บรรณสารฯ ติดเล่า Ep.8 ดอกไม้งาม ปาริชาต เสลา สุพรรณิกา

ต้นปาริชาติเป็นไม้ยืนต้น ใบประกอบแบบขนนกมีใบย่อย 3 ใบ ใบสีเขียวมีเส้นใบสีเหลือง สอดคล้องกับสีประจำมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

สวัสดีครับ ยินดีต้อนรับเข้าสู่รายการบรรณสารฯ ติดเล่า Ep.8 พบกับผม โย โยธิน ครุธพันธ์ บรรณารักษ์จากสำนักบรรณสารสนเทศ มสธ.

ดอกไม้เป็นสิ่งที่มีความมหัศจรรย์อยู่ในตัว เช่น กลิ่น หรือสีที่เป็นเอกลักษณ์ นอกจากนั้นดอกไม้ยังมีลูกเล่นในตัวเอง เช่น ดอกสายหยุด จะส่งกลิ่นหอมอย่างมากในเวลาเช้า แต่เมื่อเวลาสายก็จะหยุดส่งกลิ่นทันที จนกลายเป็นที่มาของดอกสายหยุด ดอกไม้ที่คนตื่นสายจะไม่มีทางได้สัมผัสกับกลิ่นของเขาเลย

ดอกสายหยุด
ดอกสายหยุด จากเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเกษตรศาตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน

หรือดอกพุดตานดอกไม้ที่ใน 1 วันจะเปลี่ยนสีดอกไปถึง 3 สี เช้า 1 สี กลางวัน 1 สี ตกเย็นก็เป็นอีก 1 สี นอกจากนี้ยังมีดอกไม้ที่มีความมหัศจรรย์อีกหลากหลายพันธุ์ และวันนี้ผมก็มีเรื่องดอกไม้ชนิดหนึ่งที่มีความมหัศจรรย์มาเล่าให้ทุกท่านได้ฟัง นั่นก็คือ ต้นปาริชาต ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

ต้นปาริชาต หรือต้นทองหลาง

ต้นปาริชาต หรือต้นทองหลาง มีด้วยกันหลายสายพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็น ทองหลางฮ่องกง ทองหลางน้ำ ทองหลางป่า ทองหลางดอกขาว และทองหลางลาย

ใบปาริชาติ ปาริฉัตร ทองหลางลาย
ปาริชาติ ปาริฉัตร ทองหลางลาย จากเว็บไซต์สมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย

ปาริชาตเป็นไม้ยืนต้น ใบประกอบแบบขนนกมีใบย่อย 3 ใบ ใบสีเขียวมีเส้นใบสีเหลือง ดอกเป็นช่อขนาดใหญ่ออกที่ปลายกิ่ง ดอกรูปถั่ว กลีบดอกโค้งสีแสด แดง หรือขาว ดอกทยอยบานจากโคนไปหาปลายช่อ ออกดอกระหว่างเดือนธันวาคม – กุมภาพันธ์ พบได้ในประเทศ จีน อินเดีย ภูมิภาคอินโดจีน และในไทยทุกภูมิภาค

สำหรับประโยชน์ปลูกเป็นไม้ประดับ ใบแก่สดรมควันและชุบน้ำสุก ปิดรักษาแผลบวมเป็นหนอง ใบคั่วทำยาเย็น ดับพิษ บดทาแก้ข้อบวม ซึ่งด้วยลักษณะใบของปาริชาตที่มีสีเขียวและเหลืองจึงสอดคล้องกับสีประจำมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

ต้นปาริชาตบริเวณลานปาริชาตด้านหน้าห้องสมุด มสธ. นนทบุรี
ต้นปาริชาตจำนวนมากอยู่บริเวณลานปาริชาตด้านหน้าห้องสมุด มสธ.

ปาริชาต ดอกไม้แห่งสรวงสวรรค์

สำหรับความมหัศจรรย์ของปาริชาตอยู่ที่ตำนาน เพราะปาริชาตเป็นต้นไม้ที่เชื่อว่าเป็นดอกไม้แห่งสรวงสวรรค์ เรื่องราวของปาริชาตนั้นปรากฏในวรรณกรรมไทยมากมาย ในไตรภูมิพระร่วงได้บรรยายไว้ว่า ต้นปาริชาตเป็นต้นไม้ใหญ่ที่อยู่ในสวนสวรรค์ที่มีชื่อว่า “บุญฑริกวัน” ต้นสูง 800,000 วา หรือประมาณ 1,600 กม.

