บรรณสารฯ ติดเล่า Podcast EP. 7 สุนทร (ภู่) 

สวัสดีครับยินดีต้อนรับเข้าสู่รายการ บรรณสารฯ ติดเล่า Podcast EP.7 พบกับผมโยโยธิน ครุธพันธ์ บรรณารักษ์จากสำนักบรรณสารสนเทศ มสธ.

ในวันที่ 26 มิถุนายนถือเป็นวันสุนทร (ภู่) หรือพระสุนทรโวหาร กวีชื่อดังของคนไทยที่เรียกได้ว่าเป็นสามัญชนคนแรกที่ได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านวรรณกรรม โดยองค์กรยูเนสโก้ ซึ่งถ้าพูดถึงผลงานของมหากวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว ผลงานที่โดดเด่นและเป็นที่รู้จักกันอย่างมากเห็นจะเป็นนิทานคำกลอนเรื่อง พระอภัยมณี ซึ่งได้รับการยกย่องการวรรณคดีสโมสรให้เป็นสุดยอดวรรณคดีไทยประเภทกลอนนิทาน เป็นวรรณคดีที่มีข้อคิดเตือนใจทั้งเรื่องสังคมและความรัก เช่น

แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์
มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด
ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด
ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน


การนินทากาเลเหมือนเทน้ำ
ไม่ชอกช้ำเหมือนเอามีดลงขีดหิน


เขาย่อมเปรียบเทียบความว่ายามรัก
แต่น้ำผักต้มขมชมว่าหวาน
ครั้นจืดจางห่างเหินไปเนิ่นนาน
แต่น้ำตาลก็ว่าเปรี้ยวไม่เหลียวแล


ทั้งหมดนี่ล้วนเป็นคำกลอนมาจากวรรณคดีเรื่องพระอภัยมณี เพื่อเป็นการรำลึกถึงสุนทร (ภู่) วันนี้เลยหยิบเอาเกร็ดสนุก ๆ ในวรรณคดีเรื่องพระอภัยมณีมาเล่าให้ทุกคนฟังกัน กับเรื่องราวของ นางวาลี สนมเอกพระอภัย ผู้มีสติปัญญางดงามกว่ารูปร่างหน้าตา

นางวาลีเป็นหญิงชาวบ้านที่กำพร้าหน้าตาอัปลักษณ์ อาศัยอยู่กับตายายจนอายุ 34 ก็ไม่มีคู่ จนวันหนึ่งพระอภัยมณีได้ครองเมืองและประกาศรับสมัครคนเข้ารับราชการ นางผ่านการสัมภาษณ์งานจากพระอภัยมณีชนิดที่ว่าผ่านฉลุย นางตอบได้อย่างชาญฉลาดจนถูกใจผู้บริหารอย่างองค์พระอภัย ตำแหน่งที่นางขอคือ ขอเป็นเมียพระอภัย ซึ่งความฉลาดพูดจนพระอภัยมองข้ามรูปลักษณ์ภายนอกไปเจอสติปัญญาที่งดงามอยู่ภายใน จึงยกให้นางเป็นพระสนมเอก นางใช้ปัญญาช่วยงานพระอภัยมณีอยู่หลายครั้ง เช่น วางแผนให้พระอภัยได้แต่งงานกับคนรัก

และเหตุการณ์สำคัญที่พึ่งพาปัญญาของนางวาลีคือเมื่อบ้านเมืองต้องเจอกับศึกสงคราม นางวาลีผู้นี้เองคือผู้วางแผนในการรบ อีกทั้งยังขี่ม้ายิงธนูสู้กับข้าศึก ซึ่งยุทธวิธีทางการรบของนางวาลีก็ทำเอากองทัพผู้ชายอกสามศอกพ่ายแพ้แตกกระจายหนีไปไม่เป็นกระบวน ซึ่งในตอนนั้นพระอภัยมณีดันติดหนี้บุญคุณของศัตรูมาแต่ก่อนเก่าจึงจะรักษาให้เขาหายและให้เขากลับไปบ้านเมืองตัวเอง

นางวาลีผู้มีวิสัยทัศน์ไกลเห็นว่าการปล่อยศัตรูไปก็มีแต่จะกลับมาทำร้ายพระอภัยมณีเอง นางจึงทำการใช้สติปัญญาและฝีปาก เยาะเย้ย ถากถาง พูดจาเสียดสีดูหมิ่นจนศัตรูของพระอภัยมณีถึงแก่ความตายด้วยฝีปากนางวาลี แต่นางวาลีเองก็ตายเพราะถูกผีของคนที่ตายเพราะปากนางเช่นเดียวกัน เป็นอันปิดฉากนางสนมเอกผู้ที่ฉลาดจนเอาชนะกองทัพผู้ชายและฆ่าคนตายด้วยปากได้

จากเรื่องราวของนางวาลีสะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติของสุนทรภู่ที่ยกย่องความสามารถของผู้หญิงขนาดให้เป็นผู้ให้คำปรึกษาและวางกลศึกต่อพระมหากษัตริย์ รวมทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติที่ยกย่องคนที่สติปัญญาและความสามารถมากกว่ารูปลักษณ์ภายนอก

เรียบเรียง: โยธิน ครุธพันธ์ (บรรณารักษ์)