พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เป็นพระมหากษัตริย์และพระราชินีจากสยามพระองค์แรกที่เสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ.2474 สำหรับเส้นทางการเสด็จฯ เยือนต่างประเทศมี 3 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น แคนาดา และสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 6 เมษายน – 28 กันยายน 2474
การเสด็จฯเยือนสหรัฐอเมริกา นอกจากภารกิจส่วนพระองค์เพื่อทรงผ่าตัดต้อกระจกในพระเนตรซ้าย ซึ่งการผ่าตัดประเภทนี้ยังรักษาในประเทศไทยไม่ได้ ยังทรงถือโอกาสปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่สำคัญในการเจริญสัมพันธไมตรี และทรงศึกษากิจการงานความเจริญก้าวหน้าด้านต่างๆ ในคราวเดียวกันด้วย โดยได้เสด็จฯ ถึงมลรัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2474 และได้ประทับแรมที่คฤหาสน์โอฟีร์ฮอลล์ รัฐนิวยอร์ก ซึ่งเป็นที่ประทับในการเข้ารับการผ่าตัดพระเนตร ถวายการรักษาโดยนายแพทย์จอห์น เอ็ม วีเลอร์ (Dr. John M. Wheeler) เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2474
ตลอดระยะเวลาที่ประทับ ณ สหรัฐอเมริกา ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจสำคัญ ได้แก่
- 29 เมษายน 2474 เสร็จเดินทางไปเยี่ยมประธานาธิบดีเฮอร์เบิร์ต ฮูเวอร์ (Herbert Clark Hoover) และภริยา ณ ทำเนียบขาว กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. โดยในเย็นวันเดียวกันรัฐบาลสหรัฐฯ จัดงานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำรับเสด็จ
- 30 เมษายน 2474 มหาวิทยาลัยยอร์ช วอชิงตัน (George Washington University) ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. จัดพิธีถวายปริญญากิตติมศักดิ์สาขานิติศาสตร์แด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเฉลิมพระเกียรติในพระปรีชาสามารถทางรัฐประศาสนโยบาย เป็นปริญญาทางวิชาการฉบับแรกที่ทรงได้รับ
- 17 กรกฏาคม 2474 หลังจากการผ่าตัดพระเนตร เสด็จฯ เยือนวิทยาลัยทหารบกเวสต์พอยต์ (West Millitary Academy) ทอดพระเนตรอาคารต่างๆ และทรงตรวจพลสวนสนามของนักเรียนนายร้อย ซึ่งมีนักเรียนนายร้อยชาวไทย 2 ท่าน ที่ได้รับอนุมัติให้เข้าศึกษาโดยสภาคองเกรสสหรัฐเป็นกรณีพิเศษ
นอกจากนี้ ได้เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ อาทิ ทรงเยี่ยมห้องทดลองของบริษัทเอดิสัน เยเนอรัล อีเลกทริค จำกัด และทรงเยี่ยมนาย Thomas A. Edison ประทับในยานอากาศลอสแอนเจอลีส ทอดพระเนตรรัฐนิวยอร์ค ทอดพระเนตรละครที่โรงละครแมนสทิลด์ เสด็จฯ ตึกเอ็มไพร์สเตท ทรงเยี่ยมชมกิจการหนังสือพิมพ์นิวยอร์ค เฮราลด์ ทริบูน เสด็จฯ ลอง ไอส์แลนด์ เพื่อทอดพระเนตรการแข่งขันโปโล และทรงเยี่ยมโรงถ่ายภาพยนตร์ของบริษัทพาราเมาท์
นิตยสาร Time อัญเชิญพระบรมสาทิสลักษณ์ รัชกาลที่ 7 ขึ้นปก
การเสด็จฯ เยือนสหรัฐอเมริกา ในครั้งนั้น สื่อมวลชนต่างๆ ให้ความสำคัญกับพระมหากษัตริย์ไทย ได้ลงข่าวการเสด็จฯ ตั้งแต่ก่อนไปถึงให้แก่ชาวอเมริกันได้ทราบเป็นระยะๆ เนื่องด้วยยังมีชาวอเมริกันส่วนน้อยที่รู้จักราชอาณาจักรสยาม รัฐบาลสหรัฐให้ความสำคัญต่อประเทศไทยเป็นอย่างมาก เห็นได้จากการจัดการรับเสด็จอย่างสมพระเกียรติ และประธานาธิบดีฮูเวอร์ ได้ส่งสาส์นกราบบังคมทูลว่า
“ในนามแห่งข้าพเจ้าเอง และในนามแห่งเพื่อนข้าราชการของข้าพเจ้าทั้งหลาย ข้าพเจ้าขอแสดงความหวังดีต่อพระองค์และพระบรมราชินีของพระองค์ และขอให้พระองค์ทรงแน่พระทัยว่า การเสด็จเยี่ยมของพระองค์ในครั้งนี้เป็นการส่งเสริมมิตรภาพระหว่างสยามกับสหรัฐอเมริกาให้แน่นกระชับยิ่งขึ้นอีก” (The Eagle and the Elephant…, p.55)
นิตยสารไทม์ (Time) ได้อัญเชิญพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นหน้าปกนิตยสาร ฉบับ 20 เมษายน 2474 ปีพิมพ์ที่ 17 ฉบับที่ 16 และลงบทความข่าวในคอลัมน์ WORLD เรื่อง “SIAM: Mighty Monarch”
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานสัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนอเมริกันหลายฉบับ ณ ที่ประทับโอฟีร์ ฮอลล์ ในประเด็นการเมืองการปกครอง และได้ทรงถือโอกาสนั้นแสดงถึงพระราชปณิธานอย่างชัดเจนว่า มีพระราชดำริที่จะให้ประชาชนชาวไทยได้มีส่วนร่วมในการปกครองประเทศตามระบบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นการชี้ชัดว่า พระองค์ทรงมีพระราชหฤทัยมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมและสนับสนุนระบอบประชาธิปไตย บทสัมภาษณ์ดังกล่าวนับเป็นข่าวใหญ่ในประเทศไทย โดยหนังสือพิมพ์ไทยใหม่ได้นำพระราชดำรัสมาตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษและแปลเป็นภาษาไทย
การเสด็จประพาสของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เยือนประเทศอเมริกา แคนาดา และญี่ปุ่น เมื่อปี พ.ศ.2474 หอภาพยนตร์(องค์การมหาชน) ได้จัดทำภาพยนตร์เสียง ซึ่งอนุรักษ์จากต้นฉบับฟิล์มไนเตรทของบริษัทฟอกซ์ ที่ได้ส่งเข้ามาถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ในเวลานั้น
เอกสารอ้างอิง
ธีระ นุชเยี่ยม. (2559). ตัวตนใหม่ของสยามในโลกา : การต่างประเทศในสมัยรัชกาลที่ 7. กรุงเทพฯ : มูลนิธิประชาธิปก-รำไพพรรณี.
สถาบันพระปกเกล้า. (2558). ปกเกล้าธรรมราชา บทสารคดีเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ : สถาบัน.
หจก.สตูดิโอ ไดอะล็อก. (2561). ประชาธิปก พระบารมีปกเกล้า. กรุงเทพฯ : บริษัทพิพิธภัณฑ์สิงห์.
เรียบเรียงโดย
รัชกร คงเจริญ บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม:
หน่วยสนเทศสุโขทัยศึกษา ฝ่ายบริการสนเทศ
02-504-7467-68
libinfoservice@stou.ac.th