รองศาสตราจารย์ กฤติกา จิวาลักษณ์ เป็นผู้มีบทบาทในการพัฒนาห้องสมุดในยุค digital disruption โดยปรับเปลี่ยนวิธีบริหารจัดการและให้บริการในลักษณะห้องสมุดดิจิทัลเต็มรูปแบบ ทั้งในด้านการสนับสนุนการจัดการเรียนการสอน การพัฒนาคลังสารสนเทศและการผลิตสื่อรูปแบบใหม่เพื่อการบริการสารสนเทศ รวมถึงการสร้างภาพลักษณ์และกลยุทธ์การสื่อสารเชิงรุกของห้องสมุด
ประวัติ ท่านสำเร็จการศึกษาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังจากจบการศึกษาในปี พ.ศ. 2532 ได้เข้ารับราชการในตำแหน่งบรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2538 ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นหัวหน้าหน่วยบริการสื่อสิ่งพิมพ์ต่อเนื่อง ฝ่ายบริการสื่อการศึกษา และในปี พ.ศ. 2541 ได้โอนย้ายไปปฏิบัติราชการในตำแหน่งอาจารย์ประจำสาขาวิชาศิลปศาสตร์ มสธ. และได้รับแต่งตั้งให้ผู้อำนวยการสำนักบรรณสารสนเทศ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564 – ปัจจุบัน
สำนักบรรณสารสนเทศ มสธ. ภายใต้ในการกำกับดูแลของ รองศาสตราจารย์กฤติกา จิวาลักษณ์ ได้มีการเปลี่ยนแปลงและมีพัฒนาการในหลายด้าน เพื่อตอบสนองนโยบายของมหาวิทยาลัยตามแผนปรับแต่งแปลงโฉม มสธ. พ.ศ. 2565-2569 (STOU Reinventing Plan 2022-2026) มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยเปิดที่ใช้ระบบการเรียนการสอนทางไกลแบบดิจิทัล ดังนี้
ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและบริการสารสนเทศ เพิ่มขีดความสามารถการให้บริการของห้องสมุด เปิดตัวช่องทางการติดต่อใหม่ของห้องสมุด คือ Line Official Account เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการสามารถตรวจสอบสถานะรายการทรัพยากรสารสนเทศ ทั้งยังสามารถติดต่อบรรณารักษ์ทางออนไลน์ได้ รวมทั้งเป็นช่องทาง update สาระความรู้ ข่าวสาร และกิจกรรมที่น่าสนใจ การเปิดตัวแอปพลิเคชันระบบห้องสมุดอัตโนมัติ MATRIX Library การพัฒนาระบบตอบคำถามอัตโนมัติ โดยระบบดังกล่าวจะช่วยอำนวยความสะดวก และสามารถใช้บริการห้องสมุดได้ทุกที่ทุกเวลา นอกจากนี้ ยังมีการนำชมห้องสมุดด้วยเทคโนโลยีเสมือนจริง และการจัดหลักสูตรอบรม/แนะนำการค้นคว้าทางวิชาการทางออนไลน์เป็นประจำทุกเดือน
ด้านการสนับสนุนการเรียนการสอน การปรับรูปแบบการพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ โดยมุ่งเน้นการจัดหาสื่อการศึกษาในรูปอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก สนับสนุนการจัดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย โดยทำหน้าที่คัดสรรทรัพยากรการเรียนรู้ทุกรูปแบบ เช่น e-Book, e-Article, Youtube, Podcast, VDO Clip ฯลฯ เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนออนไลน์สมบูรณ์แบบของมหาวิทยาลัย คัดสรรสื่อเสริมช่วยในการเรียนของนักศึกษาในระบบ e-Learning
ด้านการบริการทางวิชาการแก่สังคม การจัดกิจกรรมเผยแพร่สารสนเทศภูมิปัญญาท้องถิ่นนนทบุรีศึกษา “ทัศนารามัญ@มสธ” ซึ่งเป็นงานเผยแพร่ภูมิปัญญาชุมชนชาวมอญที่พัฒนาเป็นสื่อในรูปแบบหนังสือและหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ และได้พัฒนาสื่อเสมือนจริง AR (Augmented Reality) และ VR (Virtual Reality) เพื่อเก็บรักษาภูมิปัญญาในระดับสังคมและระดับชาติ ผ่านโครงการศูนย์การเรียนรู้เพื่อชุมชนพหุปัญญา ตลอดจนเสริมสร้างเครือข่ายการให้บริการวิชาการแก่หน่วยงานในองค์กรต่าง ๆ ส่งเสริมและเผยแพร่ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของชาติ และเป็นแหล่งเรียนรู้เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับประวัติพัฒนาการของมหาวิทยาลัยและระบบการศึกษาทางไกล
