บรรณสารฯ ติดเล่า PODCAST EP.11 ฮีตฮอยอีสาน

แซนโฎนตา 

สวัสดีครับยินดีต้อนรับเข้าสู่รายการบรรณสารติดเล่า podcast EP.11 พบกับผม โย โยธิน ครุธพันธ์ บรรณารักษ์จาก สำนักบรรณสารสนเทศมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ภาคอีสานถือเป็นภูมิภาคที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมเป็นอย่างมาก วันนี้ผมจึงขอพาทุกท่านไปรู้จักกับเรื่องราวของภาคอีสาน ในตรีม ฮีตฮอยอีสาน สำหรับเรื่องที่ผมนำมาเล่าวันนี้เป็นเรื่องของประเพณีของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยเขมรในอีสานใต้ นั่นก็คือ ประเพณี แซนโฎนตา 

ความหมายของ แซนโฎนตา
คำว่าแซนโฎนตาเป็นภาษาเขมรในประเทศไทย คำว่าแซน หมายถึงการ เซ่นไหว้ การบูชา คำว่า โฎนตา แปลว่า ตายาย ใช้ได้กับทั้งคนเป็นและคนตาย แล้วแต่บริบท แต่ในที่นี้สื่อความหมายถึงญาติ บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ดังนั้นคำว่า แซนโฎนตา จึงหมายถึง การเซ่นไหว้บรรพบุรุษนั่นเองครับ 

ความเป็นมาและความเชื่อ
ตำนานที่มาของประเพณีแซนโฎนตา ของพี่น้องชาวไทยเขมรนั้นมีที่มาจากความเชื่อที่ว่า เมื่อคนที่ตายไปแล้วที่อยู่ในภพหลังความตายแล้วแต่คุณงามความดีและบาปบุญที่ทำมา ในภพหลังความตายก็จะมีผู้ปกครอง  พอถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ผู้ปกครองภพหลังความตายก็จะปล่อยดวงวิญญาณเหล่นั้น มาพบลูกหลาน มารับส่วนบุญจากลูกหลาน จึงเกิดประเพณีเซ่นไหว้ ผีบรรพบุรุษ มีความเชื่อว่าเมื่อถูกปล่อยมาแล้วดวงวิญญาณก็จะไปเฝ้ารอลูกหลานที่วัดบ้านเกิดของตนหากไม่เห็นก็จะน้อยใจ และสาปแช่งลูกหลาน ในทางตรงกันข้าม ถ้าลูกหลานมาทำบุญ มาเซ่นไหว้ ก็จะอวยพรให้ นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับวิญญาณเล่าสืบต่อกันมาว่า เวลากลางคืนในช่วงนี้ จะได้ยินเสียงเหมือนคนนั่งคุยกันอยู่ที่ใต้ถุนบ้าน แต่ เมื่อมองลอดช่องพื้นกระดานลงไปจะพบคนหัวหยอกหัวดำนั่งผิงไฟคุยกันอยู่ แต่ไม่รู้ว่าพูดภาษาอะไร คนเฒ่าคนแก่บอกว่า นั่นคือ ขม๊อจโฎนตา หรือผีปู่ย่า ที่ได้รับการปล่อยออกมาเพื่อรับผลบุญจากลูกหลาน 

การประกอบพิธีแซนโฎนตา
สำหรับประเพณีแซนโฎนตาในแต่ละท้องถิ่นนั้นมีความแตกต่างกันไป แต่ละบ้านจะทำพิธีแซนโฎนตาแล้วแต่เวลาตามสะดวก สิ่งของที่ต้องเตรียมในพิธีแซนโฎนตา ได้แก่ 

