บรรณสารฯ ติดเล่า PODCAST EP.13 “เงือก”

ถ้าพูดถึงเงือกแล้ว ผมเชื่อเลยครับว่าผู้ฟังทุกท่านต้องนึกถึงหญิงสาวหน้าตาดีผมยาวสลวย มีท่อนล่างตั้งแต่เอวลงไปเป็นหางปลาอย่างแน่นอน แต่สำหรับวันนี้ผมจะมาเล่าถึงเรื่องราวของเงือกที่มีรูปร่างหน้าตาอย่างที่หลายๆ คนคาดไม่ถึงแน่นอนครับ กับบรรณสารติดเล่าตอน “เงือก” โดยมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้


เงือกลักษณะที่ทุกคนคุ้นชินกันนี้มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาเลยเชียวครับเพราะปรากฏในสมุดภาพไตรภูมิพระฉบับกรุงศรีอยุธยา และ ปรากฏในจิตรกรรมฝาผนังวัดอีกหลายแห่งหลายสมัยที่ถ้าได้เดินผ่านไปพบก็ต้องรู้จักอย่างแน่นอนว่าลักษณะครึ่งคนครึ่งปลาเช่นนี้แหละเรียกว่าเงือก แต่อย่างที่บอกไว้เลยล่ะครับ ว่า เงือกที่ผมนำมาเล่าในวันนี้จะไม่เหมือนเงือกที่ทุกคนรู้จักกัน

เงือกในสมัยโบราณ

สำหรับเงือกนั้นเป็นภาษาโบราณ จะไม่ได้หมายถึงครึ่งคนครึ่งปลา แต่มักจะหมายถึง งู หรือ นาค เช่นในวรรณคดีเรื่องลิลิตโองการแช่งน้ำ  มีการกล่าวถึงเงือกในบริบทว่าเป็นงูหรือนาคใจความว่า  

“โอม ปรเมศวราย ผายผาหลวงอะคร้าว ท้าวเสด็จเหนือวัวเผือก เอาเงือกเกี้ยวข้าง อ้างทัดจันทร์เป็นปิ่น ฯ ”

ซึ่งบทดังกล่าวนี้เป็นการกล่าวถึงพระอิศวร กล่าวว่าทรงประทับอยู่ที่ภูเขา ทรงวัวเผือก เอาพระจันทร์เป็นปิ่น และเอาเงือกเกี้ยวข้าง ถ้าเราได้เห็นจิตรกรรมไทยหรือรูปปั่นพระอิศวรเราจะไม่เห็นเงือกมาเกี้ยวอยู่บนตัวพระอิศวรแน่นอน แต่จะเห็นงู หรือนาค ดังนั้นในอดีตคำว่าเงือกนี้จึงหมายถึงงู หรือนาค นอกจากนี้คำว่าเงือกในเอกสารโบราณ เช่นพงศาวดารล้านช้าง  พงศาวดาร เมืองเงินยางเชียงแสน ก็สันนิษฐานว่าคำว่าเงือกหมายถึงจระเข้

ลักษณะของเงือกในวรรณคดี

เงือกในวรรณคดีเรื่อง ”ลิลิตพระลอ

เงือกในวรรณคดีไทยมีปรากฏอยู่หลายเรื่อง อย่างวรรณคดีเก่าแก่อย่างเรื่องลิลิตพระลอ ก็มีการกล่าวถึงเงือก ในตอนนางรื่น นางโรย พี่เลี้ยงพระเพื่อนพระแพงไปหาปู่เจ้าสมิงพรายระหว่างทางผ่านบึงก็พบกับเงือกเข้า ในตัวบทกล่าวถึงเงือกไว้ว่า “เงือกเอาคนใต้น้ำ กล่ำตากระเลือก กระเกลือกกลอกตากลม ผมกระหวัดจำตาย” เป็นการบอกถึงลักษณะเงือกที่มักฉุดคนลงน้ำแล้วเอาผมรัดจนตาย

เงือกในวรรณคดีเรื่อง ”พระอภัยมณี”

