บรรณสารติดเล่า PODCAST EP.20  ปีนักษัตร: ตำนานวิ่งสู้ฟัดของสัตว์ทั้งสิบสอง   

สวัสดีปีใหม่ครับ ถ้าพูดถึงการเปลี่ยนแปลงทางสัญลักษณ์ที่เปลี่ยนผ่านจากปีเก่าเข้าสู่ปีใหม่นอกจากจะเป็นเรื่องของการสิ้นสุดเดือนธันวา และเริ่มกลับมาที่เดือนมกรา การเปลี่ยนแปลงตัวเลขของปีศักราช รวมถึงการเปลี่ยนปีนักษัตร ซึ่งจะหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงกันมาเป็นสัตว์ประจำปีนั้น ๆ ตำนานการนำสัตว์มาเป็นชื่อปีนั้น มีตำนานเล่าขานกันอย่างสนุกสนานและน่าสนใจเป็นอย่างมากนักษัตรทั้ง 12 มีดังนี้ คือ ปีชวด(หนู) ปีฉลู(วัว) ปีขาล(เสือ) ปีเถาะ(กระต่าย) ปีมะโรง(งูใหญ่) ปีมะเส็ง(งูเล็ก) ปีมะเมีย(ม้า) ปีมะแม(แพะ) ปีวอก(ลิง) ปีระกา(ไก่) ปีจอ(สุนัข) และปีกุน(สุกร) ซึ่งตำนานการเกิดสัตว์ต่าง ๆ ประจำปีทั้ง 12 มีด้วยกันหลายตำนาน และมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

ตำนานที่ 1 ไทลื้อ

เล่ากันว่าครั้งหนึ่งพระพรหมถูกตัดเศียร ลูกสาวพระพรหมทั้ง 12 จึงทำหน้าที่ถือพานเชิญเศียรของพระพรหม ออกแห่ในทุก ๆ ปีโดยผลัดเปลี่ยนกันไปในแต่ละปี โดยนางทั้ง 12 จะมีพาหนะที่แตกต่างกันไป นางหนึ่งขี่หนู นางหนึ่งขี่วัว นางหนึ่งขี่เสือ นางหนึ่งขี่กระต่าย นางหนึ่งขี่นาค นางหนึ่งขี่งู นางหนึ่งขี่ม้า นางหนึ่งขี่แพะ นางหนึ่งขี่ลิง นางหนึ่งขี่ไก่ นางหนึ่งขี่สุนัข นางหนึ่งขี่สุกร ตามลำดับ ชาวไทลื้อจึงนำเอาพาหนะของธิดาพระพรหมมาเป็นชื่อเรียกปีต่าง ๆ

ตำนานที่ 2 อ้างอิงพุทธศาสนา

ตำนานนี้เล่าไว้เกี่ยวข้องอ้างอิงไปในสมัยพุทธกาลว่า เมื่อครั้งที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ทั้งมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลายต่างมุ่งหน้าไปเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยเร็ว สัตว์ที่มาถึงก่อนคือ หนู วัว เสือ กระต่าย งูใหญ่ งูเล็ก ม้า แพะ ลิง ไก่ สุนัข และสุกร ตามลำดับ หลังจากนั้นมาจึงนำเอาสัตว์ทั้ง 12 นั้นมาเป็นชื่อเรียกปี โดยเริ่มจากสัตว์ที่มาถึงก่อนตามลำดับ

 


พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน จิตรกรรมฝาผนัง
พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงเทพฯ
ขอบคุณภาพจาก: samforkner.org

