เหลียวหลังแลหน้า 43 ปี มสธ. วิกฤตและโอกาส

วันที่ 5 กันยายน 2564 ถือเป็นวันสถาปนามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ครบรอบ 43 ปี ในโอกาสนี้ทางศูนย์วิทยบริการและชุมชนสัมพันธ์ มสธ.นครศรีธรรมราชร่วมกับสมาคมสุโขทัยธรรมาธิราช ได้จัดกิจกรรมทางวิชาการในลักษณะผู้บริหารพบเครือข่ายเพื่อมอบนโยบายการบริการการศึกษาและส่งเสริมเครือข่ายภายใต้สถานการณ์โควิด เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2564 ผ่านโปรแกรม Microsoft Teams และ STOU Channel-You Tube ในโอกาสนี้ได้มีปาฐกถาโดยศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน อธิการบดีผู้ก่อตั้งและนายกสภามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ซึ่งมีสาระสำคัญพอสรุปได้ดังนี้

ตั้งแต่พ.ศ. 2521 เป็นต้นมามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ได้จัดการเรียนการสอนในระบบการศึกษาทางไกลที่เป็นอัตลักษณ์ของมสธ. กล่าวคือ เป็นระบบการศึกษาตลอดชีวิตที่ไม่จำกัดเพศ วัยและอายุ

ทุกคนสามารถเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา ซึ่งเอื้อให้ศึกษาได้ด้วยตนเอง มีสื่อการศึกษาที่หลากหลายทั้งด้านเนื้อหาและรูปแบบ มีทั้งสื่อหลักและสื่อเสริม ตลอดระยะเวลา 43 ปี ที่ผ่านมา มสธ.ได้รับนักศึกษามาแล้วเป็นจำนวน 2.77 ล้านคน และได้สร้างบัณฑิตที่มีคุณภาพมาแล้วเป็นจำนวน 521,162 คน ในจำนวนนี้มีทั้งบัณฑิตที่เป็นผู้ต้องขังและบัณฑิตผู้พิการร่วมด้วย ในช่วง 43 ปีที่ผ่านมา มสธ.ต้องเผชิญกับวิกฤตต่าง ๆ มากมายที่ส่งผลกระทบต่อการจัดการเรียนการสอนในระบบการศึกษาทางไกล แต่วิกฤตที่มีผลกระทบในระยะยาวและควรปรับปรุงแก้ไขอย่างเร่งด่วนคือ วิกฤตจำนวนนักศึกษาลดลงอย่างต่อเนื่องและวิกฤตระบบการบริหารมหาวิทยาลัย “ธรรมาภิบาล” ต่อด้วยวิกฤตซ้อนวิกฤตจากสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาดหลายระลอกในปัจจุบัน ทำให้ต้องมีการพัฒนาระบบการจัดการศึกษาทางไกลให้มีคุณภาพและมาตรฐานสากลรวมทั้งการพัฒนาสมรรถนะของคณาจารย์และบุคลากรมหาวิทยาลัยร่วมด้วย

ผลกระทบจากวิกฤตดังกล่าวจึงทำให้มสธ. ต้องฟื้นฟูและบูรณการเพื่อแก้วิกฤตดังกล่าวอย่างเร่งด่วน โดยการวางนโยบายปฏิรูปการศึกษาซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2561 – มกราคม 2562 รวมระยะเวลา 9 เดือน หลังจากนั้นได้นำนโยบายการปฏิรูปไปสู่การปฏิบัติที่เริ่มดำเนินการแล้ว ได้แก่ แผนการจัดการศึกษาแบบเรียนรู้ด้วยตนเอง ระดับปริญญาตรี (แผน ก1, แผน ก2, แผน ก3) ระดับต่ำกว่าปริญญาตรี (Modular system) จัดตั้งและขยายศูนย์กลางทางการศึกษาในพื้นที่กลุ่มจังหวัดทั่วประเทศที่เรียกว่า “ศูนย์วิทยบริการและชุมชนสัมพันธ์ มสธ.” เพื่อเป็นหน่วยพันธกิจชุมชนในพื้นที่กลุ่มจังหวัดที่รับผิดชอบ เป็นแหล่งรองรับการจัดกิจกรรมร่วมเรียนรู้ของนักศึกษาและเป็นศูนย์ข้อมูลในระดับภูมิภาค ซึ่งจากเดิมมีอยู่แล้ว 10 ศูนย์ และมีการจัดตั้งขึ้นใหม่เพิ่มอีก 8 ศูนย์ รวมเป็น 18 ศูนย์ ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 6 ภาคทั่วประเทศ ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ที่เน้นการบูรณาการเชิงพื้นที่

นอกจากนี้การพัฒนาระบบการจัดการศึกษาทางไกลและการขยายศูนย์กลางทางการศึกษาในพื้นที่กลุ่มจังหวัดแล้ว มสธ.ยังต้องมีการการพัฒนาบุคลากรทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นพลังแห่งการขับเคลื่อนนโยบายการปฏิรูปไปสู่การปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ และจากวิกฤตซ้อนวิกฤตในสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่กำลังระบาดอยู่ในปัจจุบันก็ยิ่งส่งผลกระทบต่อการจัดการศึกษาทางไกลของมสธ. เพิ่มมากขึ้น จึงถือว่าทำให้มหาวิทยาลัยมีโอกาสในการปรับเปลี่ยนและปรับปรุงเพื่อปรับโฉมการศึกษาทางไกลในรูปแบบใหม่ เพื่อให้เหมาะสมและเอื้อต่อการจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์ปัจจุบัน จากเดิมใช้สื่อหลักเปลี่ยนมาใช้สื่อเสริมแทน ปรับชุดวิชาให้เป็นบทเรียนออนไลน์และปรับระบบการสอบในสนามสอบเป็นการสอบออนไลน์

บทสรุปจากการปฏิรูปการศึกษาและนำไปสู่การปฏิบัติที่สอดคล้องตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี: ประเทศไทย 4.0 โดยการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสเพื่อสร้างคน สร้างองค์ความรู้ และสร้างนวัตกรรมให้นำไปสู่การสร้างโอกาส ความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางการศึกษาให้กับสังคมได้อย่างยั่งยืนตลอดไป