  • กรวยดอกไม้ 5 กรวย หรือที่เรียกว่าขันธ์ 5 ใส่พานพร้อมทั้งเงินทองของมีค่า 
  • เสื้อผ้าใหม่ ผ้าโสร่ง และผ้าซิ่นไหมที่ยังไม่ได้ใช้ 1 สำรับ พร้อมแป้งหอม น้ำหอม น้ำอบ หวี กระจก 
  • สำรับกับข้าว 1 สำรับ เป็ดต้ม 1 ตัว ไก่ต้ม 1 ตัว หรืออาจมีหัวหมู ตามแต่ฐานะ กับข้าวต่างๆ 
  • ขนมต่างๆ ได้แก่ ขนมข้าวต้มห่อด้วยใบมะพร้าวอ่อน ขนมข้าวต้มหมู ข้าวต้มมัด  
    ขนมเทียน ขนมใส่ไส้  ขนมนางเล็ด ขนมไข่หงส์ ขนมข้าวเกรียบ ขนมข้าวพอง 
  • ผลไม้ต่างๆ แต่ที่ขาดไม่ได้คือมะพร้าวอ่อนและกล้วยน้ำว้าสุก
  • น้ำดื่ม เหล้า ตามแต่เห็นสมควร 
  • เทียน 2 เล่ม จุดไว้อย่าให้ดับ 
  • กระถางธูปและธูปไว้สำหรับจุดเวลาเซ่น และจะใช้ปักไว้ตามจานอาหารด้วย 

ในช่วงเวลาพิธีเซ่นไหว้นี้ก็จะมีคนที่รู้จักมักคุ้นกันเคารพนับถือกัน ก็จะแวะเวียนไปร่วมทำพิธีตามบ้านใกล้เรือนเคียง บรรยากาศก็จะมีทั้งความศักดิ์สิทธิ์เข้มขลังจากพิธีเซ่นไหว้และรับวิญญาณบรรพบุรุษ และบรรยากาศของการได้พบปะพูดคุยกันในหมู่ญาติและคนคุ้นเคย เพิ่มความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวและชุมชน โอกาสนี้ลูกหลานก็จะนำเอาข้าวของเครื่องใช้ เสื้อผ้าอาหารมามอบให้กับผู้ใหญ่ในตระกูลและในชุมชนที่ตนเคารพนับถือ เพื่อแสดงความกตัญญูและให้ความเคารพและถือโอกาสขอพรจากผู้ใหญ่ไปด้วย ก็จะเรียกพิธีนี้ว่า จูนโฎนตา และก็มีการสังสรรค์กันในครอบครัวมีการแบ่งข้าวปลาอาหารให้กับแขกที่มาเยี่ยมเยียน  

ในตอนค่ำแต่ละบ้านก็จะนำ ขนม ข้าวต้ม หมาก พลู บุหรี่ ข้าวเปลือก ข้าวสาร ใส่ในกระเชอ ซึ่งเรียกว่า กันเชอโฎนตา และนำไปสวดมนต์เย็นที่วัด โดยที่วัดก็จะต้องเป็นวัดที่ดวงวิญญาณของบรรพบุรุษคุ้นเคย เพราะอย่างที่ได้เล่าไว้ตอนต้นว่า เหล่าวิญญาณจะมารอลูกหลานที่วัดที่คุ้นเคย ถ้าไปวัดอื่นก็จะหากันไม่เจอ ระหว่างเดินทางไปวัด ลูกหลานก็จะตะโกนเรียกวิญญาณบรรพบุรุษไปด้วย เมื่อเสร็จพิธีสงฆ์ก็จะมีการจัดงานรื่เริงที่วัดมีการละเล่นต่างๆ 

