นางวรนุช สุนทรวินิต ผู้อำนวยการคนที่ 7 ของสำนักบรรณสารสนเทศ (31 มกราคม 2556 – 30 กันยายน 2563)

STOULIB Postcard No.24

นางวรนุช สุนทรวินิต เป็นผู้บุกเบิกและมีบทบาทสำคัญในการดำเนินการให้บรรลุพันธกิจของสำนักบรรณสารสนเทศมากมายหลายหลายด้าน ทั้งในด้านการพัฒนาห้องสมุดดิจิทัลที่เป็นต้นแบบสำคัญ การพัฒนาองค์ความรู้ด้านนนทบุรีศึกษาซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ทรงคุณค่า โดยดำเนินการตั้งแต่ศึกษา รวบรวม จัดเก็บอย่างเป็นระบบและตามมาตรฐาน รวมทั้งพัฒนาองค์ความรู้ในงานบริการห้องสมุดและอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัย ที่สำคัญได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจในการถ่ายทอดและเผยแพร่องค์ความรู้ในรูปแบบสื่อที่หลากหลายผ่านโครงการบริการวิชาการแก่สังคมอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2556-2563 นอกจากนี้ยังเป็นผู้ผลักดันให้เกิดโครงการห้องสมุดและศูนย์การเรียนรู้ มสธ. และยังคงสนับสนุนการดำเนินงานของสำนักบรรณสารสนเทศจนถึงปัจจุบัน อาทิ โครงการศูนย์การเรียนรู้เพื่อชุมชนพหุปัญญา

ประวัติ ท่านสำเร็จการศึกษาสาขาวิชาบรรณารักษศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโทสาขาวิชาบรรณารักษศาสตร์ การศึกษามหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ท่านเข้ารับราชการตำแหน่งบรรณารักษ์ ณ ศูนย์บรรณสารสนเทศ มสธ. เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2524 ท่านเคยฝึกอบรมด้านห้องสมุดที่ Akron University จากประเทศสหรัฐอเมริกา และ Manash University จากประเทศออสเตรเลีย ในช่วงที่ทำงานในสำนักฯ เคยดำรงตำแหน่งเป็นรองผู้อำนวยสำนักบรรณสารสนเทศมาอย่างต่อเนื่อง 17 ปี จาก 5 สมัยผู้อำนวยการสำนักฯ และได้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสำนักบรรณสารสนเทศ ระหว่างวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2556 ถึง 30 กันยายน พ.ศ. 2563

ในระยะเวลากว่า 8 ปี ที่ท่านได้ดำรงตำแหน่งนั้น ห้องสมุดมีพัฒนาการและบทบาทหน้าที่มากมายในหลาย ๆ ด้าน อาทิ ด้านการพัฒนาและต่อยอดงานวิจัยของห้องสมุด เช่น โครงการการพัฒนาเครือข่ายบริการองค์ความรู้และสารสนเทศดิจิทัลสู่ชุมชน โครงการการจัดการสารสนเทศภูมิปัญญาท้องถิ่นนนทบุรีศึกษา โดยท่านเป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มและมีบทบาทสำคัญในจัดตั้งโครงการ จึงมีการต่อยอดการจัดทำรวบรวมองค์ความรู้หนังสือนนทบุรีศึกษาและเผยแพร่สารสนเทศนนทบุรีศึกษาให้หลากหลายรูปแบบ รวมถึงสร้างสรรค์ผลงานที่เกี่ยวกับสารสนเทศอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัย ทั้งในเรื่องสารสนเทศพระปกเกล้าศึกษา และจดหมายเหตุมหาวิทยาลัย จนมีผลผลิตองค์ความรู้ที่ได้จากการดำเนินงานโครงการบริการวิชาการแก่สังคมทุกปี อาทิ 1) หนังสือและหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ชุดนนทบุรีศึกษา, 120 ปีผ่านฟ้าประชาธิปก, มสธ. ใต้ร่มพระบารมี, วิจิตรกิตติการ และ หลักและแนวปฏิบัติการจัดการจดหมายเหตุดิจิทัล 2) นิทรรศการเคลื่อนที่ จำแนกได้ 3 กลุ่ม ได้แก่ เทิดทูนสถาบัน นนทบุรีศึกษา และแนะนำหนังสือในโครงการบริการวิชาการแก่สังคม 3) นิทรรศการออนไลน์ จำแนกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ เทิดทูนสถาบัน นนทบุรีศึกษา และนานาสาระ 4) แหล่งเรียนรู้และเว็บไซต์ ได้แก่ 120 ปี ผ่านฟ้าประชาธิปก, พิพิธภัณฑ์ 360 องศา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว, นวัตกรรมวิจิตร, ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน และ 3D Virtual Library 5) การจัดงานสัมมนา/ฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ 6) การนำเสนอผลงานในการประชุมสัมมนาทางวิชาการจนได้รับรางวัลและเกียรติคุณ

