บรรณสารฯ ติดเล่า PODCAST SEASON 2 EP.2 เคล็ด (ไม่) ลับ การเรียน มสธ.

บรรณสารฯ ติดเล่า SS2 EP.2 มาแล้วค่ะ  อีกนิดนึงก็จะเป็นวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์แล้วนะคะ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าที่ไหนๆ เวลาใด นักศึกษา มสธ. ก็สามารถอ่านหนังสือได้ทุกที่ไม่ว่าจะพกเป็นเล่ม หรืออ่านผ่าน E-Book  ห้องสมุด มสธ. ขอแนะนำหนังสือขนาดพกพา ชื่อเรื่อง มิยากุจิ : เคล็ดลับจำแม่น เลิกซะทีกับการหลงๆ ลืมๆ แนะนำแนวทาง และเทคนิคการเรียน และการอ่าน และการจดจำ สามารถมาปรับใช้กับการเรียนของนักศึกษาเองได้

การเรียน มสธ. ต้องให้ความสำคัญกับการอ่านเอกสารการสอนชุดวิชาเป็นหลัก ทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก สำหรับการเรียนในระดับต่าง ๆ ขอแนะนำเทคนิคต่าง ๆ เกี่ยวกับการอ่านและการเรียนในระดับต่าง ๆ จากหนังสือที่มีให้บริการในห้องสมุด มสธ. ดังนี้

มิยากุจิ : เคล็ดลับจำแม่น เลิกซะทีกับการหลงๆ ลืมๆ /คิมิโทชิ มิยากุจิ

แนะนำเทคนิคการอ่าน และการจำ มีเคล็ดลับหลายหลายวิธีของคุณมิยากุจิ จะขอยกตัวอย่างที่น่าสนใจ มา 1 วิธีที่เกี่ยวข้องกับเรามากๆเลย คือ วิธีการอ่านหนังสือที่มีเนื้อหามาก เช่น เอกสารการสอนชุดวิชา มสธ. จะมีทั้งหมด 15 หน่วย หรือ 15 บท ขั้นตอนแรก ลองเปิดอ่านผ่านๆ ไปทีละหน้า ตั้งแต่ต้นจนจบ เช่น เปิดอ่านเอกสารการสอนชุดวิชา มสธ. เฉพาะหน่วยที่ 1 ก่อนเป็นลำดับแรก โดยเปิดให้อ่านแบบผ่านๆ ไปก่อน ขั้นตอนที่ 2 อ่านเอกสารการสอนชุดวิชา มสธ. เฉพาะหน่วยที่ 1 อ่านศึกษาดูว่าเนื้อหาส่วนใดอ่านแล้วเข้าใจให้ทำสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายเอาไว้ ขั้นตอนสุดท้าย อ่านรายละเอียดปลีกย่อยในเอกสารการสอนชุดวิชา มสธ. เฉพาะหน่วยที่ 1 โดยการอ่านซ้ำไปซ้ำมาหลายๆ รอบ จะทำให้เนื้อหาข้อมูลที่เราอ่าน ติดแน่นในความทรงจำมากขึ้น ข้อสำคัญที่ควรระวัง อย่าให้มีสิ่งรบกวนหรืออุปสรรคต่าง ๆ เข้ามาขัดขวางการอ่านเอกสารการสอนชุดวิชา ได้แก่ โทรศัพท์มือถือ สมาร์ทโฟน โทรทัศน์ วิทยุ เป็นต้น เพราะจะทำให้เราเสียสมาธิและการอ่านหนังสือจะไม่ต่อเนื่อง

ทำอย่างไรถึงจะเรียนจบปริญญาโทและเอก

ขอยกตัวอย่างเทคนิคที่สำคัญในวิธีการเรียนในระดับปริญญาโท และปริญญาเอก ในส่วนของการทำวิจัย

จะเริ่มตั้งแต่หลักเกณฑ์การเลือกหัวข้อวิจัย มีแนวทางการเลือกหัวข้อหลากหลาย เช่น

  • เลือกหัวข้อวิจัยที่ตนเองชอบหรือมีความถนัดเชี่ยวชาญ
  • เลือกหัวข้อวิจัยจากอาจารย์ที่ปรึกษาเสนอให้
  • เลือกหัวข้อวิจัยที่กำลังเป็นที่สนใจในสังคมปัจจุบัน
  • เลือกหัวข้อวิจัยที่มีทุนวิจัยให้

ในส่วนการเขียนวิทยานิพนธ์ ทั้งในระดับปริญญาโท และปริญญาเอก จะประกอบไปด้วยส่วนต่าง ๆ ที่คล้ายกัน ไล่ตั้งส่วนแรกและท้ายสุด ประกอบด้วย หน้าปก บทคัดย่อ กิตติกรรมประกาศ คำนำ สารบัญเนื้อเรื่อง สารบัญรูป สารบัญตาราง บทนำ เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง วิธีการทำวิจัย ผลการวิเคราะห์ข้อมูล สรุปผลการวิจัย อภิปรายผล บรรณานุกรม และภาคผนวก ซึ่งการเขียนวิทยานิพนธ์จะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน ถึง 1 ปี แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถในการเขียนวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาแต่ละคน

และสิ่งที่ควรปฏิบัติในการเขียนวิทยานิพนธ์ ที่เราต้องคำนึงถึงเลย คือ

  • นักศึกษาต้องไม่ลอกงานของผู้อื่น รวมถึงการขโมยความคิดของผู้อื่นมาเป็นของตนเอง
  • ถ้านักศึกษาต้องอ้างอิงงานผู้อื่น ควรที่จะระบุชื่อเจ้าของผลงานที่นักศึกษาใช้อ้างอิงไว้ด้วย
  • นักศึกษาต้องไม่สร้างข้อมูลและรายงานผลงานวิจัยที่เป็นเท็จ นักศึกษาควรต้องรายงานผลที่เป็นจริง