พอเช้ามืดวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ลูกหลานก็จะแบกกระเชอมาที่วัด พร้อมกับข้าวที่ปรุงอย่างพิเศษเรียกว่า บายเบ็ณฑ์ – บายเบิดตะโบร เป็นข้าวที่ปรุงด้วยถั่วงาใส่นมใส่น้ำใบเตย ปั้นเป็นก้อน ใส่พานเอาใบตองมาทำเป็นกรวยครอบไว้ บนยอดบายเบ็ณฑ์ปักธูป 1 ดอก ประดับด้วยดอกไม้เรียกว่าผกาบายเบ็ณฑ์ เป็นดอกหญ้าสีขาว มีกลิ่นหอม จะขึ้นเฉพาะช่วงเดือน 10 พอหมดเทศกาลแซนโฎนตาก็จะโรยไป ในปัจจุบันบางชุมชนไม่มีดอกไม้ชนิดนี้แล้วเพราะหายากจึงมีการใช้ดอกไม้อื่นๆ ทดแทน กระเชอและบายเบ็ณฑ์จะถูกนำมาตั้งไว้ และฟังพระสวดมาติกาจนจบ จากนั้นก็แบกกระเชอรอบโบสถ์สามรอบและเมื่อถึงเวลาที่สมควรที่เรียกกันว่า ประเฮียม เยียะ ชะโงก ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเวลาที่วิญญาณบรรพบุรุษ และผีเปตรทั้งหลายมาชะโงกรอกินอาหารเป็นครั้งสุดท้าย ลูกหลานก็จะเทกระเชอลงบนลานจนหมด เรียกว่า จะโฎนตา ในสมัยก่อน เด็ก ๆ ก็จะมาแย่งอาหารที่เทลงจากกระเชอกันอย่างสนุกสนาน และก็มีการอุทิศส่วนกุศลและทำบุญถวายภัตราหารเช้าแด่พระสงฆ์  เมื่อเสร็จพิธีสงฆ์ลูกหลานก็จะนำเอาบายเบ็ณฑ์ส่วนหนึ่งไปวางตามกำแพงวัดตามวิหาร เพื่อให้ดวงวิญญาณ และส่วนหนึ่งไปหว่านในท้องไร่ท้องนาเพื่อให้ผีในท้องไร่ท้องนา และในตอนบ่ายไปจนถึงก่อนฟ้าสางจะนำเอากาบหมาก กาบมะพร้าว กาบกล้วย มาทำเป็นสำเภา ใส่อาหาร  ขนม ข้าวต้ม เงิน เมล็ดพันธุ์ลงไป และนำไปลอยในแหล่งน้ำใกล้บ้าน เรียกว่า จูนโฎนตาหลบสรุก หรือการส่งดวงวิญญาณกลับ หากไม่ทำเรือส่งท่าน เชื่อกันว่าบรรพบุรุษจะกลับภพหลังความตายไม่ได้ ต้องติดค้างอยู่ในโลกมนุษย์กระทั่งถึงเวลาแซนโฎนตาอีกรอบ ถือเป็นการสร้างบาปและความทุกข์ทรมานแก่ท่าน เมื่อเสร็จพิธีจูนโฎนตาหลบสรุก จึงเป็นการเสร็จพิธีแซนโฎนตา จากเรื่องราวแซนโฎนตาที่ผมเล่ามา สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นได้อย่างชัดเจนเลย คือเรื่องของการที่คนในครอบครัว คนในชุมชน ที่มีช่วงอายุ ช่วงวัยที่ต่างกันได้มีกิจกรรมร่วมกันผ่านพิธีกรรมแซนโฎนตา  นอกจากนั้นยังเป็นการรักษาวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงามของบรรพชนไว้ให้คงอยู่ต่อไป 


https://www.youtube.com/watch?v=YQI4gP23NGE

ฮีตฮอยภูไท

  สวัสดีค่ะ ท่านผู้ชมทุกท่าน ดิฉัน พรรษชล แข็งขัน (พี่เต) บรรณารักษ์ ชำนาญการ ห้องสมุดศูนย์วิทยบริการและชุมชนสัมพันธ์ มสธ.อุดรธานี  ช่วงนี้พบกันกับเรื่องราวดีดีทางภาคอีสาน หรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนฮีตฮอยบ้านเฮาด้วยการเล่าเรื่อง ภูไท หรือผู้ไท ที่เลือกเรื่องนี้เพราะว่าพี่เตเป็นชาวภูไท แบบร้อยเปอร์เซ็น เลยเลือกที่จะเล่าเพราะเป็นเรื่องราวใกล้ตัว     

