บรรณสารฯ ติดเล่า PODCAST EP.10 หญิงแกร่งแห่งปักษ์ใต้

สวัสดีครับยินดีต้อนรับเข้าสู่รายการบรรณสารฯ ติดเล่า Podcast EP.10 พบกับผม โย โยธิน ครุธพันธ์ บรรณารักษ์จากสำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

วันที่ 1 สิงหาคม ถือเป็นวันสตรีไทย เป็นวันที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้ทุกคนได้ เห็นความสำคัญของผู้หญิง ความเท่าเทียมทางเพศ วันนี้รายการบรรณสารติดเล่าของเรา จึงขอพาทุกท่านล่องใต้ไปพบกับเรื่องราวของหญิงแกร่งแห่งปักษ์ใต้ 3 ท่าน คือ

  • คุณชื่น ศรียาภัย แห่งเมืองไชยา
  • ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร
  • รายาฮิเจา

คุณชื่น ศรียาภัย

คุณชื่น เกิดวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2416 สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นธิดาของพระยาวิชิตภักดีศรีพิชัยสงคราม แต่ครั้งกระโน้นมักเรียกว่า “พระยาไชยา” คุณชื่นเป็นกำพร้ามารดา มาตั้งแต่ยังเล็ก จึงได้รับการเลี้ยงดูจากบิดาอย่างใกล้ชิด บิดาของคุณชื่นนั้นรักและตามใจคุณชื่นเป็นอย่างมาก คุณชื่นเติบโตมาในครอบครัวนักมวย ทั้งบิดา คุณอา และพี่น้อง ก็เป็นมวยทั้งสิ้น ในบ้านจึงมักจะมีการฝึกซ้อมมวยกันอยู่เสมอ คุณชื่นเองก็ได้รับการอบรมฝึกหัดมวยกับเขาด้วย ด้วยเหตุนี้คุณชื่น จึงเป็นคนที่มีนิสัยใจคออย่างผู้ชาย พระยาไชยาหวังจะให้คุณชื่น มีกิริยามารยาทเรียบร้อยบ้าง จึงส่งคุณชื่นมาเป็นสาวชาววัง มาอยู่ที่วังหน้ากับพระองค์เจ้าเฉิดโฉม

ในสมัยที่คุณชื่นอยู่ในวังนั้น ไม่ถูกกับหม่อมเจ้าพระองค์หนึ่ง วันหนึ่งหม่อมเจ้าพระองค์นั้น ออกปากด่าคุณชื่น ว่า ไม่ยอมไหว้ พระยาไชยาไม่สอนลูกจึงจองหอง คุณชื่นได้ยินหม่อมเจ้าพระองค์นั้น ว่ากล่าวถึงบิดาก็นึกโกรธ จึงตรงเข้าไปถามว่าด่าใคร หม่อมเจ้าท่านนั้นก็ไม่ตอบ คุณชื่อจึงตอบเอาเองว่าด่าเธอ แล้วว่ากล่าวหม่อมเจ้าพระองค์นั้นว่า เป็นเจ้านายไม่ไว้องค์ให้ดี เที่ยวด่าคนเล่นง่ายๆ พระรูปโฉมก็เป็นตุ๊กตาเสียกกบาล ยังโอษฐ์ร้ายอีกเล่า หม่อมเจ้าองค์นั้นจึงเดินหนีเข้าวังไป

คุณเขตร ศรียาภัย น้องชายคุณชื่น เขียนเล่าว่า เมื่อสมัยอยู่ในวัง พี่ชื่นถูกหม่อมเจ้าองค์หนึ่ง นินทาว่ากิริยาไม่สมกับเป็นผู้หญิง เป็นลูกพระยาเจ้าเมืองเสียเลย พี่ชื่นรู้เข้าว่าหม่อมเจ้าองค์นั้นสาดเสียเทเสีย แล้วออกจากวังตั้งแต่นั้นมา พี่ชื่นบอกว่า มีเชื้อเป็นเจ้าแต่ปากไม่เป็นเจ้า มาตบกันคนละอันสองอันก็ยังได้