ตำนานที่ 3 เง็กเซียนฮ่องเต้ประกาศแข่งขัน

ตำนานเล่าว่า จักรพรรดิหยก หรือ เง็กเซียนฮ่องเต้ ราชาแห่งสวรรค์ต้องการให้สัตว์แข่งขันกันเพื่อมาทำหน้าที่เป็นสัตว์ประจำปี จึงให้สัตว์ต่าง ๆ วิ่งแข่งกันข้ามแม่น้ำเพื่อได้บรรจุเป็นสัตว์ประจำปี วัวเป็นสัตว์ใหญ่ที่แข็งแรงมีพละกำลังจึงนำสัตว์ชนิดอื่น ๆ มาเป็นตัวแรก แต่เมื่อใกล้ถึงเส้นชัยปรากฏว่า มีหนูตัวหนึ่งโดยสารมาบนหลังวัวเมื่อใกล้ถึงเส้นชัยเจ้าหนูก็กระโจนข้ามหัววัวไปถึงเส้นชัยก่อนเป็นอันดับแรก หนูจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของปีชวด นักษัตรแรก และวัวกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของปีฉลู ปีนักษัตรที่ 2 เสือเป็นหนึ่งในสัตว์ที่แข็งแรงมาก ก็ข้ามน้ำมาถึงเส้นชัยต่อจากวัว เป็นนักษัตรประจำปีขาล สัตว์ตัวต่อมาคือกระต่าย ด้วยความปราดเปรียวว่องไวมันจึงกระโดดไปตามเห็นก้อนหินที่อยู่ในน้ำแต่ดันพลาดท่า ตกน้ำไปแต่โชคยังดีที่มีกิ่งไม้ลอยมากระต่ายจึงเกาะกิ่งไม้นั้นไว้ แถมอยู่ๆ ก็มีลมพัดมาทำให้กิ่งไม้นั้นลอยไปถึงเส้นชัยอย่างรวดเร็ว กระต่ายจึงได้เป็นสัตว์ประจำปีเถาะ หลังจากนั้นมังกรก็บินมาถึงเส้นชัย สร้างความงุนงงสงสัยแก่องค์เง็กเซียนฮองเต้เป็นอย่างมาก เพราะมังกรนั้นมีอิทธิฤทธิ์ควรจะมาถึงเป็นอันดับแรกด้วยซ้ำ จึงได้ตรัสถามมังกรว่าทำไมถึงมาช้า มังกรจึงตอบว่า ระหว่างทางนั้นพบชาวบ้านประสบภัยอยู่จึงให้การช่วยเหลือพอเดินทางมาจวนจะถึงเห็นกระต่ายเกาะไม้ลอยสิ้นท่าอยู่ในน้ำ จึงเนรมิตรลมหอบกระต่ายไปถึงเส้นชัยแล้วตนก็เหาะตามมา มังกรจึงกลายเป็นนักษัตรลำดับที่ 5 ตามมาด้วยงู และ ม้า ส่วนแพะ ลิงและไก่นั้น ไม่ชำนาญทางน้ำ แต่ก็โชคยังดีไปพบเข้ากับแพทั้งสามจึงโดยสารมาบนแพและช่วยกันพายมาจนถึงเส้นชัย จึงได้เป็นสัตว์ประจำปีโดยมี แพะ ลิง และไก่ตามลำดับ ตัวต่อมาที่มาถึงเส้นชัย คือสุนัข ซึ่งจริง ๆ สุนัขว่ายน้ำเก่งน่าจะมาถึงก่อนสัตว์บนแพ เง็กเซียนฮ่องเต้จึงถามถึงสาเหตุที่สุนัขมาช้า ก็ได้เหตุผลที่ว่า สุนัขนั้นมัวเพลิดเพลินอยู่กับการเล่นน้ำจึงทำให้มาช้า และลำดับสุดท้าย คือ สุกร ที่กินมากเกินไปจึงแวะนอนพักให้ย่อยก่อนจึงทำให้มาถึงเป็นอันดับสุดท้าย