ประวัติความเป็นมาภูไท
คำว่า “ภูไท” ในภาษาภูไทและภาษาอีสาน หมายถึง กลุ่มชนผู้ที่อาศัยตามแนวภูเขา  แต่ภาคกลางมักเขียนว่า “ผู้ไทย” ซึ่งหมายถึง กลุ่มชนเชื้อชาติไทยถิ่นฐานดั้งเดิมของชาวภูไทอยู่ในแคว้นสิบสองจุไทย หรือแคว้นสิบสองปันนา (ดินแดนส่วนเหนือของลาว และ เวียดนาม ซึ่งติดต่อกับดินแดนภาคใต้ของจีน) 
ในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 2 (เจ้าองค์หล่อ) แห่งราชอาณาจักรเวียงจันทน์ ได้มีหัวหน้าชาวภูไทซึ่งมีนามว่า พระศรีวรราช ได้มีความดีความชอบในการช่วยปราบกบฏในนครเวียงจันทน์จนสงบราบคาบ กษัตริย์เวียงจันทน์ จึงได้ปูนบำเหน็จ โดยพระราชทานพระราชธิดาชื่อนางช่อฟ้า ให้เป็นภรรยา ในกาลต่อมาจึงได้แต่งตั้งให้บุตรซึ่งเกิดจากพระศรีวรราช หัวหน้าชาวภูไทและเจ้านางช่อฟ้า รวม 4 คน แยกย้ายกันไปปกครองหัวเมืองชาวภูไท คือ เมืองสบแอก เมืองเชียงค้อ พร้อมกับอพยพชาวภูไทลงไปทางใต้ของราชอาณาจักรเวียงจันทน์ เป็นเมืองวัง เมืองตะโปน(เซโปน) อันเป็นถิ่นกำเนิดของชาวภูไท …(เรียบเรียงจากลายพระหัตถ์ของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระเจ้าประดิษฐาสารี ในหนังสือชื่อพระราชธรรมเนียมลาว ซึ่งพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2479) พระองค์เป็นพระราชธิดาของรัชกาลที่ 4  และเจ้าจอมมารดาดวงคำ (เจ้าจอมมารดาดวงคำ เป็นราชนัดดาของเจ้าอนุวงษ์เวียงจันทน์) 
ต่อมาชาวภูไทได้แยกย้ายออกไปตั้งเป็นเมืองพิน  เมืองนอง  เมืองพ้อง เมืองพลาน ซึ่งปัจจุบันอยู่ในแขวงสะหวันนะเขต ของประเทศลาว (แขวงสะหวันนะเขตอยู่ตรงข้ามจังหวัดมุกดาหาร) 

ในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้าอนุวงษ์เวียงจันทน์เป็นกบฏต่อกรุงเทพมหานคร เมื่อ พ.ศ.2369 เมื่อกองทัพไทยยกขึ้นไปปราบปรามจนสงบราบคาบแล้วทางพระนคร มีนโยบายจะอพยพชาวภูไท ข่า กะโซ่ กะเลิง ไทดำ ไทพวน ฯลฯ จากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้มาตั้งบ้านตั้งเมืองอยู่ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขง (ภาคอีสาน) เพื่อมิให้เป็นกำลังแก่เวียงจันทน์ และญวน (เวียดนาม) อีก

วัฒนธรรมภูไท 
จริง ๆ แล้ว เรื่องฮีตฮอย หรือแนวปฏิบัติที่ดีงามที่ชาวภูไทได้คงได้มาถึงทุกวันนี้มีมากมายหลายเรื่อง เช่น การมีพ่อล่าม-แม่ล่าม ในพิธีแต่งงานของชาวภูไท  การสู่ขวัญเขยหลังพิธีฌาปนกิจศพของผู้ที่เสียชีวิตของชาวภูไทยหนองสูง จ.มุกดาหาร  , การฟ้อนภูไท …. ภาษา / สำเนียงการพูด แต่ละจังหวัดก็จะมีแตกต่างกันไป ภูไทจะไม่มีภาษาเขียน ดังนั้นการเขียนจะเป็นแบบภาษาไทยแต่การออกเสียงจะเป็นสำเนียงภูไท รวมถึงการเรียกส่วนประกอบของร่างกายของเรา หรือสิ่งของเครื่องใช้ หรือประโยคในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ชาวผู้ไทถือว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุด รองลงมาจากกลุ่มไทลาวหรือไทอีสาน มีถิ่นฐานส่วนมากอยู่ในเขตจังหวัดนครพนม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร สกลนคร และบางส่วนกระจายอยู่ในเขตจังหวัดหนองคาย อำนาจเจริญ อุบลราชธานี อุดรธานี ร้อยเอ็ด และยโสธร (บางส่วนโยกย้ายถิ่นฐานไปตั้งเป็นชุมชนหมู่บ้านชาวผู้ไท ที่ จ.พะเยา) เป็นชาติพันธุ์ที่รักษาวัฒนธรรมที่โดดเด่นสวยงามเป็นเอกลักษณ์ของตนไว้ได้อย่างดี ขอยกตัวอย่าง คำถามจะใช้แตกต่างจากภาษาไทย ดังนี้ 
อะไร = เผอ, ผะเหลอ, ผิเหลอ 

