ห้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ แหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตของชาติ

ห้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี สร้างขึ้นด้วยความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กับมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติและแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของทั้งสองพระองค์ ซึ่งมหาวิทยาลัยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ให้ใช้พระนามทั้งสองพระองค์เป็นชื่อห้อง เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2536 โดยได้มอบหมายให้สำนักบรรณสารสนเทศ รวบรวมสารสนเทศพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจและเหตุการณ์ในรัชสมัยมาอย่างต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2538  ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในขณะดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานในพิธีเปิดห้อง พระองค์ทรงพระสุหร่ายและทรงเจิมป้ายชื่อห้อง จากนั้นเสด็จฯ ทอดพระเนตรภายในห้อง และทรงลงพระนามาภิไธยในสมุดเยี่ยม ก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับ

ห้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ถือเป็นห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์เฉพาะด้านที่เป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญของชาติเกี่ยวกับพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ และเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่สำคัญที่เกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ระหว่าง พ.ศ. 2468 – 2477 แนวคิดการออกแบบเพื่อสะท้อนพระราชจริยาวัตรความเป็นผู้สนพระทัยใฝ่หาความรู้ โดยใช้ศิลปะในยุคสมัยรัชกาลที่ 7 ผสมผสานกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และต้นแบบการตกแต่งส่วนหนึ่งมาจากวังศุโขทัย ซึ่งเป็นวังที่ประทับ เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา

นิทรรศการที่จัดแสดงภายในห้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ จัดแสดงเนื้อหาเกี่ยวกับพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ และเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่สำคัญ ดังนี้

นิทรรศการพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ทรงพระราชสมภพ เมื่อวันพุธที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2436 มีพระนามว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ฯ” เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ เมื่อ พ.ศ. 2448 หลังจากพระราชพิธีโสกันต์ทรงได้รับสถาปนาเป็น “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ฯ กรมขุนศุโขไทยธรรมราชา” ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าพระเจ้าอยู่หัวเสวยราชสมบัติ คำนำพระนามเปลี่ยนเป็น “สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ฯ กรมขุนศุโขทัยธรรมราชา” ทรงสำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยอีตัน และโรงเรียนนายร้อยวูลิช ประเทศอังกฤษ ทรงเข้ารับราชการในกองทัพไทย และอภิเษกสมรสกับหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี สวัสดิวัตน์ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2461 ต่อมาทรงได้รับการสถาปนาเป็น “สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ฯ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา” เมื่อ พ.ศ. 2468

นิทรรศการพระราชประวัติสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี

ทรงพระราชสมภพ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2447 พระนามเดิม คือ “หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี สวัสดิวัตน์” เป็นพระธิดาองค์เดียวในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ กับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงอาภาพรรณี พระบิดาได้ทรงนำเข้าถวายตัวแด่สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถเพื่อเรียนรู้วิชาการและขนบธรรมเนียม ทรงเข้าศึกษาในโรงเรียนราชินี หลังจากผ่านการพระราชพิธีเกศากันต์ได้อภิเษกสมรสกับสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนศุโขทัยธรรมราชา

นิทรรศการพระราชพิธีอภิเษกสมรส

วันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2461 สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนศุโขทัยธรรมราชาทรงเข้าพิธีอภิเษกสมรสกับหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี สวัสดิวัตน์ ณ พระที่นั่งวโรภาษพิมาน พระราชวังบางปะอิน ตามพระราชประสงค์ที่กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า “บัดนี้ข้าพระพุทธเจ้าได้ปฏิพัทธ์รักใคร่กับหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี ธิดาแห่งเสด็จน้า และข้าพระพุทธเจ้าอยากจะใคร่ทำการเสกสมรสกับเจ้าหญิงนั้น…” การอภิเษกสมรสครั้งนี้นับเป็นรายแรกที่ทรงพระราชดำริให้มีการสอบถามความสมัครใจของคู่ที่จะสมรส ได้ทรงลงพระนามในสมุด “ทะเบียนแต่งงาน”

นิทรรศการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

พระราชพิธีจัดขึ้นเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2468 มีการพระราชพิธีที่สำคัญ อาทิ พระราชพิธีสรงพระมูรธาภิเษก ทรงรับเครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องราชูปโภค และเครื่องประดับพระอิสริยยศ มีพระปฐมบรมราชโองการว่า “…ดูกรพราหมณ์ บัดนี้เราทรงราชภาระ ครองแผ่นดินโดยธรรมสม่ำเสมอ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและสุขแห่งมหาชน เราแผ่ราชอาณาเหนือท่านทั้งหลายกับโภคสมบัติ เป็นที่พึ่งจัดการปกครองรักษาป้องกันอันเป็นธรรมสืบไป ท่านทั้งหลายจงวางใจอยู่ตามสบายเทอญ”  โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณีขึ้นเป็น “สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี” นับเป็นครั้งแรกในสมัยรัตนโกสินทร์ที่มีการเฉลิมพระยศสถาปนาสมเด็จพระบรมราชินี นอกจากนี้มีพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร และเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครทางสถลมารค

นิทรรศการพระราชกรณียกิจในประเทศ

ตลอดรัชสมัย 9 ปี พ.ศ. 2468 – 2477 พระราชกรณียกิจเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาตินานัปการ ดังพระราชดำริที่ว่า “…เจ้าฝรั่งเขาไม่ได้ทำอะไรกันเสียเลย แต่เจ้าไทยผิดกันมาก เราถือแบบเมืองอินเดียครั้งโบราณว่าเจ้านั้นเปนกษัตริย์ คือเปนพวกที่เกิดมากสำหรับทำหน้าที่เปนหัวหน้าราษฎร ต้องปกครองดูแลทุกข์ศุขของราษฎร ต้องนึกถึงความศุขของประชาชน ที่ตัวมีหน้าที่ดูแลยิ่งกว่าความศุขของตัวเอง…” พระราชกรณียกิจที่สำคัญ อาทิ เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรท้องถิ่นต่าง ๆ ทั่วประเทศ โปรดเกล้าฯ ให้ขยายพื้นที่ประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ. 2464 ขยายหลักสูตรการศึกษาถึงขั้นปริญญาตรีและเสด็จไปในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรเป็นครั้งแรก พระราชทานพระราชวังบวรสถานมงคลให้เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานและเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดหอสมุดและพิพิธภัณฑ์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์หนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กและทรงบูรณปฏิสังขรณ์พระอารามต่าง ๆ

นิทรรศการพระราชกรณียกิจต่างประเทศ

เสด็จพระราชดำเนินต่างประเทศเพื่อเจริญพระราชไมตรีและนำประโยชน์สู่ประเทศชาติ ดังความในพระราชดำรัสว่า “…ได้มีโอกาสเห็นกิจการต่างๆ ทั้งในทางการเมืองและความเป็นอยู่แห่งพลเมืองของเรา กับได้สังเกตที่มาของสิ่งเหล่านี้ คือ เศรษฐกิจ, อุตสาหะกรรม, วิทยาศาสตร์ และของต่างๆ ที่ได้ประดิษฐ์ขึ้น อันเป็นทางนำให้เกิดความคิดสำหรับหน้าที่ผู้บัญชาการเมือง, นับว่าเราได้ประโยชน์ในทางเปิดหูเปิดตาเป็นอย่างดี. อนึ่งเราเว้นเสียมิได้ที่จะต้องกล่าวถึงความไมตรีระหว่างเพื่อนบ้านทั้งใกล้ไกลตลอดทางที่ผ่านไปมา เริ่มตั้งแต่อินโดจีน, ฮ่องกง, เซี่ยงไฮ้, ญี่ปุ่น, คานาดา, และสหปาลีรัฐอเมริกาอันเป็นที่หมายปลายทาง…” เสด็จพระราชดำเนินต่างประเทศ 4 ครั้ง คือ พ.ศ. 2472 เสด็จฯ สิงคโปร์ ชวา บาหลี พ.ศ. 2473 เสด็จฯ อินโดจีน พ.ศ. 2474 เสด็จฯ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกาและแคนาดา พ.ศ. 2477 เสด็จฯ ยุโรป

นิทรรศการพระราชพิธีฉลองพระนครครบ 150 ปี

พระราชพิธีจัดขึ้นในเดือนเมษายน พ.ศ. 2475 เนื่องในวาระ “สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์หรือกรุงเทพมหานครครบ 150 ปี” นับตั้งแต่ พ.ศ. 2325 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีตามประเพณีที่ได้ปฏิบัติสืบกันมา วันพระราชพิธีในหมายกำหนดการมี 9 วัน โดยมีรายการงานพิธีที่สำคัญ อาทิ พระราชพิธีเปิดปฐมบรมราชานุสรณ์และสะพานพระพุทธยอดฟ้า ฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดารามและวัดสุทัศน์เทพวรารามหลังมีการบูรณปฏิสังขรณ์ เสด็จพระราชดำเนินด้วยกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารคและทางชลมารค

นิทรรศการพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475

วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออกพระที่นั่งอนันตสมาคม ลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามเพื่อพระราชทานพระราชอำนาจแก่ปวงชนชาวไทย นับเป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรกหลังจากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พระองค์มีพระราชดำริเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญว่า “…อันการปกครองแบบรัฐธรรมนูญนี้ ข้าพเจ้าได้มีความเลื่อมใสอย่างจริงจังตั้งแต่นั้นมา และเมื่อได้มีรัฐธรรมนูญขึ้นแล้ว ข้าพเจ้าก็สนใจอันจะให้กิจการดำเนินไปตามระบอบรัฐธรรมนูญทุกประการ…” และมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรก รัฐบาลจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญ 3 วัน ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

