พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชกรณียกิจเมื่อครั้งเสด็จฯ จังหวัดระนอง

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรจังหวัดระนอง เมื่อวันที่ 28-30 มกราคม พ.ศ.2471 ซึ่งระนองเป็นจังหวัดหนึ่งในเส้นทางการเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลภูเก็ต ตลอดระยะเวลาที่ทรงประทับแรมในจังหวัดระนอง พระองค์ทรงประกอบพระราชกรณียกิจที่สำคัญ อาทิ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ประชาชนได้เข้าเฝ้าฯ ทอดพระเนตรภูมิสถานบ้านเมืองและภูมิประเทศธรรมชาติ และทรงให้ความสำคัญกับบุคคลผู้ซึ่งสร้างคุณประโยชน์แก่บ้านเมือง

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมเยียนราษฎรจังหวัดระนอง เมื่อวันที่ 28-30 มกราคม พ.ศ.2471 ซึ่งระนองเป็นจังหวัดหนึ่งในเส้นทางการเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลภูเก็ต รวมทั้งสิ้น 5 จังหวัดในภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดพัทลุง ตรัง ระนอง ภูเก็ต และพังงา ตามลำดับ โดยกระบวนรถไฟพิเศษจากสถานีจิตรลดา เรือพระที่นั่ง และรถยนต์ ระหว่างวันที่ 24 มกราคม-11 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2471 เป็นเวลา 18 วัน ถือเป็นครั้งที่ 2 ของการเสด็จประพาสในประเทศ หลังจากการเสด็จเลียบมณฑลฝ่ายเหนือและมณฑลพายัพเมื่อ ปี พ.ศ. 2469

จังหวัดระนอง เป็นจังหวัดแรกของภาคใต้บนชายฝั่งทะเลอันดามัน ตั้งอยู่บนส่วนที่แคบที่สุดของคาบสมุทรมลายู โดยคำว่า “ระนอง” เพี้ยนมาจากคำว่า “แร่นอง” เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของแร่ดีบุก ถือเป็นจังหวัดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จฯ ยังจังหวัดระนอง ได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจที่สำคัญด้านต่าง ๆ อาทิ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ข้าราชการ พ่อค้า และประชาชนได้เข้าเฝ้าฯ เสด็จประพาสพุน้ำร้อน ทอดพระเนตรกระบวนช้างบรรทุกแร่ดีบุก ทอดพระเนตรภูมิสถานบ้านเมือง โดยตลอดเส้นทางในจังหวัดระนองที่เสด็จฯ ผ่าน ตามบ้านเรือนได้ประดับตกแต่งเครื่องบูชาหน้าบ้าน และมีราษฎรเฝ้าชมพระบารมีรอรับเสด็จกันตามถนนหนทางมากมาย

ซุ้มรับเสด็จฯ ของสมาคมซุ่นลั่นเซีย บรืเวณถนนเรืองราษฎร์ จังหวัดระนอง ซึ่งตกแต่งอย่างงดงาม

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้ความสำคัญกับบุคคลผู้ซึ่งสร้างคุณประโยชน์แก่บ้านเมือง โดยได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังสุสานสกุล ณ ระนอง เพื่อทรงวางพวงมาลาที่ฝังศพ ซึ่งสกุล ณ ระนอง เป็นสกุลที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระราชทานแก่พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซู้เจียง) ต้นสกุลที่มาจากประเทศจีน และเป็นเจ้าเมืองคนแรกของระนองที่ได้สร้างคุณประโยชน์ไว้มากมาย อาทิ ผู้บุกเบิกการทำแร่ดีบุกในจังหวัดระนอง พัฒนาการสินค้าส่งออกไปขายต่างประเทศ และทรงโปรดให้พระยาเทวาธิราชไปเยี่ยมพระยาดำรงสุจริต (คอยู่หงี ณ ระนอง) ซึ่งป่วยเป็นอัมพาตที่บ้านไม่สามารถมาเข้าเฝ้าได้ นอกจากนี้ พระองค์ทรงพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่ราชการ พระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์เลื่อนและแต่งตั้งข้าราชการ

สะพานท่าเรือหน้าเมืองระนอง บริเวณปากน้ำระนอง ซึ่งเป็นสะพานที่เรือพระที่นั่งเทียบท่า