ในปี พ.ศ. 2558 ท่านได้ริเริ่มจัดทำโครงการก่อสร้างห้องสมุดและศูนย์การเรียนรู้ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ซึ่งเป็นการจัดทำโครงการขึ้นเพื่อตอบโจทย์พันธกิจของมหาวิทยาลัยในการพัฒนาองค์กรสู่การเป็นมหาวิทยาลัยเปิดชั้นนำของโลก โดยการก่อสร้างอาคารห้องสมุดและศูนย์การเรียนรู้นี้ได้ถูกจัดเป็นพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้พหุปัญญาสังคม ที่รวมบริการห้องสมุดเพื่อสนับสนุนการเรียนการสอน การสร้างสรรค์งานวิชาการและนวัตกรรม การจัดแสดงนิทรรศการสุโขทัยธรรมาธิราชนิทรรศน์ที่เป็นแหล่งเรียนรู้อัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัย พระปกเกล้าศึกษา และนนทบุรีศึกษา ซึ่งอาคารห้องสมุดและศูนย์การเรียนรู้ได้ออกแบบจนได้รับรางวัลระดับดี พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณด้านมาตรฐานการออกแบบอาคารที่มีประสิทธิภาพพลังงาน จัดโดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงาน เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ด้านความร่วมมือเครือข่ายห้องสมุดระดับภูมิภาค ท่านมีส่วนร่วมในการเป็นคณะกรรมการอำนวยการข่ายงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาคโดยได้รับแต่งตั้งให้เป็นเหรัญญิก และในปี พ.ศ. 2560 ท่านเป็นหนึ่งในบรรณาธิการหลักในการจัดทำหนังสือ “3 ทศวรรษ PULINET สานพลังที่ยั่งยืน” ที่เล่าถึงเรื่องราวความก้าวหน้าในการดำเนินงานความร่วมมือระหว่างห้องสมุดที่มีมายาวนานถึง 30 ปี

จากระยะเวลาที่ท่านได้ดำรงตำแหน่งนั้น ท่านมีส่วนทำให้มหาวิทยาลัยมีผลผลิตทางวิชาการ และงานบริการแก่สังคมที่มีความยั่งยืนต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศชาติ ซึ่งผลงานของท่านได้รับรางวัล อาทิ หนังสือ นนทบุรีศรีมหานคร ได้รับรางวัลหนังสือดีเด่น ประเภทสารคดี ปี 2561 หนังสือปีพาทย์มอญรำและพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดชมภูเวก ได้รับเกียรติบัตรหนังสือเข้ารอบสุดท้ายในการประกวดหนังสือดีเด่นแห่งชาติ ส่วนท่านยังได้รับยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นข้าราชการพลเมืองดีเด่น ปี พ.ศ. 2556 เกียรติบัตรบุคลากรดีเด่นของมหาวิทยาลัยปี พ.ศ. 2556 และเกียรติบัตรบุคลากรสายสนับสนุนผู้มีผลงานดีเด่นแห่งชาติ ปขมท. ปี พ.ศ. 2558

ข้อมูลอ้างอิงเพิ่มเติม

? แหล่งเรียนรู้ออนไลน์ “นนทบุรีศึกษา” ??bit.ly/3GMkQfz
? หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ “120 ปี ผ่านฟ้าประชาธิปก” ??bit.ly/3yTFjfI
? หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ “หลักและแนวปฏิบัติการจัดการจดหมายเหตุมหาวิทยาลัย” ??bit.ly/3RPd3Da
? หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ “3 ทศวรรษ PULINET สานพลังที่ยั่งยืน” ??bit.ly/3Lk6MNh
? หนังสือ “นวัตกรรมบรรณสาร พ.ศ. 2556-2563” ??bit.ly/3DpOkRo

ร้อยเรื่องเล่า…100 ความทรงจ

เป็นการเล่าเรื่องจากภาพถ่ายในรูปแบบโปสการ์ดอิเล็กทรอนิกส์ (Postcard) จำนวน 100 ใบ ร้อยเรียงเรื่องราวตามไทม์ไลน์ ตั้งแต่อดีตปี พ.ศ. 2521 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลผลิตจาก “โครงการพัฒนาและเผยแพร่สารสนเทศ: ร้อยเรื่องเล่า…100 ความทรงจำ…สำนักบรรณสารสนเทศ” เพื่อบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ ทั้งด้านประวัติ พัฒนาการ โครงการ/กิจกรรม และความทรงจำเกี่ยวกับห้องสมุด รวมถึงเป็นการอำลาอาคารบรรณสาร (เดิม) ก่อนย้ายเข้าสู่ที่ทำการแห่งใหม่ ณ “อาคารห้องสมุดและศูนย์การเรียนรู้ มสธ.”

ติดตาม โครงการ “ร้อยเรื่องเล่า…100 ความทรงจำ…สำนักบรรณสารสนเทศ” ได้ที่

เรียบเรียงโดย

ดวงรัตน์ ดีขั้ว บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ

[sc name=”libinfoservice” ][/sc]