นิทรรศการทรงสละราชสมบัติ

วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติความตอนหนึ่งว่า “ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร” ด้วยพระสุขภาพพลานามัยที่ไม่สมบูรณ์และพระราชดำริที่ไม่ตรงกันกับรัฐบาล จึงทรงตัดสินพระราชหฤทัยสละราชสมบัติ ขณะประทับ ณ พระตำหนักโนล เมืองแครนลี ประเทศอังกฤษ หลังจากที่ทรงสละราชสมบัติแล้วก็ยังคงประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ต่อมาทรงพระประชวรด้วยโรคพระหทัยและเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 พระชนมายุ 48 พรรษา

นิทรรศการหนังสือส่วนพระองค์

มหาวิทยาลัยได้รับมอบหนังสือส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจากคุณหญิงมณี สิริวรสาร จำนวน 1,728 เล่ม ซึ่งสะท้อนความสนพระราชหฤทัยเรื่องการอ่านหนังสือ ดังข้อความที่ทรงสอนพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาตเกี่ยวกับประโยชน์ของการอ่านหนังสือว่า “ถ้าไม่ชอบอ่านหนังสือแล้วก็มีแต่จะโง่ลงไปทุกวัน เพราะมีความรู้อะไรขึ้นก็ไม่ต้องรู้ ถ้าอ่านหนังสือ แม้เปนนิทาน หรือ novel เรื่องอ่านเล่น ก็คงได้รับความรู้อะไรบ้างไม่มากก็น้อยทุกทีไป เพราะฉะนั้นควรพยายามอ่านเสียบ้าง” และยังปรากฎในป้ายบรรณสิทธิ์ของหนังสือส่วนพระองค์บางตอนว่า “ฉันขอเพียงหนังสือเล่มหนึ่งกับมุมหนึ่ง ห่างไกลจากแสงแพรวและความขัดแย้งอลหม่าน; ขอไม้เท้ากับไม้ปลายขออย่างละด้าม; อีกความสงบและความหอมหวานของชีวิต; โอ้ โลกที่ช่างโอัอวดเอ๋ย จงปล่อยให้ฉันได้ครองมุมของฉัน; ราชาแห่งอาณาจักรนี้ หนังสือของฉัน; อาณาบริเวณที่สมัยนิยมได้ทอดทิ้งไป; จงผ่านฉันไป; บรรดาท่านนักเสี่ยงโชคเพียงเพื่อความรุ่งโรจน์เอ๋ย; จงอย่าได้มาขัดจังหวะทำนองอันไพเราะแห่งเรื่องราวของฉันเลย”

นิทรรศการสิ่งของส่วนพระองค์และทรัพยากรสารสนเทศ

ห้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เป็นแหล่งเรียนรู้พระราชประวัติ พระราชกรณียกิจและสารสนเทศที่เกี่ยวข้องในรัชสมัย โดยได้รวบรวมสิ่งของส่วนพระองค์และทรัพยากรสารสนเทศไว้ให้บริการ อาทิ หนังสือ วิทยานิพนธ์ รายงานการวิจัย เอกสารจดหมายเหตุ ภาพถ่าย วีดิทัศน์ ไมโครฟิล์ม ไมโครแจ็กเก็ต แผ่นเสียงและสื่อดิจิทัล เพื่อให้ผู้สนใจได้เรียนรู้ตามอัธยาศัย สอดคล้องกับพระราชดำรัสเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิต ความตอนหนึ่งว่า “…ต้องพยายามเรียนตลอดชีวิต ใครเขามีวิชชาดีที่ไหนต้องพยายามเรียน เรียนมาแล้วต้องคิดต่อว่าจะหาวิธีอย่างไร มาใช้ให้เหมาะสำหรับประเทศของเรา ไม่ใช่จะเอาอย่างเขาตะบันไป…”

รางวัลที่ได้รับจากการเผยแพร่พระเกียรติคุณและการดำเนินงานในฐานะเป็นแหล่งเรียนรู้

  1. รางวัลชมเชย ผลงานสื่อมวลชนดีเด่นเพื่อเยาวชน ครั้งที่ 18 ประจำปี 2543 โปรแกรมชุดเทิดพระเกียรติในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
  2. รางวัลดีเด่น ผลงานสื่อมวลชนดีเด่นเพื่อเยาวชน ครั้งที่ 19 ประจำปี 2544 โปรแกรมชุดพระเกียรติคุณพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวด้านศิลปวัฒนธรรม
  3. รางวัลสุริยศศิธร รางวัลชนะเลิศปฏิทินดีเด่น ประจำปี 2554 ชนิดสมุดบันทึก ประเภทเทิดพระเกียรติสถาบันพระมหากษัตริย์ ชุด 70 ปี ความรักของพระปกเกล้าฯ
  4. รางวัลสุริยศศิธร รางวัลชนะเลิศปฏิทินดีเด่น ประจำปี 2556 ชนิดตั้งโต๊ะ ประเภทเทิดพระเกียรติสถาบันพระมหากษัตริย์ ชุด 120 ปี บารมีพระปกเกล้า
  5. รางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ไทย ประจำปี 2565 รางวัลพิพิธภัณฑ์ไทยสรรเสริญ จากสมาคมพิพิธภัณฑ์ไทย