ถวายฎีกา ขอยกเลิกหนี้สิน

อีกหนึ่งวีรกรรมสำคัญของคุณชื่นคือ เมื่อครั้งที่พ่อของคุณชื้นทำธุรกิจรังนกกับพระยาบริบูรณ์ราชสมบัติ ซึ่งภายหลังได้เป็นพระยาโชดึกราชเศรษฐี การค้ารังนกของพ่อขุนชื้นขาดทุนอย่างย่อยยับ ถึงขนาดไม่สามารถชำระค่าภาษี ให้แก่กระทรวงพระคลังมหาสมบัติของรัฐบาลได้เพียงพอ จึงต้องขายบ้านและที่ดิน กระทั่งช้างเรือใบสิบห้าลำเรือเดินทะเล ก็ยังไม่พอใช้หนี้ยังขาดอยู่อีกยี่สิบห้าหมื่น ซึ่งในยุคนั้นถือว่าเป็นจำนวนไม่น้อย

คุณเขตรเล่าว่า คุณชื่นได้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา ขอยกเลิกหนี้สินที่ค้างอยู่ โดยอ้างว่า ได้ชำระมามากแล้ว ไม่สามารถชำระต่อได้ สมัยนั้นเป็นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงโปรดการมหรสพสนุกสนาน เมื่อคุณชื่นทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา ก็รับสั่งลงมาว่า เขาลือกันว่าคุณชื่น เล่านิทานเก่ง ให้เล่านิทานถวายก่อนจึงจะโปรดประทานให้ยกเลิกหนี้สินภาษีรังนกนั้น

ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเสด็จสิงคโปร์ ไม่มีใครเล่านิทานถวายหน้าพระที่ได้ เพราะโปรดนิทานที่มีความสัปดน สองแง่สองง่าม คุณชื่นก็เสมือนผู้ชายคนหนึ่งจึงขันอาสา แต่ก่อนจะเล่าก็กราบบังคมทูลขอพระราชทานอภัยแล้ว เมื่อมีพระบรมราชานุญาต คุณชื่นจึงได้เล่าถวายอย่างไม่อั้น ปรากฏว่าทรงพระสรวลเป็นที่โปรดปรานยิ่งนัก

วันรุ่งขึ้นก็โปรดให้คุณชื้นเข้าเฝ้า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรับสั่งให้คุณชื่นไปนอนร้องละครได้แล้ว จะพูดกับองค์ศุภโยคให้ ซึ่งทรงหมายถึงพระองค์เจ้าศุภโยคเกษม เสนาบดีกระทรวงการคลังมหาสมบัติในสมัยนั้น การทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาของคุณชื้นจึงได้ผลเป็นอันว่าหมดหนี้สินกัน

คุณชื่นกับวงการมวย

นอกจากนั้นคุณชื่นยังมีความสำคัญกับวงการมวยอีกด้วย กล่าวคือ ในสมัยที่เกิดมีสนามมวยขึ้นที่บริเวณโรงเรียนสวนกุหลาบเพื่อเก็บเงินบำรุงกองเสือป่า เจ้าคุณนนทิเสน นายสนามมวยสวนกุหลาบ ได้ขอนักมวยจากหัวเมืองต่าง ๆ ให้มาประลองฝีมือกัน เพราะในสมัยนั้น กรุงเทพฯ ยังไม่มีใครสนใจฝึกคัดมวยเท่าไรนัก

ปรากฏว่ามันมีมวยจากทางภาคใต้ ทั้ง ๆ ที่กิตติศัพท์มวยภาคใต้นั้นเป็นที่เล่าลือ เจ้าคุณนนทิเสนจึงได้ปรึกษาหารือกับเจ้าคุณภักดีนรเศรษฐ์ และเจ้าคุณโอวาทวรกิจ เจ้าคุณทั้งสองจึงแนะนำว่าให้ทาบทามเทศาภิบาล ชื่น ศรียาภัย ที่เรียกคุณชื่นว่าเทศาภิบาลนั้น เป็นการเรียกแบบสัพยอก เพราะคุณชื่นเป็นคนที่มีความกว้างขวาง และมีผู้ยำเกรงมาก ขนาดเทียบเท่าตำแหน่งราชการเทศาภิบาลเลยทีเดียว

คุณชื่นได้บรรยายความกว้างขวางของตัวเองไว้ว่า “พ่อข้าพเจ้ามีพวกพ้องมาก ข้าพเจ้าเป็นลูกพ่อจึงมีพวกพ้องมาก และอาจอวดได้ว่ามีตั้งแต่ชั้นสูงถึงชั้นต่ำที่สุดของที่สุด และกล้าพูดได้ว่าข้าพเจ้าไม่เคยจะเบียดเบียนใคร นอกจากท่านที่ข้าพเจ้าได้รับความเอื้อเฟื้อ โดยความกรุณาและอารีของท่าน…”

ด้วยความกว้างขวางของคุณชื่นจึงสามารถนำนักมวยปักษ์ใต้ มาชกตามความต้องการของท่านเจ้าคุณนนทิเสนได้ อีกทั้งคุณชื่นยังให้ใช้บ้านไชยาที่สีลม เป็นที่อยู่ที่กิน ของนักมวยจากทางปักษ์ใต้ รวมทั้งคุณชื่นยังเป็นผู้อบรม ให้กำลังใจนักมวย ด้วยถ้อยคำ ปลุกใจ เช่นเมื่อตอนให้กำลังใจนายพร้อม อินอักษร นักมวยจากเมืองไชยา คุณชื่น อบรมให้กำลังใจด้วยถ้อยคำที่น่าฟัง ว่า

“การต่อสู้ด้วยเชิงมวย หรือด้วยกำลังอาวุธก็ตามเถิดพร้อมเอ๋ย จะต้องมีใจแน่วแน่ ไม่วอกแวก คิดไปถึงเรื่องอื่นซึ่งทำให้เสียสมาธิ คู่ต่อสู้คนใดที่จิตใจวอกแวก หวาดเกรง แม้เพียงพริบตาเดียว ก็อาจถูกชกต่อยบาดเจ็บสาหัสง่าย ๆ ดังนั้นแกต้องปลดจิตใจออกจากสิ่งแวดล้อมโดยสิ้นเชิง ใครจะยั่วให้โกรธ หรือแหย่ให้วิตกกังวลอย่างไร ต้องไม่สนใจและหวั่นไหว”

ซึ่งการชกของนายพร้อมครั้งนั้น คุณชื่นได้สัญญาว่าหากนายพร้อมชนะ จะหาเมียให้ไปอวดคนที่ไชยา ซึ่งการชกครั้งนั้นนายพร้อมเองก็ได้รับชัยชนะ และคุณชื่นก็หาเมียให้อย่างที่สัญญาไว้

คุณชื่นช่วยนักมวยมากนัก เช่น เคยมอบเงินเลี้ยงดูแก่นักมวยที่มีอาการทางปราสาทหลังชกสัปดาห์ละ 30 บาท โดยตลอดจนเสียชีวิต และแสดงความปรารถนาดีจะสบทบทุนให้เป็นสวัสดิการนักมวย ด้วยเหตุนี้เองคนวงการมวยไทยจึงเรียกท่านว่า แม่ชื่นบ้าง ป้าชื่นบ้าง ตามแต่ถนัด

หนังสืองานศพก่อนตาย

คุณชื่นได้เขียนหนังสือชีวประวัติของตนเองขึ้นเล่มหนึ่ง เล่าชีวิตของตนเองทั้งด้านดีและไม่ดีของชีวิต เขียนหน้าปกว่า “อภินันทนาการล่วงหน้า แด่ท่านที่นับถือ ญาติและมิตรทั้งปวง ก่อนจะถึงวันที่จำต้องจากกันไปชั่วนิรันดร” แถมคำปรารภในหนังสือนี้บอกอย่างชัดเจนว่า นี่คือหนังสือแจกงานศพ คำปรารภในหนังสือเขียนประมาณว่า ประวัติผู้ตายนี้เขียนโดยผู้ตายเอง ผู้อ่านจะได้ไม่ระแวงเมื่ออ่าน ทั้งในหนังสือยังมีเขียนคำสั่งเสีย มีการเขียนเสียดสีพิธีรดน้ำศพว่าเอาผีมานั่งโงกเงกดูน่าเกลียด หรือบางทีเอาผีมานอนรอแขกรดน้ำอยู่เป็นวัน ถ้าคุณชื่นตายก็ให้เอาลงหีบเลยอย่ารดน้ำศพท่าน และสั่งเสียว่าอย่าผูกมัดผีท่านเลยมันอึดอัดใจนัก ท่านไม่สบาย ท่านชอบนอนเฉย ๆ ซึ่งหนังสือเล่มนี้ทำแจกในงานวันเกิดของท่านเมื่อครั้งมีชีวิตอยู่ จึงสะท้อนให้เห็นถึงความเข้าใจในปรัชญาของชีวิตของคุณชื่นที่มองเห็นความตายเป็นเรื่องปกติธรรมดาเท่านั้น

