บรรณสารฯ ติดเล่า PODCAST EP.12 “หงส์มอญ”

สวัสดีครับยินดีต้อนรับเข้าสู่รายการบรรณสารติดเล่า podcast EP.12 พบกับผม โย โยธิน ครุธพันธ์ บรรณารักษ์จาก สำนักบรรณสารสนเทศมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

ในสังคมไทยนั้นมีกลุ่มชาติพันธ์ที่หลากหลาย คนมอญก็เป็นชาติพันธ์หนึ่งที่อยู่ในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน มอญเป็นชนชาติที่รุ่งเรืองทางด้านศิลปวัฒนธรรมเป็นอย่างมากชนชาติหนึ่ง การที่ประเทศไทยมีกลุ่มชนชาติมอญเข้ามาอยู่อาศัยก็เกิดจากหลายปัจจัยด้วยกันครับ เช่นการหลบหนีภัยสงครามเข้ามอาศัยในดินแดนไทย ตามหลักฐานในประวัติศาสตร์ ปรากฎการอพยพของชาวมอญเข้าสู่ไทย ครั้งสำคัญๆ ๘ ครั้ง คือ สมัยอยุธยา ๕ ครั้ง ธนบุรี ๑ ครั้ง และรัตนโกสินทร์ ๒ ครั้ง  ชาวมอญจึงมีกระจัดกระจายอยู่ในหลาย ๆ จังหวัดของประเทศไทย เช่นจังหวัดราชบุรี จังหวัดปทุมธานี สมุทรปราการ นนทบุรีเป็นต้น (อ่านเรื่องราวประวัตติศาสตร์มอญอพยพมาในไทยเพิ่มเติม) ซึ่งชาวมอญที่อพยพมาก็ได้นำเอาศิลปะวัฒนธรรมและความเชื่อติดตัวมาด้วย และสิ่งหนึ่งที่เรียกได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของชนชาติมอญเลยก็คือ หงส์มอญ ถือเป็นสัตว์สำคัญประจำชนชาติมอญเลยทีเดียว

สาเหตุที่หงส์กลายเป็นสัญลักษณ์ของชาวมอญ ก็เหตุเพราะตำนานการสร้างเมืองหงสาวดี อาณาจักรที่เจริญรุ่งเรืองที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติมอญ หงสาวดีเป็นราชธานีของมอญถึง ๒ ช่วงด้วยกันตั้งแต่ พ.ศ.1116-1266 รวม 150 ปี และหงสาวดีในการปกครองของมอญกลับมารุ่งเรืองอีกครั้งในสมัยรัชกาลของพระเจ้าราชาธิราช หงสาวดีจึงถือเป็นอาณาจักรที่อยู่ในความทรงจำอันดีของชาวมอญ ซึ่งตำนานการสร้างเมืองหงสาดีก็สืบเนื่องมาจากพุทธทำนายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งตำนานเล่าว่าเมื่อสมเด็จพระโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสรู้ได้ 8 พรรษา ได้เสด็จเที่ยวจาริกมาจนถึงเขาสุทัศนมังสิต บริเวณนั้นยังเป็นทะเลอยู่ เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาถึงพระองค์ทรงผินพักตร์ไปทางทิศตะวันออกได้ทอดพระเนตรเห็นหงส์ทอง สองตัวเล่นน้ำกันอยู่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงมีพุทธทำนายว่า ในการข้างหน้า บริเวณที่หงส์ทองเล่นน้ำนี้จะกลายเป็นมหานครขึ้นชื่อว่า หงสาวดี และจะเป็นที่ตั้งสถูปเจดีย์ พระศรีมหาโพธิ์ และพระพุทธศาสนา จะรุ่งเรืองณ ที่แห่งนี้ ด้วยเหตุตำนานเมืองหงสาวดีนี้เองจึงทำให้หงส์ทองนั้นกลายเป็นสัญลักษณ์ของชาวมอญ และกลายเป็นสัตว์ศักสิทธิ์ประจำชนชาติมอญ ไม่ว่าชาวมอญจะไปอยู่ที่ไหนก็มักสร้างรูปหงส์หรือเสาหงส์เป็นสัญลักษณ์และละลึกถึงเมืองที่จากมานั่นเองครับ

