ศาสตราจารย์ เกียรติคุณ ดร.ชุติมา สัจจานันท์ ผู้อำนวยการคนที่ 3 ของสำนักบรรณสารสนเทศ (11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 – 30 กันยายน พ.ศ. 2540)

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ชุติมา สัจจานันท์ เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการพัฒนาสำนักบรรณสารสนเทศสู่การเป็นห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์และขับเคลื่อนบทบาทสำนักบรรณสารสนเทศในเวทีวิชาการ วิชาชีพบรรณารักษศาสตร์ในระดับชาติและนานาชาติ และเป็นผู้ริเริ่มสร้างทีมบรรณารักษ์นักวิจัย

ท่านสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโทจาก สาขาบรรณารักษศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้รับทุน UNESCO/UDPN ไปศึกษา Post-Graduate Diploma Science Information Specialist in Southeast Asia และ Master of Library Science (Information Science) ที่ University of the Philippines และทุนมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาการศึกษา จาก Charles Sturt University ประเทศออสเตรเลีย

การทำงานที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ท่านเป็นศาสตราจารย์แขนงวิชาสารสนเทศศาสตร์ สาขาวิชาศิลปศาสตร์ผู้ร่วมบุกเบิกการจัดการศึกษาสารสนเทศศาสตร์ระดับปริญญาตรี ปริญญาโทและปริญญาเอก ด้วยระบบการศึกษาทางไกล และได้ดำรงตำแหน่งบริหารที่สำคัญ ได้แก่ ประธานกรรมการประจำสาขาวิชาศิลปศาสตร์ รองอธิการบดีฝ่ายปฏิบัติการ ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรมการพิมพ์แห่งชาติ และผู้อำนวยการของสำนักบรรณสารสนเทศ ซึ่งได้ดำรงตำแหน่งในระหว่างวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 ถึง 30 กันยายน พ.ศ. 2540 ท่านมีผลงานและได้รับการยกย่องประกาศเกียรติคุณมากมายในหลายโอกาส ทั้งในระดับสถาบัน ระดับชาติและนานาชาติ เป็นกองบรรณาธิการวารสารวิชาชีพระดับนานาชาติกรรมการบริหารองค์การวิชาชีพระดับนานาชาติ กล่าวเน้นเฉพาะในวิชาชีพ บุคคลดีเด่นในวิชาชีพบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์ ประจำปี 2538 ของสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย และรางวัล CONSAL 2015 Outstanding Librarian Award. (Gold Prize) เหรียญทองประจำปี ค.ศ. 2016 ของสภาบรรณารักษ์ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นับเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลเหรียญทองนี้

ในช่วงเวลาที่ท่านดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักบรรณสารสนเทศ เป็นช่วงที่ดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายปฏิบัติการมหาวิทยาลัยด้วย แม้จะเป็นช่วงเวลาอันสั้นแต่เป็นช่วงที่มีพัฒนาการสำคัญในหลาย ๆ ด้าน ทั้งในด้านพัฒนาการก้าวสู่ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ โดยสำนักได้เปิดให้บริการยืม-คืนสื่อการศึกษาด้วยระบบบาร์โค้ดเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2539 และในด้านการขับเคลื่อนบทบาทสำนักในเวทีวิชาการ วิชาชีพบรรณารักษ์ระดับชาติและนานาชาติ โดยในวันที่ 3-7 มีนาคม พ.ศ. 2540 สำนักฯ ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพร่วมกับองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ในการจัดประชุมผู้เชี่ยวชาญด้านสารนิเทศ Consultative Meeting And Workshop: Planning Human Resource Development for Information Societies มีผู้เข้าร่วมประชุมจาก 13 ประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค ซึ่งจัดที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช นอกจากนี้ทีมงานจากสำนักบรรณสารสนเทศได้เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการฝ่ายการประชาสัมพันธ์การจัดประชุมบรรณารักษ์นานาชาติ ครั้งที่ 65 ของสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยฯ และสหพันธ์ระหว่างประเทศว่าด้วยสมาคมและสถาบันห้องสมุดหรือ IFLA ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ เมื่อพ.ศ. 2542 (ค.ศ.1999) โดยงานนี้มีการเตรียมการล่วงหน้าก่อนวันประชุมล่วงหน้า 2 ปี