ดอกของปาริชาต 100 ปีจะบาน ตอนใกล้จะบานจะมีเทวดาผลัดเปลี่ยนกันมาเฝ้ารอให้ดอกบาน เมื่อดอกบานครบทุกกิ่งจะส่องแสงไปไกล 800,000 วา ส่งกลิ่นหอมไปถึง 800,000 วา เมื่อเทวดาประสงค์จะได้ดอกปาริชาตก็เอาภาชนะไปรองดอกก็จะลอยมาตกยังที่ที่ต้องการ หากยังไม่มีใครรับก็จะพัดดอกไม้เหล่านั้นเข้าไปในสุธรรมาเทวสภาคยศาลา ซึ่งเป็นศาลาประจำสวน เมื่อดอกปาริชาตนั้นเหี่ยวแล้ว ก็จะมีลมจำพวกหนึ่งมาพัดดอกไม้นั้น ออกไปจากสุธรรมาเทวสภาคยศาลานั้น

ในวรรณคดีเรื่อง สมบัติอมรินทร์ ของ เจ้าพระยาพระคลัง (หน) ได้บรรยายลักษณะของปาริชาติไว้ว่า

“มีพระยาไม้ปาริกชาติ
ประจำเชิงเมรุมาศมไหศวรรย์
สูงร้อยโยชน์ยิ่งไม้ในหิมวันต์
ทรงสุคันธ์ทิพรสขจายจร
กลิ่นบุปผาฟุ้งฟ้าไปร้อยโยชน์
อบเอารสสาโรชเกสร
ทั่วสถานพิมานเทวนิกร
เบิกบัญชรพิศงามเมื่อยามบาน
เพื่อองค์วาสวรินทร์เทวราช
ประเวศน์อาสน์ร่มไม้มณฑลสถาน
ประยูรหมู่สุรเทพเยาวมาลย์
สำราญรมย์ชมช่อมณีผกา”

และคุณลักษณะสำคัญของปาริชาตได้ปรากฎในวรรณกรรมเรื่อง กามนิต ว่าเป็นต้นไม้ประหลาดมีใบแกมสีเหลืองเข้ม และดอกสีแดงเข้มส่องแสงราวจะไหม้ มีสรรพคุณที่ทำให้ผู้สูดดม ระลึกชาติได้ ดอกปาริชาตในเรื่องกามนิตทำให้พระนางระลึกชาติและปรับความเข้าใจกันได้

จากเรื่องราวที่เล่ามาทั้งหมดของดอกปาริชาตดอกไม้ที่งดงามทั้งบนดินและบนสวรรค์ มีประโยชน์ทั้งในโลกมนุษย์ในด้านความสวยงามและสรรพคุณทางยาและมีประโยชน์โลกสวรรค์ในการระลึกชาติได้

ต้นสุพรรณิการ์

สุพรรณิการ์ เป็นพันธุ์ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดนครนายก เป็นพันธุ์ไม้ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ได้พระราชทานให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2537 เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 ทรงครองสิริราชย์สมบัติครบ 50 ปี

สุพรรณิการ์หรือฝ้ายคำ เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ สูงประมาณ 5-10 เมตร เปลือกต้นมีสีน้ำตาลเทา ใบเป็นใบเดี่ยวรูปฝ่ามือมี 5 แฉก ปลายใบแฉกแหลม โคนใบเว้า ขอบใบเป็นคลื่น ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่งมีดอกสีเหลือง ผลเป็นรูปไข่ เมื่อแห้งเมล็ดจะเป็นสีน้ำตาล มีปุยสีขาวคล้ายปุยฝ้ายหุ้มเมล็ด ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

ต้นสุพรรณิการ์ริมถนนรังสิต – นครนายก ภาพจากเว็บไซต์พันทิพย์ดอทคอม

สายพันธุ์ที่มีวางจำหน่ายในปัจจุบันจะมีด้วยกันสองสายพันธ์ คือ

  1. สุพรรณิการ์ปกติ กลีบดอกไม่ซ้อน ที่ดอกจะมีสีเหลืองสดหรือเหลืองทอง ออกดอกเป็นช่อแตกแขนงที่ปลายกิ่ง ช่อดอกตั้งยาว 20 – 40 ซม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปรี สีเขียว เหลือบม่วง กลีบดอก 5 กลีบ รูปช้อน ปลายเว้า กลีบค่อนข้างแข็ง
  2. สุพรรณิการ์ดอกซ้อน จะมีกลีบดอกสลับซับซ้อนมากดูคล้ายเป็นพู่ มีความหนา ฟูและนุ่ม มีถิ่นกำเนิดจากอเมริกากลางและอเมริกาใต้ ช่วงเดือนของการออกดอกคือช่วงเดือนธันวาคม ถึงเดือนมีนาคม หากคุณผู้ชมมีโอกาสเดินทางมาเส้นรังสิต-นครนายก ช่วงเดือนดังกล่าวก็จะพบกับดอกไม้สีเหลืองอร่ามตลอดเส้นทาง