ด้านการพัฒนาภาพลักษณ์และการสื่อสารเชิงรุก มุ่งเน้นการสร้างการรับรู้และความผูกพันของสมาชิกห้องสมุด การจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ในรูปแบบ VDO Clip และ Podcast ที่ส่งเสริมในด้านการบริการห้องสมุด ศิลปวัฒนธรรมและชุมชน และส่งเสริมด้านอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัย ได้แก่ โครงการจัดทำคลิปวิดีโอแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชุมชนเกาะเกร็ด, โครงการประชาสัมพันธ์ส่งเสริมภาพลักษณ์สำนักฯ รายการ บรรณสารฯ ติดเล่า Podcast, โครงการประชาสัมพันธ์และส่งเสริมภาพลักษณ์ห้องสมุด ศวช. มสธ. และโครงการพัฒนาและเผยแพร่สารสนเทศ ร้อยเรื่องเล่า… 100 ความทรงจำ สำนักบรรณสารสนเทศ ที่มีผลผลิตทั้งในรูป VDO Clip, e-Postcard และ e-Book
ในส่วนของทิศทางการพัฒนางานห้องสมุดในอนาคต ห้องสมุด มสธ. เตรียมเข้ารับการรับรองมาตรฐานสากลสำหรับคลังสารสนเทศดิจิทัลงานวิจัยตามมาตรฐานคอร์ทรัสซีล (CoreTrustSeal) การพัฒนาระบบคลังสารสนเทศดิจิทัลของสื่อต่าง ๆ อาทิ e-Articles, e-Thesis คลังสารสนเทศจดหมายเหตุมหาวิทยาลัย คลังสารสนเทศพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว การพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อให้บริการ e-Book ชุดวิชาของ มสธ. และอื่น ๆ การปรับเปลี่ยนบริการห้องสมุดเป็นออนไลน์สมบูรณ์แบบด้วยเทคโนโลยี AR, VR และ MR การเตรียมการย้ายห้องสมุดจากอาคารบรรณสารสู่อาคารห้องสมุดและศูนย์การเรียนรู้ และการเตรียมบุคลากรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีดิจิทัล
ข้อมูลเพิ่มเติมที่น่าสนใจ
? ลงทะเบียนบริการสอน/แนะนำการค้นคว้าทางวิชาการด้วย Microsoft Teams ?? bit.ly/3RpIhzL
? Line Official ห้องสมุด มสธ. ?? https://lin.ee/7kovVTi
? การใช้งานแอปพลิเคชัน MATRIX Library ?? bit.ly/3SHQ8d8
? โปสการ์ด “ร้อยเรื่องเล่า… 100ความทรงจำ สำนักบบรรณสารสนเทศ” ?? bit.ly/3xkLaKV
? รายการ “บรรณสารติดเล่า Podcast” ?? bit.ly/3LVnOlg
? หนังสือ “20 ปี บรรณสาร พัฒนาการที่ภาคภูมิ” ?? bit.ly/3LhZXe7
ร้อยเรื่องเล่า…100 ความทรงจำ
เป็นการเล่าเรื่องจากภาพถ่ายในรูปแบบโปสการ์ดอิเล็กทรอนิกส์ (Postcard) จำนวน 100 ใบ ร้อยเรียงเรื่องราวตามไทม์ไลน์ ตั้งแต่อดีตปี พ.ศ. 2521 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลผลิตจาก “โครงการพัฒนาและเผยแพร่สารสนเทศ: ร้อยเรื่องเล่า…100 ความทรงจำ…สำนักบรรณสารสนเทศ” เพื่อบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ ทั้งด้านประวัติ พัฒนาการ โครงการ/กิจกรรม และความทรงจำเกี่ยวกับห้องสมุด รวมถึงเป็นการอำลาอาคารบรรณสาร (เดิม) ก่อนย้ายเข้าสู่ที่ทำการแห่งใหม่ ณ “อาคารห้องสมุดและศูนย์การเรียนรู้ มสธ.”
ติดตาม โครงการ “ร้อยเรื่องเล่า…100 ความทรงจำ…สำนักบรรณสารสนเทศ” ได้ที่
- Facebook ห้องสมุด มสธ.: POSTCARD ร้อยเรื่องเล่า…100 ความทรงจำ…สำนักบรรณสารสนเทศ
- YouTube: รายการ “ร้อยเรื่องเล่า..จากชาวบรรณสารฯ”
เรียบเรียงโดย
ดวงรัตน์ ดีขั้ว บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