บรรณสารฯ ติดเล่า Podcast EP. 6 ไม้มงคลจากความเชื่อสู่ช่องทางธุรกิจ และคุณภาพสิ่งแวดล้อม

สวัสดีครับ ยินดีต้อนรับเข้าสู่รายการบรรณสารติดเล่า Podcast EP 6 พบกับผมโย โยธิน ครุธพันธ์ บรรณารักษ์จากสำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในวันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปี ถือเป็นวันสิ่งแวดล้อม วันที่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อให้พวกเราทุกคนได้ตระหนักรู้และให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม รายการบรรณสารติดเล่าEPนี้จึงขอหยิบเอาเรื่องของสิ่งแวดล้อมประเภทต้นไม้มาเล่าให้ทุกท่านได้ฟังกัน ในหัวข้อ “ไม้มงคลจากความเชื่อสู่ช่องทางธุรกิจ และคุณภาพสิ่งแวดล้อม”

สังคมไทยเป็นสังคมที่ใส่ใจในเรื่องโชค ดวง อยู่ไม่น้อย จะทำอะไรหรือจะนำอะไรมาไว้กับตัวก็ต้องพิถีพิถันกันอยู่มาก เพื่อให้สิ่งเหล่านั้นนำมาซึ่งความดีงามและนำความผาสุกมา หรือที่เรียกกันว่า ความมงคล เช่นสีมงคล ฤกษ์มงคล ชื่อมงคล รวมถึง ไม้ที่นำมาใช้เป็นวัสดุของสิ่งสำคัญในชีวิตประจำวันก็ต้องเป็นไม้ที่มีชื่ออันมงคล ดังที่ปรากฏในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผนวรรณคดีที่สะท้อนวิถีชีวิตของชาวบ้านในอดีตได้เป็นอย่างดี ของวิเศษที่ทำให้ขุนแผนมีฤทธานุภาพ เป็นพระเอกจอมขมังเวทคนหนึ่งในวรรณคดีไทยก็มีการใช้พืชและไม้ที่เป็นมงคลเป็นส่วนหนึ่งในพิธี เช่น กุมารทองของวิเศษขึ้นชื่อของขุนแผนก็มีการนำไม้มงคลมาใช้ประกอบพิธีดังปรากฏในบทประพันธ์ว่า

“เอาไม้ชัยพฤกษ์พระยายา ปักเป็นขาพาดกันกุมารวาง
ยันต์นารายณ์แผลงฤทธิ์ปิดศีรษะ เอายันต์ราชะปะพื้นล่าง
ยันต์นารายณ์ฉีกอกปกปิดกลาง ลงยันต์นางพระธรณีที่พื้นดิน
เอาไม้รักปักเสาขึ้นสี่ทิศ ยันต์ปิดปักธงวงสายสิญจน์
ลงเพดานยันต์สังวาลอมรินทร์ ก็พร้อมสิ้นในตำราถูกท่าทาง
เอาไม้มะริดกันเกราเถากันภัย ก่อชุดจุดไฟใส่พื้นล่าง
ตั้งจิตรสนิทดีไว้ที่ทาง ภาวนานั่งย่างกุมารทอง
สังเกตุได้ว่าแม้แต่ถ่านที่ใช้จุดไฟในพิธีก็ต้องเป็นไม้ที่มีชื่ออันมงคล

ของวิเศษอีกประการหนึ่งคือ ดาบฟ้าฟื้น ดาบคู่กายของขุนแผนเองตัวด้ามก็ทำจากไม้ชัยพฤกษ์ ซึ่งถือว่าเป็นไม้มงคล มีชื่อที่แสดงถึงความมีชัยชนะ ความเชื่อเรื่องไม้มงคลเปลี่ยนแปลงไปตามยุคตามสมัย และการใช้งาน เช่น ในอดีตกล้วยไม้ไม่เป็นที่นิยม เพราะเมื่อผวนคำจาก “กล้วยไม้” จะกลายเป็น “ใกล้ม้วย” ที่แปลว่าใกล้ตายนั่นเอง แต่ปัจจุบันกลายเป็นดอกไม้ที่นิยมทั้งปลูกและประดับอยู่ทั่วไป การปลูกต้นไม้มีอยู่ด้วยกันหลายตำรา เช่น ไม้มงคลประจำทิศ ไม้มงคลประจำวันเกิด ซึ่งน่าสนใจมากเลยอดไม่ได้ที่จะเล่าให้ทุกท่านได้ฟังกัน สำหรับไม้มงคลประจำวันเกิดทั้ง 7 มีดังนี้ครับ

คนเกิดวันจันทร์ เป็นคนนุ่มนวล มีเสน่ห์ ไม้มงคลที่เหมาะกับคนวันจันทร์ได้แก่ โกสน กวนอิม มะม่วง โป๊ยเซียน ว่านเสน่ห์จันทร์ขาว มะลิ บัว พยับหมอก

คนเกิดวันอังคาร เป็นคนใจร้อน ชอบอิสระ จริงใจ ควรปลูก กุหลาบ ชบา เข็ม อัญชัน โกสน โป๊ยเซียน

คนเกิดวันพุธ พูดจาเปิดเผยตรงไปตรงมา มีความตั้งใจสูง ควรปลูก กวนอิม เงินไหลมา วาสนา ชบา กุหลาบ โป๊ยเซียน กล้วย ราชพฤกษ์