ซึ่งก็เป็นตำนานต่าง ๆ ที่เล่าสืบต่อกันมาเพื่ออธิบายว่าเหตุใดจึงใช้สัตว์เหล่านี้เป็นสัญลักษณ์เรียกปีและเหตุใดจึงเรียงลำดับเช่นนี้ ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ “ข้าพเจ้าเห็นว่า การที่เอารูปสัตว์ใช้เป็นเครื่องหมายแทนสิ่งอื่น มีประโยชน์ให้จำสิ่งนั้นง่าย ถ้าหากชื่อปีใช้เขียนตัวอักษรและอ่านเรียกตามภาษาที่เขียน เมื่อพ้นเขตประเทศที่ใช้ตัวอักษรและภาษานั้นออกไปถึงนานาประเทศ ซึ่งต่างประเทศใช้ตัวอักษรและภาษาอื่น ชื่อปีที่บัญญัติก็ไม่มีใครเข้าใจ ไม่เป็นประโยชน์อันใด ถ้าเอารูปสัตว์ขึ้นตั้งเป็นเครื่องหมายแทนปี เช่น เอารูปหนูเป็นเครื่องหมายปีที่ 1 เอารูปวัวเป็นเครื่องหมายปีที่ 2 ประเทศอื่นๆ จะเรียกหนูเรียกวัวตามภาษาของตนว่ากระไรก็ตาม คงได้วิธีประดิทินสิบสองนักษัตรไปใช้ได้ตรงกันกับประเทศเดิมไม่ขัดข้อง…” 

ทำไมแมวไม่ได้เป็นนักษัตร?

สำหรับเหตุที่แมวสัตว์อันใกล้ชิดกับมนุษย์ทำไมจึงไม่ปรากฏเป็น 1 ใน 12 นักษัตร ในตำนานก็เล่าไว้ว่าแมวกับหนูนั้นจะกระโดดขึ้นหลังวัวมา แต่หนูดันผลักแมวตกจากหลังวัวหล่นน้ำไปจึงทำให้ไม่ได้เป็นนักษัตรและกลายมาเป็นเหตุผลที่แมวผูกพยาบาทกับหนูเจอที่ไรเป็นต้องไล่ล่าเพื่อล้างแค้นจนมาถึงทุกวันนี้ แต่เหตุผลจริง ๆ ที่แมวไม่มีอยู่ใน 12 นักษัตรนั่นเป็นเพราะ ก่อนหน้าจักรพรรดิฮั่นหมิงตี้ ประเทศจีนมีแต่แมวป่า แมวบ้านที่ปรากฏในสมัยนี้นำเข้าจากอินเดียหลังสมัยจักรพรรดิฮั่นหมิงตี้ แต่ 12 นักษัตรมีครบตั้งแต่ก่อนหน้านั้นแล้ว จึงย่อมไม่มีตำแหน่งว่างสำหรับแมว แต่ก็มีประเทศหนึ่งที่ใช้แมวเป็นปีนักษัตร นั่นคือประเทศเวียดนามโดยใช้แทนปีเถาะ หรือปีกระต่ายนั่นเอง ดังนั้นในปี 2566 นี้ ปีนักษัตรของเวียดนามจึงเป็นปีแมวนั่นเอง

และนี่ก็เป็นเรื่องราวของที่มาของปีนักษัตรทั้ง 12  ซึ่งทำให้เราเห็นได้ว่าคนในอดีตนั้นมีความผูกพันธ์เกี่ยวข้องกับสัตว์ต่าง ๆ มากมายหลายชนิด อีกทั้งยังมีความชาญฉลาด เลือกเอาสัตว์ที่มีลักษณะที่เด่นชัดมาเป็นสัญลักษณ์เพื่อให้สามารถสื่อสารได้อย่างไร้พรหมแดน 

คลิกเพื่อฟังบรรณสารฯ ติดเล่า PODCAST ผ่านช่องทาง SoundCloud 

คลิกเพื่อฟังบรรณสารฯ ติดเล่า PODCAST ผ่านช่องทาง Facebook


อ้างอิง

ส. พลายน้อยม. (2530). สิบสองนักษัตร. กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า.

กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม. (2566). ค้นกำเนิด 12 นักษัตร จีนถึงไทย ทำไมใช้สัตว์เรียกชื่อปีเป็นคติบอกเวลาเก่าแก่ของโลก. สืบค้น 2 มกราคม 2566, จาก https://www.silpa-mag.com/culture/article_36524