ท่านได้ขับเคลื่อนบรรณารักษ์ให้มีบทบาทในด้านการวิจัย ในฐานะหัวหน้าคณะวิจัยได้สร้างทีมบรรณารักษ์นักวิจัย โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูให้ทำวิจัยเรื่อง “ความเป็นครูสถิตในหทัยพระองค์: สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” ซึ่งผลงานนี้ได้รับการจัดพิมพ์และเผยแพร่ในปี พ.ศ. 2541 อย่างกว้างขวางในระดับชาติ และงานวิจัยเรื่องการพัฒนาเกณฑ์การประเมินค่าวรรณกรรมเป็นงานวิจัยที่ได้รับรางวัลงานวิจัยดีเด่นจากกระทรวงศึกษาธิการ และในด้านการศึกษา ท่านได้สนับสนุนให้บรรณารักษ์มีบทบาทในการจัดการศึกษา แขนงวิชาสารสนเทศศาสตร์ สาขาวิชาศิลปศาสตร์ ในฐานะเลขานุการ ผู้ผลิตเอกสารการสอน วิทยากรทางวิชาชีพทำให้บรรณารักษ์ได้พัฒนาความรู้และประสบการณ์ทางวิชาการอย่างกว้างขวาง

ในการบริหารงานช่วงนั้นท่านให้ความเห็นว่า บทบาททางด้านวิชาการวิชาชีพของสำนักบรรณสารสนเทศ บรรณารักษ์ และบุคลากรที่ปฏิบัติงานห้องสมุดนั้นมีความสำคัญ การเปิดตัว เปิดใจ เปิดกว้าง เปิดโอกาสของการเรียนรู้และการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นแนวคิดสำคัญที่ได้หยั่งรากฐานไว้ ณ สำนักบรรณสารสนเทศแห่งนี้ เพื่อให้บุคลากรและหน่วยงานเป็นที่ยอมรับและมีคุณค่าในสายตาของผู้ใช้บริการและสังคมต่อไป

ข้อมูลอ้างอิงเพิ่มเติม

? วารสารห้องสมุด ปีที่ 43 ฉบับที่ 1 ??bit.ly/3P8Cq0J
? งานวิจัย เรื่อง “ความเป็นครูสถิตในหทัยพระองค์: สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” ??bit.ly/3pc2DAV
? รางวัลงานวิจัยดีเด่น สาขาภาษาและวรรณกรรม เรื่อง “การพัฒนาเกณฑ์การประเมินค่าวรรณกรรมไทย” ??bit.ly/3BVfuik
? รางวัล PULINET Award ประจำปี 2563 ของข่ายงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค (PULINET) ??bit.ly/3PcF0mo
? ผลงานทางวิชาการของศาสตราจารย์ ดร.ชุติมา สัจจานันท์ ??https://bit.ly/3QC7Ltx
? หนังสือ “ตัวอักษรผ่านกาลเวลา ชุติมา สัจจานันท์” ??bit.ly/3zNOSwZ
? หนังสือ “20 ปี บรรณสาร พัฒนาการที่ภาคภูมิ” ??bit.ly/3LhZXe7

ร้อยเรื่องเล่า…100 ความทรงจ

เป็นการเล่าเรื่องจากภาพถ่ายในรูปแบบโปสการ์ดอิเล็กทรอนิกส์ (Postcard) จำนวน 100 ใบ ร้อยเรียงเรื่องราวตามไทม์ไลน์ ตั้งแต่อดีตปี พ.ศ. 2521 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลผลิตจาก “โครงการพัฒนาและเผยแพร่สารสนเทศ: ร้อยเรื่องเล่า…100 ความทรงจำ…สำนักบรรณสารสนเทศ” เพื่อบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ ทั้งด้านประวัติ พัฒนาการ โครงการ/กิจกรรม และความทรงจำเกี่ยวกับห้องสมุด รวมถึงเป็นการอำลาอาคารบรรณสาร (เดิม) ก่อนย้ายเข้าสู่ที่ทำการแห่งใหม่ ณ “อาคารห้องสมุดและศูนย์การเรียนรู้ มสธ.”

ติดตาม โครงการ “ร้อยเรื่องเล่า…100 ความทรงจำ…สำนักบรรณสารสนเทศ” ได้ที่

เรียบเรียงโดย

ดวงรัตน์ ดีขั้ว บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ

[sc name=”libinfoservice” ][/sc]

เชิญตอบแบบสำรวจการใช้บริการห้องสมุด เพื่อปรับปรุงการบริการห้องสมุดให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น