 เป็นอะไร = เป๋นเผอ, เป๋นผะเหลอ, เป๋นผิเหลอ 

 ทำไม = เอ็ดเผอ 

 ไหน = เซอ, ซิเลอ, เน้อเฮอ 

 อันไหน = อันเลอ 

 ใคร = เพอ, ผู้เลอ 

 เท่าไหร่ ,แค่ไหน = ท้อเลอ, ฮาวเลอ, ค้าเลอ 

 อย่างไร=  แนวเลอ, สะเลอ 

 ทำยังไง = เอ็ดสะเลอ 

 เมื่อไหร่= บาดเลอ, ญามเลอ, มื้อเลอ 

 ไหม,หรือปล่าว = เบาะ,  ยูเบาะ,  ยูติ๊ 

 ล่ะ= เด๋ 

คำว่า จัก หรือ จะ ในภาษาไทย  ภาษาผู้ไท จะใช้คำว่า หละ เช่น 

 *เธอจะไปไหน = เจ้าหละไปซิเลอ  

*ฉันกำลังจะพูด  = ข้อยทมหละเว้า  

*คุณจะกลับกี่โมง = เจ้าหละเมอจักโมง 

 *เขาจะคุยกันเรื่องอะไร = เขาหละแอ่นเด๋วเลิ้งเผอ / ผะเหลอ /ผิเหลอ 

สำหรับคนที่สนใจเรื่องราวภูไทหรืออยากจะค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติมสามารถมาใช้บริการห้องสมุด ศวช.มสธ.อุดรธานี ได้ตามที่อยู่ต่อไปนี้ค่ะ 

ศูนย์วิทยบริการและชุมชนสัมพันธ์ มสธ.อุดรธานี  ตั้งอยุ่ที่หมู่ 10 บ้านกลิ้งคำ ตำบลบ้านจั่น อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี  สถานที่ใกล้เคียง.. – ทางไปวัดป่าบ้านตาดหลวงจาพระมหาบัว ติดกับองค์การบริการส่วนตำบลบ้านจั่น 
ตรงข้ามศูนย์เพาะชำกล้าไม้อุดรธานี  เปิดบริการ จันทร์-เสาร์ เวลาราชการ (วันอาทิตย์ที่มีการสัมมนาเสริมบัณฑิตศึกษา) หยุดวันอาทิตย์ และนักขัตฤกษ์ บริการสื่อการศึกษา โดยเน้นเอกสารการสอนของ มสธ. ทั้งระดับปริญญาตรี –โท แล้ว ยังมีหนังสือทั่วไป วิทยานิพนธ์ ทั้งแบบรูปเล่ม  / แบบฐานข้อมูล 

นอกจากนี้แล้วยังดูแล-ให้คำปรึกษาการให้บริการสื่อการศึกษาของ มสธ. ณ มุม มสธ.ในเขตพื้นที่ให้บริการของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันนอกเฉียงเหนือตอนบน 1 คือ  

มุม มสธ.จังหวัดอุดรธานี  เลย หนองคาย หนองบัวลำภู  

กลุ่มจังหวัดภาคตะวันนอกเฉียงเหนือตอนบน 2 คือ มุม มสธ.จังหวัดสกลนคร บึงกาฬ นครพนม และมุกดาหาร    

การติดต่อ ปัจจุบันใช้ Line @ ห้องสมุดศูนย์วิทยบริการและชุมชนสัมพันธ์ มสธ.อุดรธานี  