เสด็จพระราชดำเนินถึงจังหวัดระนอง

วันจันทร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ.2471

เวลา 15.20 น. เรือพระที่นั่งมหาจักรกรีถึงอ่าวหน้าจังหวัดระนอง เรือหลวงรัตนโกสินทร์ ซึ่งทอดอยู่ ณ ที่นั้น ยิงปืนถวายดำนับ 21 นัด เรือพระที่นั่งทอดแล้ว ม.อ.ท.หม่อมเจ้าสฤษดิเดช สมุหเทศาภิบาลภูเก็ต นำผู้ว่าราชการจังหวัดเฝ้าบนเรือพระที่นั่ง

เวลาค่ำ ที่บนฝั่งปากน้ำจังหวัดระนอง จุดโคมประทีปโคมและจุดดอกไม้ไฟถวาย พระองค์ทรงประทับแรมในเรือพระที่นั่ง 1 ราตรี 

วันอังคารที่ 29 มกราคม พ.ศ2471

เวลา 10.20 น. ทรงเรือยนต์พระที่นั่งจากเรือพระที่นั่งมหาจักรีเสด็จประพาสลำน้ำปากจั่นเลียบฝั่งผ่านวิคตอเรียพอยท์

เวลา 15.30 น. ทรงเรือกรรเชียงพระที่นั่งพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินี เรือยนตร์จูงไปตามลำน้ำระนองเทียบที่ท่าเมือง มีข้าราชการ พ่อค้า และราษฎร คอยเฝ้ารับเสด็จเป็นจำนวนมาก ผู้ว่าราชการจังหวัดทูลเกล้าฯ ถวายพระแสงราชศัสตราประจำเมือง จากนั้นทรงรถยนตร์พระที่นั่งสู้ตำหนักรัตนรังสรรค์ซึ่งจัดเป็นที่ประทับแรม ระวางทางซึ่งเสด็จผ่านมีราษฎรตั้งเครื่องบูชาตามหน้าบ้านและคอยเฝ้าตลอดทาง

พระแสงราชศัสตราประจำเมือง เป็นสัญลักษณ์แทนพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชกำหนดว่า “เมื่อพระมหากษัตริย์ เสด็จไปประทับในจังหวัดใด เมื่อใด ให้ถวายพระแสงราชศัสตราสำหรับจังหวัด มาไว้ประจำพระองค์ตลอดเวลาที่เสด็จประทับอยู่ในจังหวัดนั้น…” โดยมีพระราชประสงค์หลักที่จะให้พระแสงราชศัสตราเป็นสัญลักษณ์แทนพระองค์ และใช้สำหรับแทงน้ำในการพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาในหัวเมือง เป็นธรรมเนียมประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดต่อกันมา

เวลา 17.00 น. ทรงรถยนต์พระที่นั่งจากพระตำหนักรัตนรังสรรค์เสด็จประทับพลับพลาประทับร้อนที่ใกล้บ่อน้ำร้อน เสวยเครื่องว่างซึ่งสกุล ณ ระนองจัดถวาย ระวางนี้กระบวนช้างบรรทุกแร่พื้นเมืองเดินถวายทอดพระเนตร แล้วเสด็จกลับที่ประทับแรม เวลาค่ำหลังเสวย มีการแห่โคมไฟ มหรสพพื้นเมือง และละครพม่าแสดงถวายทอดพระเนตรด้วย

พลับพลาประทับหน้าพระที่นั่งรัตนรังสรรค์ จังหวัดระนอง

วันพุธที่ 30 มกราคม 2471

เวลา 10.30 น. เสด็จออกพลับพลายกหน้าพระตำหนักรัตนรังสรรค์พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินี ประทับพระรชอาศน์ ให้ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชนเฝ้าฯ อ.ท.พระยาอมรศักดิ์ประสิทธิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง อ่านคำถวายชัยในนามของข้าราชการและประชาชน อ.อ.พระยาทวีวัฒนากร ผู้แทนสกุล ณ ระนอง อ่านคำถวายพระพรชัยในนามของสกุล ณ ระนอง ด้วยทรงตอบแล้ว พระราชทานตราและสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์แล้ว สกุล ณ ระนอง ถวายของซึ่งได้พร้อมกันจัดสรรขึ้นด้วยความจงรักภักดี