เรื่องราวของ คุณชื่น ศรียาภัย สะท้อนให้เห็นถึงชีวิตของสตรีท่านหนึ่งที่มีความรักในเกียรติของวงศ์ตะกูล ไม่ยอมให้ใครมาดูถูกเอาได้ ความกล้าที่จะรักษาผลประโยชน์ของตนใช้ความสามารถอย่างกล้าหาญเกินผู้หญิงในสมัยนั้นต่อหน้าพระเจ้าแผ่นดิน แต่ก็คงเป็นสตรีที่มีกริยามารยาท เลือกทำในสิ่งที่ชอบโดยไม่ให้เดือดร้อนใครแม้คนในสมัยก่อนจะมองว่าไม่เหมาะกับเพศของท่าน และนี่คือเรื่องราวของคุณ ชื่น ศรียาภัย หญิงที่ทั้งแกร่งทั้งกล้าและน้ำใจงามผู้มาจากเมืองไชยา ดินแดนปักษ์ใต้บ้านเรา

ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร

ภาพท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร จาก Chainwit., CC BY-SA 4.0, via Wikimedia Commons

ท้าวเทพกกระษัตรี หรือคุณหญิงจัน เป็นบุตรีคนแรกของเจ้าเมืองถลาง หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าจอมร้างบ้านเคียน มารดาชื่อนางหม้าเสี้ย ซึ่งมีเชื้อสายมาจากเจ้าเมืองไทยบุรี มีพี่น้องร่วมบิดา มารดาเดียวกัน 5 คน ซึ่งคุณหญิงจันเป็นบุตรธิดาคนแรก เมื่อคุณหญิงจันอายุสมควรที่จะมีเรือน ก็ได้แต่งงานให้กับหม่อมภักดีภูธร ซึ่งมีบุตรและธิดาร่วมกัน 2 คน คือ แม่ปราง และนายเทียน (ต้นสกุล ประทีป ณ ถลาง) หลังจากคลอดนายเทียนได้ไม่นาน หม่อมภักดีภูธรเสียชีวิตลง คุณหญิงจันอยู่เป็นหม้ายจนกระทั่งแต่งงานครั้งที่สองกับพระยาพิมลอัยา ภายหลังได้เป็นพระยาสุรินทะราชาพิมลอัยา มีบุตรธิดาด้วยกันอีก 2 คน

อุปนิสัยคุณหญิงจันเป็นผู้มีความประพฤติดีงาม มีอัธยาศัยสุภาพอ่อนโยน และมีความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวสมกับเป็นบุตรของเจ้าเมืองถลาง เป็นที่โปรดปรานของบิดามารดาและวงศ์ญาติ เมื่อบิดามารดาแก่เฒ่า คุณจันก็ได้รับหน้าที่ปกครองบ่าวไพร่ ดูแลการงานภายในครอบครัว

ประวัติท้าวศรีสุนทร หรือคุณมุก เป็นบุตรคนที่ 2 ของเจ้าเมืองถลาง กับนางหม้าเสี้ย มีกิริยาสุภาพอ่อนโยน ทั้งมีสติปัญญาและความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวไม่น้อยไปกว่าคุณจันผู้พี่ เป็นที่โปรดปรานของบิดามารดา และวงศ์ญาติเช่นกัน คุณมุกแต่งงานกับพระอาจฯ ไม่มีบุตรสืบสกุล

เมื่อเจ้าเมืองถลางถึงแก่กรรมลง พระถลาง หรืออาดบุตรชาย ซึ่งเป็นน้องชายคุณหญิงจัน ก็ได้ครองเมืองถลางแทนบิดา ครองเมืองถลางได้ไม่นานก็ถูกผู้ร้ายยิงตาย

หลังสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ปราบก๊กพระยานครได้ประมาณ 7 ปี ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สามีคุณหญิงจัน เป็นเจ้าเมืองถลาง คุณหญิงจันเป็นแม่เมืองปกครองเมืองถลางด้วยความสงบสุขสืบมา ต่อมาเมื่อสามีคุณหญิงจันได้เสียชีวิตลง กองทหารจากเมืองหลวงที่ยึดค่ายปากพระได้เข้าจับกุมคุณหญิงจันเป็นเชลยศึก ในข้อกล่าวหาอ้างว่าสามีคุณหญิงจันเป็นหนี้แผ่นดิน

ศึกสงครามเก้าทัพ

แผ่นดินพม่า มีพระเจ้าปดุง ครองราชสมบัติใต้ฟ้าแผ่นดินอังวะ พ.ศ. 2328 พม่าได้เตรียมกองทัพใหญ่ด้วยพระประสงค์ที่จะขยายอาณาเขต ด้วยกองทัพที่ยิ่งใหญ่แกร่งกล้าในการรบสามารถปราบรามัญ ไทใหญ่ มณีปุระ ยะไข่ รวบรวมไพร่พลได้ถึง 144,000 คน จัดเป็นทัพใหญ่หมายโจมตีสยามประเทศ เป็นที่รู้จักกันดีในนามสงครามเก้าทัพ

พม่ายกทัพเข้าบุกตีค่ายปากพระ ซึ่งทหารของรัชกาลที่ 1 เป็นผู้บัญชาการค่าย ทำให้พญาพิพิธโภไคยได้หนีไปที่เมืองพังงา ส่วนคุณหญิงจันในขณะนั้นยังถือว่าเป็นเชลยศึก ได้หนีข้ามช่องปากพระ เข้ามายังเมืองถลาง ผ่านบ้านไม้ขาว บ้านสาคู และบ้านเคียน อันเป็นที่ตั้งเมืองถลางนั้นเอง

ส่วนแม่ทัพใหญ่ยี่หวุ่น คุมกำลัง 3,000 คน เข้าตีหัวเมืองทางชายฝั่งทะเลตะวันตก ตั้งแต่เมืองตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่ง ค่ายปากพระ โดยมีเป้าหมายสุดท้ายที่เมืองถลาง ซึ่งเป็นขุมคลังของสยามนั้นเอง จากข่าวทัพเรือพม่าบุกโจมตี กอปรกับเจ้าเมืองถลางเสียชีวิตเป็น ข่าวร้ายที่ทำร้ายจิตใจชาวเมืองถลาง ด้วยความหวาดกลัว หมดหวัง หมดที่พึ่ง

แต่ด้วยจิตใจที่เข็มแข็งตั้งมั่นของคุณหญิงจันและคุณมุกน้องสาว โดยได้นำกำลังคนจากบ้านสาคู บ้านในยาง บ้านดอน บ้านไม้ขาว บ้านแขวน บ้านลิพอน บ้านเหรียง มาเตรียมการรบ ณ ค่ายข้างวัดพระนางสร้าง คุณหญิงจัน คุณมุกและคณะกรมการเมือง ก็ได้วางแผนตั้งค่ายประชิดค่ายข้าศึกของพม่า โดยเตรียมปืนใหญ่ตรึงไว้ เพื่อดึงเวลาไว้ได้หลายวัน เป็นผลให้เสบียงอาหารของพม่าลดน้อยลง และวางแผนให้กลุ่มผู้หญิงแต่งตัวเป็นชายคล้ายทหารไทย เอาไม้ทองหลางเคลือบดีบุกมาถือแทนอาวุธ ทำทียกขบวนเข้าเมืองถลางในช่วงดึก เพื่อลวงพม่าว่าเมืองถลางมีกำลังพลมาเสริมทุกคืน ทำให้พม่าคาดการณ์กองกำลังของเมืองถลางผิดพลาดไป

ศึกครั้งนี้กินเวลายาวนานถึง 1 เดือนเศษ กำลังพม่าทั้งอ่อนล้าและขาดเสบียงอาหาร เมื่อพม่าตั้งพลเข้าโจมตีถูกฝ่ายเมืองถลางระดมยิงปืนเล็กปืนใหญ่ นำเอาดินประสิวไปโปรยในกองทัพพม่า ยิงคบเพลิงเข้าไปผสมตามยุทธวิธีพระพิรุณสังหาร