เว็บไซต์ ศูนย์วิทยบริการและชุมชนสัมพันธ์ มสธ.อุดรธานี  https://udon.stou.ac.th/  ยินดีต้อนรับทุกท่านนะคะ 


https://soundcloud.com/stou_channel/stoulibrary-podcast-01-ep11

แห่เทียนเมืองอุบลฯ 

สวัสดีค่ะ ท่านผู้รับชมทุกท่านนะคะ ดิฉัน ออย ลลิตา ชมภูโกฐ บรรณารักษ์ ห้องสมุด ศูนย์วิทยบริการและชุมชนสัมพันธ์ มสธ.อุบลราชธานี ค่ะ วันนี้ มาภาคอิสานเราต้องมาฟังเรื่องของชาวอิสาน ซึ้งเนื้อหาวันนี้ เราจะมาเล่าเกี่ยวกับเรื่อง ฮีตฮอยบ้านเฮา ซึ่งคำว่า ฮีต ของชาวอิสาน แปลว่า จารีต นั่นเอง ซึ่งจารีต หมายถึง ความประพฤติ ธรรมเนียม ประเพณี ความประพฤติที่ดีซึ่งงานบุญประเพณีที่เกี่ยวข้องกับ ฮีต ของชาวอิสาน คือ ประเพณีฮีตสิบสอง   ฮีตสิบสอง คือ จารีตประเพณีที่ประชาชนนำมาปฏิบัติประจำเดือน ทั้ง 12 เดือนในรอบปี เป็นประเพณีการทำบุญประจำเดือนที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนา ซึ่งในการนับเดือนเป็นแบบจันทรคติ คือ เดือนอ้าย เดือนยี่ เดือนสาม เดือนสี่ เดือนห้า เดือนหก เดือนเจ็ด เดือนแปด เดือนเก้า เดือนสิบ เดือนสิบเอ็ด และเดือนสิบสอง ซึ่งได้แก่  

        ฮีตที่ 1. เดือนอ้าย บุญเข้ากรรม 

        ฮีตที่ 2. เดือนยี่ บุญคูนลาน 

        ฮีตที่ 3. เดือนสาม บุญข้าวจี่ 

        ฮีตที่ 4. เดือนสี่ บุญผะเหวด 

        ฮีตที่ 5. เดือนห้า บุญสงกรานต์ 

        ฮีตที่ 6. เดือนหก บุญบั้งไฟ 

        ฮีตที่ 7. เดือนเจ็ด บุญซำฮะ 

        ฮีตที่ 8. เดือนแปด บุญเข้าพรรษา 

        ฮีตที่ 9. เดือนเก้า บุญข้าวประดับดิน 

       ฮีตที่ 10. เดือนสิบ บุญข้าวสาก 

       ฮีตที่ 11. เดือนสิบเอ็ด บุญออกพรรษา 

       ฮีตที่ 12. เดือนสิบสอง บุญกฐิน และงานลอยกระทง 

วันนี้ เรามาที่จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งหาก พูดถึงจังหวัดอุบลราชธานี เราจะนึกเรื่องของการแห่เทียน นั่นเอง นะคะ เป็นประเพณี1 ในฮีตสิบสองของเรานะคะ คือ ฮีตเดือนแปด  คือบุญเข้าพรรษานั่นเอง 

บุญเข้าพรรษาของภาคอีสานเป็นประเพณีทางพุทธศาสนาคล้ายกับทางภาคกลางคือจะมีการทําบุญตักบาตร ถวายผ้าอาบน้ำฝน สงบ จีวรและ เทียนพรรษา หากแต่ในภาคอีสานจะจัดขบวนแห่เทียน อย่างยิ่งใหญ่ อลังการมากนะคะ ซึ่งหากใครเคยมาชมประเพณีแห่เทียนของชาวอุบลราชธานีแล้ว จะเห็นได้ว่าจัดงานกันอย่างยิ่งใหญ่ และมีการประกวดความสวยงามของเทียนจากแต่ละวัด ซึ่งตกแต่ง สลักเสลาเทียนเป็นลวดลาย เรื่องราวทางพุทธศาสนาอย่างสวยงาม เมื่อแห่เทียนมาถึงวัดชาวบ้านจะรับศีล รับพร ฟังธรรม ตอนค่ำจะเวียนเทียน รอบพระอุโบสถ 