ความมหัศจรรย์สุพรรณิการ์

เล่ามาถึงจุดนี้ คุณผู้ชมก็คงสงสัยว่าสุพรรณิการ์มีความมหัศจรรย์อย่างไร ต้นสุพรรณิการ์ มีความแปลกของต้นก็คือ ก่อนที่เขาจะออกดอกจะทิ้งใบจนหมดต้นจนดูเหมือนต้นไม้ยืนต้นตาย แต่ความจริงสุพรรณิกาทิ้งใบเพื่อที่จะออกดอก

ประโยชน์ของสุพรรณิการ์

สุพรรณิการ์ก็ยังมีประโยชน์มากมายที่คุณผู้ชมหลายท่านก็คงยังไม่ทราบ นอกจากจะปลูกเพื่อเป็นไม้ประดับสวยงามแล้ว ยางจากต้นยังให้ผลิตผลเป็น Karaya gum หรือทางการค้าเรียกว่า Crystalgum เป็นก้อนผลึกสีเหลืองอ่อนหรือน้ำตาลอมชมพู ใช้เป็นยาระบาย ใช้เป็นส่วนผสมในน้ำยาเซทผม เป็นยาทาบำรุงผิว ใช้ในอุตสาหกรรมทอผ้าและการพิมพ์ อุตสาหกรรมอาหารกระป๋อง ผสมไอศกรีมทำให้มีความข้น เนื้อไม้ต้มกับแป้งเป็นอาหาร ใบอ่อนใช้สระผม ดอกแห้งและใบแห้งเป็นยาบำรุงกำลัง หรือทำเป็นเครื่องดอกไม้หอมจำพวกบุหงาได้อีกด้วย

สุพรรณิการ์
สุพรรณิการ์จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

สุพรรณิการ์ยังเป็นดอกไม้ในวรรณคดีไทย โดยเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ หรือเจ้าฟ้ากุ้ง นำไปแต่งกาพย์ห่อโคลง นิราศธารทองแดง ส่วนหนึ่งมีใจความว่า

“เล็บนางงามแสล้ม​
ต้นนางแย้มแกมดองดึง
สุพรรณิการ์กากระทึง
ดอกราชพฤกษ์ซึกไทรไตร”

บ้านใดปลูกต้นสุพรรณิการ์ไว้ประจำบ้าน จะช่วยทำให้ผู้ปลูกได้รับความเจริญรุ่งเรืองทางด้านเงินทองและโชคลาภ

สุพรรณิการ์ยังมีความผูกพันกับความเชื่อของคนไทยในสมัยโบราณว่า บ้านใดปลูกต้นสุพรรณิการ์ไว้ประจำบ้าน จะช่วยทำให้ผู้ปลูกได้รับความเจริญรุ่งเรืองทางด้านเงินทองและโชคลาภ เพราะชื่อของสุพรรณิการ์มีความหมายว่าทองคำ และตามคำแนะนำที่สืบทอดกันมา ควรปลูกต้นสุพรรณิการ์ไว้ทางทิศใต้ หรือบริเวณด้านหน้าของตัวบ้าน ใช้เป็นต้นไม้ริมรั้ว และควรปลูกในวันพุธ เพราะคนโบราณเชื่อว่าการปลูกไม้ที่ใช้ประโยชน์จากดอกให้ปลูกในวันพุธ และจะเป็นมงคลเท่าทวีถ้าผู้ปลูกเกิดในปีระกา เพราะสุพรรณิการ์เป็นต้นไม้มงคลประจำปีระกา ถ้าผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านเกิดในปีระกาด้วยแล้วก็จะเป็นสิริมงคลมากยิ่งขึ้นไปอีก

นั้นก็เป็นเรื่องราวของพรรณไม้ที่มีความเกี่ยวข้องกับจังหวัดนครนายก หากคุณผู้ชมท่านใดสนใจหรืออยากทราบว่าต้นไม้ประจำจังหวัดของท่านคือต้นอะไร สามารถหาอ่านหนังสือเรื่อง ต้นไม้และคำขวัญประจำ 77 จังหวัด ซึ่งเขียนโดย ทักษิณ ปัญญาไทย หรือ ติดต่อขอใช้บริการได้ที่ห้องสมุดศูนย์วิทยบริการและชุมชนสัมพันธ์ มสธ. นครนายก

เรียบเรียงโดย:
โยธิน ครุธพันธ์ บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ
กิติมา คำวิจารณ์ บรรณารักษ์ ศูนย์วิทยบริการและชุมชนสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช นครนายก

สื่อการศึกษาที่เกี่ยวข้อง