จนครั้งสุดท้าย ชาวเมืองถลางได้ยิงปืนใหญ่ใส่ฝ่ายแม่นางกลางเมือง และถูกต้นทองหลางหักลงมาที่หน้าค่ายพม่า ทำให้กองทัพพม่าระส่ำระสายเสียขวัญ และแตกทัพไปในที่สุด เมื่อวันจันทร์ เดือน 4 แรม 14 ค่ำ ปีมะเส็ง จุลศักราช 1147 ตรงกับวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2328 เป็นวันถลางชนะศึกนับแต่นั้นมา

หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม บำเหน็จผู้ทำคุณประโยชน์แก่แผ่นดิน แต่งตั้งคุณหญิงจันเป็น ท้าวเทพกระษัตรี คุณมุก เป็น ท้าวศรีสุนทร ดำรงยศ อันมีศักดิ์ เป็นศรีแก่เมืองถลาง และวงศ์ตระกูลสืบต่อไป

อนุสาวรีย์ท้าวเทพกษัตรี ท้าวศรีสุนทร ตั้งอยู่ถนนเทพกษัตรี อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ซึ่งอยู่ใจกลางวงเวียนสี่แยกท่าเรือ
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2509 จากหลักฐานสำคัญในจดหมายเหตุเมืองถลาง 6 ฉบับ เพื่อเป็นการเสริมและสนองพระราชดำริในรัชกาลที่ 6 ในคราวเสด็จเปิดถนนสายถลาง ได้พระราชทานนาม ถนนเทพกระษัตรี และได้มีการตั้งชื่อตำบล 2 ตำบล คือ ตำบลเทพกระษัตรี และตำบลศรีสุนทร

รายาฮิเจา

จังหวัดปัตตานีแห่งยุครัฐโบราณมีดินแดนเมืองท่าสำคัญที่ติดต่อค้าขายกับหลายประเทศ ด้วยเหตุผลนี้จึงทำให้อาณาจักรลังกาสุกะเป็นศูนย์กลางทางการค้า ก่อนที่จะพัฒนามาเป็น ปัตตานีดารุสสลาม ที่แปลว่าเมืองแห่งสันติ

ในอดีตรัฐปัตตานีเกิดการแย่งชิงอำนาจอย่างต่อเนื่องของราชวงศ์ศรีวังศา เป็นเหตุทำให้ไร้ทายาททางฝ่ายชายสืบทอดบัลลัง เมื่อพระราชบิดา (สุลต่านมันซูร์) สินพระชนม์ เจ้าหญิงฮิเจาจึงได้รับการสถาปนาเป็น ราชาฮิเจา กษัตรียาพระองค์แรกแห่งนครรัฐปตานี ในปีพุทธศักราช 2127 ราชินีฮิเจาทรงเป็นเจ้านครที่ปรีชามารถในด้านต่าง ๆ และใส่ใจในการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของพสกนิกร

ตำนานที่เล่าขานให้จดจำกันสืบมาทุกวันนี้ คือ การที่พระนางสั่งให้ขุดคลองชลประทานที่บ้านกัมบังงัน เพื่อระบายความเค็มของแม่น้ำกรือเซะ เพื่อให้ประชาชนใช้น้ำในการเพาะปลูกและอุปโภคบริโภคได้ ในยุคนั้นนับได้ว่าเป็นยุคทองของปัตตานี มีเศรษฐกิจที่เฟื่องฟูเป็นอย่างมาก จากความมั่นคงมั่งคั่งทางการค้า ซึ่งสินค้าส่งออกสำคัญอย่างหนึ่งที่สร้างรายได้มหาศาลให้แก่ปัตตานี คือปืนใหญ่ เทคโนโลยีและอานุภาพ ของปืนใหญ่เป็นที่ร่ำลือ จนเป็นที่ต้องการของรัฐโบราณต่าง ๆ เป็นอย่างมาก