มูลเหตุของพิธีกรรมนี้ 

เนื่องจากว่าในสมัยพุทธกาล พระภิกษุเที่ยวจาริกสอนธรรมไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ ตลอดทั้งปีไม่ว่าจะเป็นฤดูฝน ฤดูหนาว หรือฤดูร้อน แต่ในฤดูฝนนั้น ภิกษุได้เหยียบย่ำข้าวกล้าในนาของชาวบ้านเสียหาย สัตว์ตัวน้อยต่างๆ พลอยถูกเหยียบตายไปด้วย พระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติให้ภิกษุต้องจําพรรษา 3 เดือน ในฤดูฝนโดยมิให้ไปค้างแรมที่อื่นใดนอกจากในวัดของตน ถ้าภิกษุฝ่าฝืนถือว่า “ศีลขาดและต้องอาบัติทุกกฎ” เว้นแต่กรณีจําเป็นที่เรียกว่า “สัตตาหกรณียะ” เช่น บิดามารดา ป่วย เป็นต้น แต่ต้องกลับมาภายใน 7 วันพรรษาจึงจะไม่ขาด 

พิธีกรรม 

เมื่อถึงวันเพ็ญเดือนแปดตอนเช้าญาติโยมก็จะนําดอกไม้ธูปเทียน ข้าวปลา อาหาร มาทําบุญตักบาตรที่วัด ตอนบ่ายจะนําสบงจีวร ผ้าอาบน้ำ เทียนพรรษา และดอกไม้ธูปเทียนมาถวาย พระภิกษุที่วัดแล้วรับศีล ฟังธรรมพระเทศนา พอถึงเวลาประมาณ 19.00-20.00 น. ชาวบ้านจะนําดอกไม้ธูปเทียนมารวม กันที่ศาลาโรงธรรมเพื่อรับศีล และเวียนเทียนจนครบสามรอบ แล้วจึงเข้าไปในศาลาโรงธรรมเพื่อฟังพระธรรมเทศนาจนจบ จากนั้นจะแยกกันกลับบ้านเรือนของตน ส่วนผู้ที่มีศรัทธาแก่กล้าก็จะพากันรักษาศีลแปดจนถึงเช้าวันรุ่งขึ้น ซึ่งเป็นวันแรมหนึ่งค่ำเดือนแปด อันเป็นวันเข้าพรรษา ซึ่งพระภิกษุจะ ต้องจําพรรษาในวัดของตนเป็นเวลาสามเดือน 

เป็นไงบ้างคะ เรื่องราวของบุญประเพณีของชาวอิสาน ซึ่งถ้ามีโอกาสครั้งหน้า จะพาไปฟังเรื่องราวของ ฮีต ต่างๆที่เหลือ อีก 11 ฮีต หรือ 11 เดือนที่เหลือนั่นเอง ค่ะ 

สำหรับคนที่สนใจเรื่องราวแห่เทียนหรืออยากจะค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติมสามารถมาใช้บริการห้องสมุด ศวช.มสธ.อุบลราชธานี ได้ตามที่อยู่ต่อไปนี้ค่ะ 

เปิด จันทร์ถึงเสาร์ เวลา 08.30 -16.30 น. หยุดวันอาทิตย์และวันนักขัตฤกษ์ 

ช่องทางการติดต่อ ( เพจ เฟสบุค ไลน์ส่วนตัว  สอบถามได้ทั้งการค้นคว้า ในห้องสมุด และการบริการการศึกษา

เรียบเรียงโดย

??แซนโฎนตา : โยธิน ครุธพันธ์ สำนักบรรณสารสนเทศ มสธ. นนทบุรี
??ฮีตฮอยภูไท : พรรษชล แข็งขัน ศวช. มสธ. อุดรธานี
??แห่เทียนเมืองอุบลฯ : ลลิตา ชมภูโกฐ ศวช. มสธ. อุบลราชธานี