ทรงรถยนตร์พระที่นั่งไปยังฮวงซุ้ย สกุลณระนอง ทรงวางพวงมาลา ณ ที่ฝังศพพระยาดำรงสุจริต (คอซูเจียง) ผู้เป็นต้นสกุล และพระราชทานพวงมาลาแก่พระยาทวีวัฒนากร เพื่อไปวาง ณ ที่ฝังศพพระยาดำรงสุจริต (คอซิมก้อง) และพระยารัษฎานุประดิษฐ์ (คอซิมบี๊) ด้วยแล้วเสด็จกลับสู่ที่ประทับแรม โปรดให้พระยาเทวาธิรารไปเยี่ยมพระยาดำรงสุจริต (คอยู่หงี ณ ระนอง) ซึ่งป่วยเป็นโรคลมอัมพาตไม่สามารถจะมาเฝ้าได้

เวลา 14.00 น. เสด็จออกพระตำหนักรัตนรังสรรค์ หัวหน้ามหาดเล็กเวรศักดิ์นำบุตรหลวงในสกุล ณ ระนอง เฝ้าถวายตัวเป็นมหาดเล็ก 14 คน พระราชทานของส่วนพระองค์เพื่อเป็นการตอบแทนแก่ผู้ที่ได้จัดการต้อนรับแล้ว ทรงรถยนต์พระที่นั่งสะพานท่า มีข้าราซการกรมการพิเศษ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านเข้าเฝ้า ประทับเรือยนตร์พระที่นั่งเสด็จสู่เรือพระที่นั่งมหาจักรี

เวลา 16.00 น. เรือพระที่นั่งมหาจักรกรีออกจากอ่าวระนองไปยังจังหวัดภูเก็ต เรือพระที่นั่งเดินทางตลอดคืน

พระราชทานพระราชดำรัสแก่ราษฎรชาวจังหวัดระนอง

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำรัสแก่ราษฎรชาวจังหวัดระนอง เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2471 ณ พระที่นั่งรัตนรังสรรค์ ความตอนหนึ่งว่า

“…ที่เรามีความประสงค์จะมาให้เมืองระนองในคราวเลียบมณฑลภูเก็ตครั้งนี้ ด้วยเห็นว่าเมืองระนองถึงอาณาเขตต์แลผู้คนพลเมืองไม่สู้มากมายก็จริง แต่เป็นหัวเมืองอยู่ต่อแดนต่างประเทศ ทั้งเป็นที่มีการทำเหมืองแร่มากด้วยอีกอย่างหนึ่ง นอกจากนั้นเราเคยได้ทราบว่าสมเด็จพระบรมชนกนารถฯ กับทั้งสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชของเราโปรดเมืองระนองนี้ ทั้งสองพระองค์เราจึงใคร่จะมาเห็นบ้าง เมื่อได้มาเห็นบ้านเมืองมีความเจริญดีอยู่ก็ยินดีด้วยสมประสงค์ทุกประการดังมุ่งหมายมา

เมืองระนองนี้ผิดกับหัวเมืองอื่นเป็นข้อสำคัญอยู่ในบางอย่างคือ ที่อยู่ต่อเขตต์แดนกับต่างประเทศอย่าง ๑ แลเป็นที่มีแร่ดีบุกมาก ผู้คนพลเมืองย่อมมีชนต่างด้าวชาวประเทศพวกที่ทำเหมืองแร่ไปมาปะปนอยู่เป็นอันมากเนืองนิจ ๑ การปกครองเมืองระนองจะเรียบร้อยได้ก็ด้วยผู้มีตำแหน่งหน้าที่ในการปกครองเอาใจใส่สอดส่องแลปฏิบัติราชการโดยรัฏฐาภิปาลโนบายอันชอบ เพื่อบำรุงรักษามิตรภาพกับหัวเมืองต่างประเทศที่ใกล้เคียง แลทำนุบำรุงไพร่บ้านพลเมืองทุกจำพวกให้ร่มเย็นเป็นสุข แลให้ประกอบการอาชีพโดยชอบธรรม…”