หลักฐานความรุ่งเรืองทางการค้าของปัตตานี ที่ยังอยู่ในปัจจุบัน คือ ปืนใหญ่ในตำนาน ได้แก่ ปืนศรีนครา ปืนศีปัตตานี และปืนมหาเลลา ปืนใหญ่ที่สร้างขึ้นในสมัยราชินีบีรู น้องสาวของราชินีฮิเจา ปืนใหญ่ศรีปาตานี หรือ ปืนใหญ่พญาตานี ปัจจุบันตั้งอยู่หน้ากระทรวงกลาโหม กรุงเทพมหานคร

อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจคือบันทึกของปีเตอร์ ฟลอริส (Peter Floris) พ่อค้าชาวดัตช์ที่เข้ามาทำการค้าขายกับนครปัตานีในช่วง พ.ศ. 2155-56 ได้บันทึกเรื่องราวของราชินีฮิเจาอีกมิติหนึ่งไว้อย่างน่าสนใจ ปีเตอร์ ฟลอริส ได้บันทึกไว้ว่า

ในช่วงที่เขามีปัญหาทางการค้า ราชินีฮิเจาได้เสนอให้เขายืมเงินโดยคิดดอกเบี้ยร้อยละ 6 กำหนดให้จ่ายเงินต้นคืนภายใน 3-4 เดือน และต้องจ่ายดอกเบี้ยอีกร้อยละ 1 เข้าท้องพระคลัง อีกทั้งยังหาของกำนัลมอบให้พระองค์ด้วย รวมเบ็ดเสร็จแล้ว ฟลอริสบอกว่าเขาต้องจ่ายดอกเบี้ยทั้งหมดร้อยละ 7.5

เมื่อ ปีเตอร์ ฟลอริส ไปเข้าเฝ้าราชินีฮิเจาเพื่อคืนเงิน ก็ทูลถามว่าจะให้เขาใช้หนี้เป็นทองหรือเงิน พระนางก็ตรัสว่าต้องการทอง บันทึกนี้จึงได้เห็นบทบาทของราชินีฮิเจาที่นอกจากจะเป็น กษัตริย์นักพัฒนา แม่ค้าปืนใหญ่ ยังมีอีกมิติหนึ่งที่เป็นเจ้าหนี้ของเหล่าพ่อค้าพาณิชย์จากต่างแดน ทั้งนี้ก็เพื่อความมั่นคงทางทรัพย์สินของท้องพระคลังนครรัฐปตานีนั่นเอง และนี่ก็เป็นเรื่องราวของราชินีฮิเจา ราชินีแห่งปตานีพระองค์แรก

อ้างอิง

  • เขตร ศรียาภัย. (2550). ปริทัศน์มวยไทย. กรุงเทพฯ: มติชน.
  • ศิลปวัฒนธรรม. (2565). เชื้อเจ้าปากไม่เป็นเจ้ามาตบกัน ชื่น ศรียาภัย สตรีดังวงการมวย VS หม่อมเจ้าหญิงวังหน้า. สืบค้น 22 กรกฎาคม 2565, จาก https://www.silpa-mag.com/history/article_47871
  • ชาดา นนทวัฒน์. (2561). สงคราม 9 ทัพ : กับการสงครามสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์. นนทบุรี: ศรีปัญญา.
  • เอกพล มโนสุนทร. (2563). การค้นพบเมืองถลางค่ายเมืองถลาง สนามรบพม่า สมัยท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทร. รูสมีแล, 41(3), 59-76. สืบค้นจาก https://so05.tci-thaijo.org/index.php/rusamelae/article/view/251216
  • ศิลปวัฒนธรรม. (2564). บทบาทสตรีในสังคมมุสลิมอุษาคเนย์ จาก “ราณี” บนบัลลังก์ถึง “โสเภณี” ในตลาด. สืบค้น 17 มิถุนายน 2565, จาก https://www.silpa-mag.com/history/article_40401

เรียบเรียงโดย

? ชื่น ศรียาภัย : โยธิน ครุธพันธ์ สำนักบรรณสารสนเทศ มสธ. นนทบุรี
? ท้าวเทพกระษัตรีและท้าวศรีสุนทร : ธนัชพร ฉิมสุด ศวช. มสธ. นครศรีธรรมราช
? รายาฮิเจา : กัญญาพัชร หนูจีน ศวช. มสธ. ยะลา