มาดูที่เงือกในวรรณคดีชื่อดังอย่างในเรื่องพระอภัยมณีกันดีกว่า  สำหรับนางเงือกในพระอภัยมณีหลายคนอาจจะสงสัยว่าเอ้าก็เห็นเป็นเงือกครึ่งคนครึ่งปลาปกตินี่นา แต่จริงๆแล้วมีข้อสันนิษฐานว่าอาจจะไม่ใช่ครึ่งคนครึ่งปลาอย่างที่เข้าใจกันหลายจุดที่ทำให้คิดว่าเงือกมีขา เช่น ตอนที่สินสมุทรหนีออกมาเที่ยวเเละเจอฝูงเงือก ในตัวบทกล่าวว่

เห็นฝูงเงือกเกลือกกลิ้งมากลางชล
คิดว่าคนมีหางเหมือนอย่างปลาฯ

ที่ชัดเจนคือตอนที่พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อสมุทร แล้วพ่อแม่เงือกมาขวางนางยักษ์ไว้ทำให้ถูกนางผีเสื้อสมุทรสังหารในตัวบทกล่าวว่า

แล้วนางยักษ์หักขาและสองแขน
ให้หายแค้นเคี้ยวกินสิ้นทั้งคู่ฯ

จากตัวบทชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่ามีการหักขาของเงือก หรือในบทอัศจรรย์ บทที่ใช้บรรยายการมีเพศสัมพันธ์ของตัวละคร สำหรับพระอภัยมณีและนางเงือกได้กล่าวไว้ว่า

อัศจรรย์ครั่นครื้นเป็นคลื่นคลั่ง
เพียงจะพังแผ่นผาสุธาไหว
กระฉอกฉาดหาดเหวเป็นเปลวไฟ
พายุใหญ่เขยื้อนโยกกระโชกพัด
เมขลาล่อแก้วแววสว่าง
อสูรขว้างเขวี้ยงขวานประหารหัต
พอฟ้าวาบปลาบแปลบแฉลบลัด
เฉวียนฉวัดวงรอบขอบพระเมรุ
พลาหกเทวบุตรก็ผุดพุ่ง
เป็นฝนฟุ้งฟ้าแดงดังแสงเสน
สีขรินทร์อิสินธรก็อ่อนเอน
ยอดระเนนแนบน้ำแทบทำลาย
สมพาสเงือกเยือกเย็นเหมือนเล่นน้ำ
ค่อยเฉื่อยฉ่ำชื่นชมด้วยสมหมาย
สัมผัสพิงอิงแอบเป็นแยบคาย
ไม่เคลื่อนคลายคลึงเคล้าเยาวมาลย์ฯ

จากตัวบทนี้แสดงให้เห็นถึงความรุนแรงเพียงเท่านั้น แต่ไม่ได้สะท้อนถึงความแปลกพิสดารอะไรที่ทำให้รู้สึกว่าคนกับครึ่งคนครึ่งปลามีอะไรกัน ที่แปลกสุดก็เห็นจะบอกแค่ว่า มันเย็นก็เท่านั้น

และอีกบทที่สนับสนุนให้คิดถึงได้ว่านางเงือกนั้นมีขาแบบคนและมีหางเป็นปลาก็คือตอน หนึ่งที่ทำให้เห็นว่าเงือกมีขาคือตอนที่พระอินทร์ลงมาตัดหางให้นางเงือก


ดังความตอนหนึ่งว่า
มัฆวานทรงขยับจับพระขรรค์
เข้าฟาดฟันบั่นหางนางมัจฉา
ขาดเป็นสินดิ้นสลบซบพักตรา
อยู่บนแท่นแผ่นผาคูหาบรรพ์

ช่วยสงเคราะห์ให้มันฟื้นคืนสลบ
ทั้งดวงพักตร์ลักขณาก็น่าชม
ลุกจากแท่นแผ่นผาด้วยปรานี
เอาวารีทิพรสชโลมพรม
นางมัจฉาหางปลาก็หายสูญ
บริบูรณ์เป็นมนุษย์สุดสวยสม
ทั้งดวงพักตร์ลักขณาก็น่าชม
ดูขำคมพร้อมสิ้นทั้งอินทรีย์ฯ

