในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เป็นชื่อห้องที่รวบรวมสารสนเทศเฉพาะด้าน เกี่ยวกับพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ และเรื่องราวที่เกิดขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 7 คือ “ห้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี” ณ ชั้น 2 อาคารบรรณสาร มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ผู้สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ วันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 8.30 – 16.30 น. หรือรับชมในรูปแบบออนไลน์ พิพิธภัณฑ์ 360°

ศึกษาค้นคว้ารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

  1. นิทรรศการออนไลน์ สวนบ้านแก้วในสมเด็จพระนางรำไพพรรณี
  2. บทความเรื่อง สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี กุลสตรีศรีสยาม
  3. หนังสือกุลสตรีศรีสยาม : สง่างามทุกกาลสถาน (DS578.32.ร6 พ43 2560)
  4. พระราชบันทึกทรงเล่า : ในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 (DS584 ร79 2545)