บรรณสารฯ ติดเล่า Podcast EP. 5 พระแม่โพสพ

สวัสดีครับยินดีต้อนรับเข้าสู่รายการบรรณสารฯ ติดเล่า Podcast EP. 5 ฤดูฝนที่ชุ่มฉ่ำแบบนี้เป็นช่วงเวลาแห่งการเพราะปลูกของเหล่าเกษตรกร อาชีพเก่าแก่ที่อยู่คู่กับสังคมกสิกรรมบ้านเรามาอย่างยาวนาน พืชที่เป็นเหมือนมาสคอตสำคัญและสัญลักษณ์ของเกษตรก็คือ “ข้าว” พืชที่เป็นอาหารหลักของชาวไทยมาอย่างยาวนาน

ความยาวนานของข้าวนี่เองที่ทำให้เกิดพิธีกรรมและประเพณีต่าง ๆ มากมาย อีกทั้งยังมีเทพเจ้าแห่งข้าวที่ได้รับการเคารพนับถือเป็นอย่างมาก ซึ่ง EP. เราก็จะได้นำเรื่องราวของข้าว มาเล่าให้ทุกท่านได้ฟังกัน แต่ก่อนจะเล่าเรื่องเทพเจ้าแห่งข้าว มารู้จักกับหนังสือและแหล่งข้อมูลที่ใช้ในวันนี้ก่อนเลยครับ  

  • วัฒนธรรมข้าวไท โดย ทองแถม นาถจำนง 
  • วัฒนธรรมข้าว: พิธีกรรมเกี่ยวกับข้าวและการทำนา เทคโนโลยีของอดีต ประเพณีในปัจจุบัน ตำนานแห่งอนาคต โดย เอี่ยม ทองดี. 
  • บทความวารสารมติชนสุดสัปดาห์ เรื่องพระแม่โพสพ และเทพีศรี ผีแม่ข้าวอุษาคเนย์ ที่ถูกบวชให้เป็นพราหมณ์ โดย ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ 
  • บทความวารสารวิชาการเกษตร พิธีกรรมทำขวัญข้าวกับวิถีเกษตรกรรมที่เปลี่ยนไป โดย ณฐิตากานต์ พยัคฆา และกิติศักดิ์ ทองมีทิพย์ 

ถ้าพูดถึงเทพเจ้าแห่งข้าวผมเชื่อเลยล่ะครับว่าหลาย ๆ ท่านต้องคิดถึง พระแม่โพสพ เทพีแห่งข้าวที่เหล่าชาวนานับถือบูชากันเป็นอย่างมาก และเป็นเทพเจ้าที่ได้รับการนับถือจากชาวนาในทุกภูมิภาค ไม่ว่าจะภาคเหนือ กลาง อีสาน ใต้ ก็ล้วนแต่มีตำนานและเรื่องราวของพระแม่โพสพทั้งสิ้น เรียกได้ว่าเป็นเทพที่ป๊อปปูล่าและเป็นที่รู้จักกันไปทั่วประเทศเลยทีเดียว ตำนานของพระแม่โพสพมีอยู่ว่า…. 

https://www.pinterest.com/pin/644648134164162595

แม่โพสพเป็นเทวีแห่งข้าวมีพาหนะเป็นปลากรายทอง ในวันหนึ่ง ณ เมืองไพรสาลี สโมสรสันนิบาตมนุษย์ได้ปรึกษากันว่าระหว่างพระพุทธเจ้าและแม่โพสพ ผู้ใดเป็นผู้ที่มีคุณประโยชน์มากกว่ากัน ซึ่งต่างกราบทูลว่าคุณบารมีของพระพุทธเจ้านั้น มีมากกว่าแม่โพสพ ครั้นเมื่อแม่โพสพได้ฟังเช่นนั้น แม่โพสพจึงคิดน้อยใจทั้งที่ตนนั้นปกปักรักษามนุษย์อยู่ อีกทั้งยังดลบันดาลให้มนุษย์มีข้าวปลาอาหารกินอย่างอุดมสมบูรณ์ แต่มนุษย์ไม่เห็นความดีของตน แม่โพสพจึงได้หนีไปยังป่าหิมพานต์ ณ เขาคิชฌกูฏ  

และเมื่อแม่โพสพหนีจากไป โลกมนุษย์ก็เกิดความอดอยากขึ้น ทำไร่ไถนาก็มิได้ผลผลิตเท่าที่ควร เหล่ามนุษย์จึงชวนกันไปเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อขอความช่วยเหลือ พระพุทธเจ้าจึงโปรดให้พระมาตุลีไปเชิญแม่โพสพกลับมา โดยพระมาตุลีนั้นได้ตามแม่โพสพไปถึงภูเขาทบกัน ทำให้ไม่สามารถเดินทางต่อไปได้พระมาตุลีจึงใช้ให้ปลาสลาดไปตามแม่โพสพต่อจนพบทั้งนี้ ปลาสลาดได้ทำการกล่าวถึงปัญหาต่าง ๆ ที่มนุษย์ประสบพบเจอให้แม่โพสพได้รับฟัง และอ้อนวอนขอให้แม่โพสพกลับคืนสู่โลกอีกครั้ง ฝ่ายแม่โพสพจึงตอบกลับไปว่า “อยู่ที่นี่เราสบายถ้าจะไปใจแม่หายเพราะเขาไม่รู้บุญคุณ แม่จะให้แต่เมล็ดข้าวไปดูแลฝูงคน เมื่อเก็บเกี่ยวพึ่งนึกถึงเรา เราจะไปปีละหน ตรวจดูผู้คนเก็บเกี่ยวแล้วให้ทำขวัญข้าว”  