จากบทกลอนบอกว่าพระอินทร์ตัดหางให้นางเงือกแล้วนางเงือกสลบพระอินทร์ก็แก้ให้ฟื้นแต่ไม่ได้บอกว่าตัดแล้วหาขามาต่อหรือเนรมิตขาให้ และบทชมโฉมก็กล่าวว่าพอหางปลาหายไปนางก็กลายเป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์ทำให้เห็นได้ว่านางเงือกอาจจะไม่ได้มีท่อนล่างเป็นปลาอย่างที่เข้าใจกันมาแต่อาจจะมีลักษณะที่มีขาเหมือนคนทั่วไปเพียงแต่มีหางปลางอกออกมาเท่านั้น แต่ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรก็ไม่อาจรู้ได้เพราะคนเดียวที่รู้ว่านางเงือกในเรื่องพระอภัยมณี
มีลักษณะเป็นอย่างไร นั่นคือ สุนทรภู่ ผู้ประพันธ์พระอภัยมณี

เงือกในวรรณคดีเรื่อง ”รามเกียรติ์”

อีกหนึ่งนางเงือกที่มีข้อสันนิษฐานว่าเป็นเงือกมีขานั่นก็คือ นางสุพรรณมัจฉา ในรามเกียรติ์ เพราะในตัวบทตอนหนุมานไปไล่จับกล่าวไว้ว่า

วายุบุตรเลี้ยวลัดสกัดไล่
แลไปเห็นนางมัจฉา
มีหางนั้นเป็นหางปลา
กายาเป็นมนุษย์วิไลวรรณฯ

หรือในตอนหนึ่งที่นางเงือกสุพรรณมัจฉาไปเข้าเฝ้าทศกัณฐ์เพื่อรับคำสั่งในการขโมยหินของพระราม ขณะเดินทางกลับก็มีการกล่าวไว้ว่า

ว่าแล้วถวายอภิวาทน์
แทบบาทพญายักษี
ยุรยาตรนาดกรจรลี
ไปยังที่อยู่อรไท ฯ

นางสุพรรณมัจฉา ในโขนเรื่องรามเกียรติ์ ตอนจองถนน
มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ 
ขอบคุณภาพจาก: www.sereesolution.com

เงือกในตำราโบราณ

และอีกหนึ่งลักษณะของเงือกที่เชื่อว่าหลายท่านคงอาจจะไม่เคยเห็นและน่าจะผิดกับลักษณะของเงือกในจินตนาการไปไกลไม่น้อยคือเงือกในสมุดไทย ตำราพรหมชาติ จากฐานข้อมูล Chester Beatty เป็นเอกสารเมื่อราวปี ค.ศ. 1845 หรือ พ.ศ. 2388 ในสมุดมีภาพบุรุษแต่งองค์ทรงเครื่องและขี่พาหนะชนิดหนึ่งซึ่งมีตัวอักษรเขียนว่าพาหนะชนิดนั้นมีชื่อว่า เงือก

ภาพเงือกในสมุดไทย ตำราพรหมชาติ จากฐานข้อมูล Chester Beatty

ลักษณะลำตัวยาวแบบงูผิวเข้ม มีขา สี่ขา มีศรีษะเป็นมนุษย์ผมเผ้ารุงรังและไว้หนวดเครา ลักษณะดูน่ากลัว ซึ่งเงือกในเอกสารชิ้นนี้ทำให้ผมนึกถึงมังกรในภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องรายาขึ้นมาเลย และนี่คือลักษณะและความหมายของเงือกไทยที่ผมนำเสนอในวันนี้หวังว่าทุกคนจะได้รู้จักลักษณะของเงือกมากขึ้นกว่าเดิม สวัสดีครับ

คลิกเพื่อฟังบรรณสารฯ ติดเล่า PODCAST ผ่านช่องทาง SoundCloud 


อ้างอิง

ปรามินทร์ เครือทอง. (2558). วรรณคดีขี้สงสัย. กรุงเทพฯ : พิมพ์อ่าน.

มาลัย (จุฑารัตน์). (2562). กำเนิดเทวดา. กรุงเทพฯ : สถาพรบุ๊คส์.

เรียบเรียงโดย โยธิน ครุธพันธ์