ในหนังสือเรื่องวิถีไทยมอญในสังคมร่วมสมัยได้ยกแนวคิดเรื่องหงส์มอญของพิสัณห์ ปลัดสิงห์ ที่ได้กล่าวไว้ว่าหงส์มอญนั้นอยู่ในกลุ่มของ เซลเดรค หรือที่คนไทยเรียกว่า เป็ดป่า ซึ่งมีลำตัวอ้วนป้อม ปากแบนและเรียว มีหงอนเล็กน้อยช่วงคอไม่ยาว มีแผงคอเป็นหางงอนยกขึ้น เท้าเป็นผังผืดมีปีกแนบลำตัว มีลวดลายที่ตัวและก็หาง ซึ่งเป็ดป่าที่เป็นต้นแบบของหงส์มอญนี้ชาวจีนเรียกกันว่าเป็ดแมนดาริน

ซึ่งลักษณะของหงส์มอญก็มีด้วยกัน ๓ แบบ ๓ อากัปกริยาด้วยกันซึ่งมีความหมายและโอกาศที่ใช้ต่างกันไป บางข้อมูลก็ว่ามี ๔ แบบ

แบบที่ ๑ หงส์คู่ยืนซ้อนกัน

หมายถึงหงส์ตามตำนานการสร้างเมืองหงสาวดี มีหงส์ตัวหนึ่งยืนท่าเฉยและหงส์อีกตัวยืนซ้อนอยู่ข้างหลัง ซึ่งจุดนี้ผมไปเจอข้อมูลจากเว็บไซต์ท่องเที่ยวเว็บหนึ่งอ่านแล้วนน่าสนใจมากเลยหยิบมาเล่าให้ฟังว่าตำนานหงส์เล่นน้ำนั้นมีหงส์ตัวเมียขี่ตัวผู้อยู่ จึงมีคำทำนายว่า ผู้หญิงจะเป็นใหญ่ นั้นก็คือพระนางเชงสอบู ราชินีนาถ หรือกษัตริย์หญิงแห่งอาณาจักรมอญนั่นเอง 

แบบที่ ๒ หงส์ยืนนิ่ง ๆ

หมายถึงหงส์ซึ่งเป็นสัตว์ประจำชาติมอญ มักถูกใช้งานในหลายโอกาสเช่นประดับภาชนะ อยู่บนยอดเสา สลักจารึกตกแต่งอาคาร และเครื่องแต่งกาย แต่นิยมอยู่บนเครื่องแต่งกายที่อยู่สูงกว่าเอวขึ้นไป 

แบบที่ ๓ หงส์บิน

เป็นสัญลักษณ์ที่มีความหมายเกี่ยวข้องกับการเมืองมีลักษณะเป็นหงส์กําลังบินไปสู่ดวงดาวสีน้ำเงินแต่ไม่ได้เป็นที่ยอมรับของพม่า  

แบบที่ ๔ หงส์ยกเท้าไปข้างหนึ่ง

อาการก้าวไปข้างหน้า หมายถึงก้าวไปข้างหน้า มีความหมายเชิงการเมือง เนื่องจากพม่าให้ใช้สัญลักษณ์เป็นหงส์ที่ยืนนิ่งๆเท่านั้นจึงได้มีการออกแบบหงส์ขึ้นใหม่โดยให้ยกเท้าหนึ่งข้าง 

และนี่คือเรื่องราวว่าทำไมหงส์จึงกลายเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์และสัญลักษณ์ของชาวมอญ

เรียบเรียงโดย

โยธิน ครุธพันธ์ บรรณณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