หลังจากนั้น แม่โพสพจึงได้มอบเมล็ดข้าวจำนวน 7 เมล็ด ไปทำพันธุ์ข้าวสำหรับเพาะปลูก และแม่โพสพยังกำชับด้วยว่า หากมนุษย์ทำไร่ไถนาและเมื่อเข้าใกล้เวลาเก็บเกี่ยวก็ให้จัด “พิธีทำขวัญข้าว” ปลาสลาดก็ลากลับมาเล่าให้พระมาตุลีฟังตามคำแม่โพสพ พระมาตุลีจึงรับเมล็ดข้าวแล้วเหาะกลับไปเมืองไพรสาลี  

แต่ในระหว่างทางขณะที่พระมาตุลีหยุดพักอาบน้ำ ได้มีนกกระจาบมาขโมยเมล็ดข้าวสองเมล็ดแล้วบินหนีไป ข้าวทั้งสองเมล็ดนั้นได้ตกลงมายังโลกมนุษย์และกลายเป็นข้าวผี (วัชพืชนาข้าว) พระมาตุลีนำเมล็ดพันธุ์ข้าวส่วนที่เหลือไปถวายพระพุทธเจ้า จากนั้นพระพุทธเจ้าจึงเรียกมนุษย์มาพร้อมกันและทรงอธิบายให้มนุษย์ฟังพร้อมด้วยนำเมล็ดพันธุ์ข้าวให้แก่มนุษย์  ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา เมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยวข้าว มนุษย์จะมีพิธีกรรมทำขวัญเชิญแม่โพสพเป็นประจำทุก ๆ ปี ฟังจากตำนานแล้วมีการกล่าวถึงพระพุทธเจ้าด้วย แสดงว่าพระแม่โพสพนั้นต้องเป็นเทพในศาสนาพุทธอย่างแน่เลย 

ลองฟังที่มาของชื่อโพสพกันต่ออีกสักหน่อยครับ เทพแห่งธรรมชาติส่วนใหญ่จะมีชื่อที่ความหมายเดียวกับสิ่งที่ตนเองเป็นเทพประจำ เช่น “พระเพลิง” ชื่อของท่านแปลว่าไฟ “พระแม่ธรณี” ชื่อของท่านแปลว่าดิน แต่ “พระแม่โพสพ” ชื่อของท่านกลับไม่ได้แปลว่าข้าว มีข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับที่มาของชื่อมากมายครับ แต่ข้อสันนิษฐานหนึ่งที่ผมรู้สึกคล้อยตามคือ คำว่า “โพสพ” มาจากคำว่า “ไพศรพณ์” ซึ่งมาจาก คำว่า ไวศฺรวณ ในภาษาสันสกฤติ ซึ่งเป็นชื่อหนึ่งของท้าวเวสสุวรรณ หนึ่งในสี่ของท้าวจตุโลกบาล โดยประจำอยู่ทางทิศเหนือ ในสวรรค์ชั้นแรกซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาวงแหวนยุคนธร ที่มีชื่อว่าจาตุมหาราชิกา  

โดยทั้งในศาสนาพุทธ และศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ถือว่าเทพเจ้าองค์นี้เป็นเทพผู้พิทักษ์ทรัพย์ในดินสินในน้ำ เป็นเทพแห่งความมั่งคั่งและความอุดมสมบูรณ์ พระแม่โพสพจึงเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์พื้นเมืองที่ในอดีตอาจจะเป็นขวัญข้าว ผีข้าวตามความเชื่อพื้นเมือง เมื่อศาสนาพุทธศาสนาพราหมณ์-ฮินดูเข้ามาในพื้นที่ จึงมีการยืมชื่อของเทพแห่งความสมบูรณ์มาใช้ ผูกตำนานเข้ากับพุทธประวัติให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ของเทพ หรือผีที่ตนให้ความเคารพนับถือในฐานะแม่แห่งข้าวผู้หล่อเลี้ยงชีวิต 

เรื่องราวของพระเเม่โพสพทำให้เห็นถึงความหลากหลายและความเปิดกว้างทางด้านศาสนาและความเชื่อของคนในสังคมไทย อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงการที่ชาวนาให้ความสำคัญต่อผลผลิตทางการเกษตรให้ความเคารพต่อธรรมชาติโดยยกย่องให้ ข้าวเป็นเทพเจ้า รวมถึงเป็นการสร้างกุลศโลบายให้คนรู้คุณค่าของข้าว พืชผลทางการเกษตรที่สำคัญและหล่อเลี้ยงชีวิตของคนไทย 

เรียบเรียง: โยธิน ครุธพันธ์ (บรรณารักษ์)

อ้างอิง