คนเกิดวันพฤหัสบดี มีสติปัญญาหลักแหลม ใฝ่หาความรู้ ควรปลูก วาสนา มะลิ พุด ว่านถุงเงินถุงทอง จำปี กุหลาบ

คนเกิดวันศุกร์ พูดจาอ่อนหวาน เอาใจเก่ง ควรปลูก ต้นใบเงิน ใบทอง ว่านกวักแม่ทองคำ ว่านมหาลาภ

คนเกิดวันเสาร์ เป็นคนห้าวหาญ ชอบแสวงหาอะไรใหม่ ๆ ควรปลูก ไผ่ วาสนา มะลิ

คนเกิดวันอาทิตย์ เป็นคนใจกว้าง ชอบช่วยเหลือ ควรปลูก เฟื่องฟ้า เสน่ห์จันทร์แดง ออมเพชร ว่านแสงอาทิตย์

ปัจจุบันมีต้นไม้มงคลชื่อเพราะ ๆ หลายชนิด ไม้มงคลบางอย่างมีส่วนช่วยในการฟอกอากาศ และปัจจุบันนี้กระแสไม้มงคลก็กลายเป็นที่นิยมปลูกกันอย่างแพร่หลาย บางคนปลูกตามความชอบ บางคนปลูกตามความเชื่อ บางคนปลูกเพื่อธุรกิจ แต่ผลจากความเชื่อในเรื่องการปลูกต้นไม้มงคลนี้ ความคิดของผมคิดว่ามันคือส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในเรื่องของสภาพอากาศถึงแม้ว่าการปลูกไม้มงคลของแต่ละท่านจะไม่ได้ปลูกในปริมาณที่มาก แต่ก็มีส่วนในเรื่องของสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมที่ดีอยู่ไม่น้อย และยังเรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งที่มีส่วนร่วมในแผนพัฒนาที่ยั่งยืนของโลกด้านสิ่งแวดล้อม ถึงเป็นส่วนย่อยเล็ก ๆ ที่เกิดจากเรา แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้โลกเรายังเกิดพื้นที่สีเขียว

ภาพจากเว็บไซต์ https://sdgs.un.org/goals

หากได้กล่าวถึงแผนพัฒนายั่งยืนโลกหลายคนที่อาจจะไม่รู้ในความหมายของมัน ซึ่งในหน้าเว็บไซต์ของ Sustainable Development Goals (SDGs) ได้ให้ความหมายไว้การพัฒนาที่ยั่งยืนไว้ว่า แนวทางการพัฒนาที่ตอบสนองความต้องการของคนรุ่นปัจจุบัน โดยไม่ลิดรอนความสามารถในการตอบสนองความต้องการของคนรุ่นหลัง (Brundtland Report, 1987) โดยการบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืน มีองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ การเติบโตทางเศรษฐกิจ (economic growth) ความครอบคลุมทางสังคม (social inclusion) และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (environmental protection) จะเห็นได้ว่าแผนนี้ไม่ได้มีเพียงด้านสิ่งแวดล้อม ยังมีในด้านของสังคมและเศรษฐกิจ โดยมีเป้าหมาย 17 เป้าด้วยกัน คือ

เป้าหมายที่ 1: ขจัดความยากจน (No Poverty)
เป้าหมายที่ 2: ขจัดความหิวโหย (Zero Hunger)
เป้าหมายที่ 3: การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Good Health And Well-Being)
เป้าหมายที่ 4: การศึกษาที่เท่าเทียม (Quality Education)
เป้าหมายที่ 5: ความเท่าเทียมทางเพศ (Gender Equality)
เป้าหมายที่ 6: การจัดการน้ำและสุขาภิบาล (Clean Water and Sanitation)
เป้าหมายที่ 7: พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ (Affordable and Clean Energy)
เป้าหมายที่ 8: การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ (Decent Work and Economic Growth)
เป้าหมายที่ 9: อุตสาหกรรม นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน (Industry, Innovation and Infrastructure)
เป้าหมายที่ 10: ลดความเหลื่อมล้ำ (Reduced Inequality)
เป้าหมายที่ 11: เมืองและถิ่นฐานมนุษย์อย่างยั่งยืน (Sustainable Cities and Communities)
เป้าหมายที่ 12: แผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน (Responsible Consumption and Production)
เป้าหมายที่ 13: การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Action)
เป้าหมายที่ 14: การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล (Life Below Water)
เป้าหมายที่ 15: การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบก (Life on Land)
เป้าหมายที่ 16: สังคมสงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยก (Peace and Justice Strong Institutions)
เป้าหมายที่ 17: ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Partnerships to achieve the Goal)

และนี่ก็คือเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทุกคนสามารถเป็นหนึ่งในคนที่มีส่วนร่วมทำให้เกิดการพัฒนาได้ ครั้งหน้ารายการบรรณสารติดเล่าจะนำเรื่องอะไรมาเล่าให้ทุกท่านได้ฟังก็สามารถติดตามกันได้ทุกวันที่ 1 และวันที่ 16 ของทุกเดือน วันนี้ต้องขอลาไปก่อน สวัสดีครับ

เรียบเรียง: โยธิน ครุธพันธ์ (บรรณารักษ์)