๕๔
30 พฤษภาคม วันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

หลังจากเหตุการณ์การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรปพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เพื่อทอดพระเนตรการพัฒนาด้านต่าง ๆ และทรงรับการผ่าตัดรักษาพระเนตรที่ประเทศอังกฤษ แต่เนื่องด้วยพระราชดำริที่ไม่ตรงกันกับรัฐบาลคณะราษฎรหลายประการ และทรงพิจารณาแล้วว่า ไม่ทรงสามารถประสานกับรัฐบาลเพื่อให้บรรลุประโยชน์แก่ปวงชนส่วนรวมได้ จึงตัดสินพระราชหฤทัยสละราชสมบัติ ขณะประทับพักฟื้นพระวรกายที่พระตำหนักโนล กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2477

เมื่อพระองค์ทรงสละราชสมบัติแล้ว ยังคงประทับอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ พระองค์แปรพระราชฐานเปลี่ยนพระตำหนักในอังกฤษหลายครั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับข้อจำกัดและสถานการณ์ ตามลำดับดังนี้ พ.ศ. 2478 ทรงย้ายไปประทับที่พระตำหนักเกล็นเพ็มเมินต์ (Glen Pammant) ตำบลเวอร์จิเนีย วอเตอร์  (Virginia Water) พ.ศ. 2480 ทรงย้ายไปประทับที่พระตำหนักเวนคอร์ท (Vane Court) ตำบลบิดเดนเดน (Biddenden) มณฑลเคนท์ (Kent) พ.ศ. 2482 ทรงย้ายไปประทับที่พระตำหนักคอมพ์ตัน (Compton House) ตำบลเวอร์จิเนีย วอเตอร์  (Virginia Water) ตลอดระยะเวลาที่ทรงประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ทรงดำเนินพระชนมชีพอย่างสงบสุขและสันโดษ และทรงปฏิบัติองค์เยี่ยงสามัญชน

พระองค์ทรงพระประชวรอยู่เนื่อง ๆ อันเนื่องมาจากพระพลนามัยของพระองค์ไม่ทรงแข็งแรงมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ กระทั่งเมื่อ 30 พฤษภาคม 2484 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตด้วยอาการพระหทัยวาย ขณะมีพระชนมายุ 48 พรรษา 6 เดือน 23 วัน สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงจัดการถวายพระเพลิงพระบรมศพอย่างเรียบง่าย ณ ฌาปนสถานโกลเดอร์สกรีน (Golders Green) ทางตอนเหนือของกรุงลอนดอน

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2492 สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี จึงทรงอัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ  พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินออกจากท่าเรือเมืองเซาแธมตันโดยรัฐบาลอังกฤษ ตั้งกองเกียรติยศส่งเสด็จ เรือ Willem Ruys นำเสด็จฯสู่สิงคโปร์ และเรือภาณุรังษีของบริษัทอีสต์เอเชียติก ได้นำเสด็จฯ เข้าสู่ประเทศไทยถึงเกาะสีชัง รัฐบาลไทย ซึ่งมีจอมพล ป.พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรีได้ส่งเรือหลวงแม่กลองไปรับเสด็จที่เกาะสีชัง มาถึงท่าราชวรดิฐ วันที่ 24 พฤษภาคม 2492 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เฝ้าฯ รับเสด็จฯ และอัญเชิญพระบรมอัฐิโดยกระบวนพยุหยาตราใหญ่เข้าสู่พระบรมมหาราชวังประดิษฐานร่วมกับสมเด็จพระบุรพมหากษัตริยาธิราชในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระองค์ให้เป็นที่ประจักษ์แก่อนุชนรุ่นหลังอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นการน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ สถาบันพระปกเกล้าจึงได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้มีวันสำคัญเกี่ยวกับพระองค์ว่าสมควรกำหนดให้วันคล้ายวันสวรรคตของพระองค์ คือ วันที่ 30 พฤษภาคม ของทุกปีเป็น “วันพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอดังกล่าว เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2545 โดยให้กำหนดวันที่ 30 พฤษภาคม ของทุกปีเป็น “วันพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” อันเป็นวันรัฐพิธีโดยไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ

พระชนมชีพรัชกาลที่ 7 หลังทรงสละราชสมบัติ

พฤทธิสาณ ชุมพล, ม.ร.ว. (2544). ‘บ้าน’ ไกลบ้าน: ประชาธิปกราชนิเวศน์ในอังกฤษ. รายงานกิจการของมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ประจำปี 2543. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.
การวิก จักรพันธุ์, ม.จ., นรุตม์ (เรียบเรียง). (2539). ใต้ร่มฉัตร : หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์. แพรวสำนักพิมพ์.

รัชกร คงเจริญ บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ มสธ.

ร้อยเรียงเรื่องราวสู่บทความ 130 เรื่องของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ พระราชจริยวัตร และพระราชนิยม
ผลงานและเหตุการณ์สําคัญที่เกิดขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 7 อันเป็นผลผลิตของโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้พระปกเกล้าศึกษาสู่ชุมชน
เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ 8 พฤศจิกายน