พระที่นั่งรัตนรังสรรค์

พระตำหนักที่ประทับแรมของพระมหากษัตริย์ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2433 เพื่อถวายเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ครั้งเสด็จฯ เลียบมณฑลปักษ์ใต้ ซึ่งพระยารัตนเศรษฐี (คอซิมก๊อง) เจ้าเมืองระนองในขณะนั้น เป็นผู้สร้างถวาย เมื่อเสด็จทอดพระเนตรเห็นพลับพลาที่ประทับ มีพระราชดำรัสว่า “ทำงดงามมั่นคงสมควรจะเป็นวังยิ่งกว่าจะเป็นพลับพลาจึงพระราชทานชื่อ “พระที่นั่งรัตนรังสรรค์” มีความหมายว่า พระที่นั่งที่พระยารัตนเศรษฐีเป็นผู้สร้าง เพื่อเป็นเกียรติยศแก่เมืองระนองและสกุลของผู้สร้าง สำหรับตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรมแบบ Europe cabanas มีลักษณะเป็นกลุ่มเรือนไม้ขนาดใหญ่ มีทางเดินเชื่อมต่อกันโดยตลอด องค์พระที่นั่งสร้างด้วยไม้สักและไม้กระยาเลย ส่วนฝาพระตำหนักใช้ไม้ระกำ หลังคาเป็นรูปแปดเหลี่ยมมุงด้วยกระเบื้องไม้ มีลักษณะพิเศษคือเป็นพระที่นั่งที่มีการเข้าสลักไม้แทนตะปู ซึ่งเป็นการนำวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นของภาคใต้มาใช้ในงานสถาปัตยกรรม

พระที่นั่งรัตนรังสรรค์

ปี พ.ศ.2444 ในสมัยพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอยู่หงี่) เป็นเจ้าเมืองระนอง ได้ปรับปรุงและดัดแปลงพระที่นั่งรัตนรังสรรค์ใหม่ เนื่องด้วยชำรุดทรุดโทรมลง โดยสร้างเป็นรูปเรือนตึกก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น ทาสีขาว หันหน้ามุขไปทางด้านทิศตะวันตกและประดับตราพระครุฑพ่าห์ พระที่นั่งองค์ใหม่ยังได้ใช้เป็นที่ประทับของกษัตริย์อีก 2 พระองค์ ได้แก่ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7

ปี พ.ศ.2507 ได้มีการรื้อถอนองค์พระที่นั่งเพื่อสร้างเป็นศาลากลางจังหวัด ปัจจุบัน จังหวัดระนองได้มีสร้างพระราชวังรัตนรังสรรค์ (จำลอง) ขึ้น บนเนินเขานิเวศน์คีรีใกล้เคียงกับบริเวณเดิม เพื่อเป็นอนุสรณ์การประทับแรมของพระมหากษัตริย์ทั้ง 3 พระองค์ และเป็นสถานที่ท่องเที่ยงเชิงประวัติศาสตร์ของจังหวัดระนอง

ข้อมูลเพิ่มเติมและแหล่งทรัพยากร Open Access ที่น่าสนใจ

งานเสวนา (ออนไลน์) หัวข้อ “พระปกเกล้าฯ กับจังหวัดระนอง” โครงการทางวิชาการเนื่องในโอกาสวันสถาปนามหาวิทยาลัย ครบ 44 ปี จัดโดย ชมรมนักศึกษา ชมรมบัณฑิต มสธ. จังหวัดระนอง และศูนย์วิทยบริการและชุมชนสัมพันธ์ มสธ. นครศรีธรรมราช ซึ่งบุคลากรของห้องสมุด มสธ. คุณศิริน โรจนสโรช บรรณารักษ์ชำนาญการ หัวหน้าหน่วยสนเทศสุโขทัยศึกษา ได้เข้าร่วมเป็นวิทยากรแลกเปลี่ยนความรู้ในการเสวนาครั้งนี้

เอนก นาวิกมูล, ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์, จังหวัดระนอง. (2561). สมุดภาพเมืองระนอง. นนทบุรี : สำนักพิมพ์ต้นฉบับ.

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา, 2405-2486 (2474). ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 50 เรื่องตำนานเมืองระนอง. โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทย.

เอกสารอ้างอิง

สถาบันพระปกเกล้า. (2543). พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเลียบมณฑลภูเก็ต พุทธศักราช 2471. กรุงเทพฯ: สถาบัน. 

บรรเจิด อินทุจันทร์ยง (บรรณาธิการ). (2547). จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในพระบาทสมเด็จพระปรมินทร์มหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยุ่หัว รัชกาลที่ ๗ (ภาคปลาย). กรุงเทพฯ: วัชรินทร์การพิมพ์.

เรียบเรียงโดย

รัชกร คงเจริญ บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