และท้ายสุดในการทำที่เราทำไปแล้ว เราต้องมีการสอบวิทยานิพนธ์ เป็นการแสดงให้กรรมการสอบวิทยานิพนธ์เชื่อว่า นักศึกษามีความรู้ ความสามารถในการทำวิจัย หรือเสนอแนวคิดในการทำวิจัยที่สมเหตุสมผล ตามหลักการทางวิชาการ ที่เหมาะสมกับความเป็นนักวิจัย

ข้อแนะนำในการสอบวิทยานิพนธ์ที่ต้องเตรียมตัวให้พร้อมก่อนการสอบ เราต้องเคลียร์ตัวเองให้มีเวลาว่างในวันนั้น ในระหว่างสอบควรตั้งใจฟังคำถาม คิดก่อนตอบคำถาม และสบตากรรมการสอบวิทยานิพนธ์เมื่อตอบคำถาม ในการตอบคำถามก็ต้องตอบด้วยความมั่นใจ โดยอ้างถึงสิ่งที่เขียนในวิทยานิพนธ์

นอกจากนี้ มสธ. ก็มีการประกวดวิทยานิพนธ์ มสธ. ซึ่งจัดประกวดเป็นประจำทุกปี ซึ่งวิทยานิพนธ์ที่ได้ผ่านการคัดเลือกจะได้รับรางวัลเป็นเงินสดพร้อมประกาศเกียรติคุณ อย่างวิทยานิพนธ์ที่ได้รับรางวัลเมื่อปีที่แล้ว คือปี 2565 มีจำนวน 1 เล่ม ชื่อเรื่อง ผลของโปรแกรมพัฒนาความตระหนักรู้และทักษะการป้องกันการตั้งครรภ์ซ้ำต่อการตระหนักรู้และพฤติกรรมป้องกันการตั้งครรภ์ซ้ำในมารดาวัยรุ่น จังหวัดเพชรบุรี เป็นของนักศึกษาชื่อ อังสินี กันสุขเจริญ ในระดับปริญาญาโท สังกัดสาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ มสธ. ซึ่งได้รางวัลประเภท วิทยานิพนธ์ระดับดีมาก ในกลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง โดยมีกลุ่มตัวอย่างเป็นมารดาวัยรุ่นหลังคลอดบุตรคนแรกซึ่งมีอายุน้อยกว่า 20 ปี ที่มารับบริการที่แผนกหลังคลอดในโรงพยาบาลทั่วไป จังหวัดเพชรบุรี จำนวน 50 คน โดยผลการวิจัยนี้ทำให้ได้ข้อมูลที่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ และสามารถนำไปใช้ในการพยาบาลมารดาวัยรุ่นหลังคลอด เพื่อให้มีพฤติกรรมป้องกันการตั้งครรภ์ซ้ำ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการลดภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากผลกระทบจากการตั้งครรภ์ซ้ำ

สำหรับวิทยานิพนธ์ มสธ. สามารถเข้ามาใช้บริการที่ห้องสมุด มสธ. ส่วนกลาง และยืมตัวเล่มวิทยานิพนธ์กลับไปอ่านได้โดยต้องสืบค้นจากฐานข้อมูลห้องสมุดเพื่อทราบคอลนัมเบอร์ก่อนเพื่อหยิบตัวเล่ม หากอยากอ่านออนไลน์ก็สามารถดาว์นโหลดวิทยานิพนธ์ มสธ. แบบ Full text จากเว็บไซต์ห้องสมุด มสธ. หรือ จากฐานข้อมูลวิทยานิพนธ์ Thai digital collection (TDC) โดยเข้าใช้งานผ่านเครือข่ายภายนอกมหาวิทยาลัย VPN แล้วหากนักศึกษา มสธ. หรือท่านใด ที่ติดปัญหาการเข้าใช้งาน หรือไม่เข้าใจในส่วนไหน เราก็มีสื่อแนะนำการใช้งาน ให้ดูประกอบใช้งานได้ด้วยตนเอง แต่หากอยากมีบรรณารักษ์แนะนำในการค้น ก็สามารถมาอบรบคอร์สเรียนกับบรรณารักษ์ ห้องสมุด มสธ. โดยเรามีการอบรมให้เลือกเรียนหลากหลายคอร์ส ไม่ว่าจะเป็นการสืบค้นวิทยานิพนธ์ หรือ การจัดทำรายการบรรณานุกรมด้วยโปรแกรมต่าง ๆ เข้าดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ห้องสมุด มสธ.

อ้างอิง

คิมิโทชิ, มิยากุจิ. (2560). มิยากุจิ เคล็ดลับจำแม่น เลิกซะทีกับการหลงๆ ลืมๆ (จุฑาทิพย์ บวบทอง, ผู้แปล). กรุงเทพฯ: บริษัท พราว โพเอท.

เสกศักดิ์ อัสวะวิสิทธิ์ชัย. (2562). ทำอย่างไรถึงจะเรียนจบปริญญาโทและเอก [How to obtain Master’s and PhD degrees] กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

อังสินี กันสุขเจริญ. (2562). ผลของโปรแกรมพัฒนาความตระหนักรู้และทักษะการป้องกันการตั้งครรภ์ซ้ำต่อการตระหนักรู้และพฤติกรรมป้องกันการตั้งครรภ์ซ้ำในมารดาวัยรุ่น จังหวัดเพชรบุรี (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต ไม่ได้ตีพิมพ์). มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, นนทบุรี.

ผู้เขียนบทความ ณัฐพล โหตระกิตย์

บรรณารักษ์ชำนาญการ สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช