STOU Read it Now! EP.2 “จิตนั้นสำคัญไฉน”

รายการ STOU Read it Now! เป็นรายการนำเสนอสื่อการศึกษาใหม่ที่มีให้บริการในห้องสมุดไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของสิ่งพิมพ์ หรือออนไลน์ ได้แก่ หนังสือ วารสาร เอกสารการสอนชุดวิชา และฐานข้อมูล สำหรับวันนี้ เป็น EP 2  “จิตนั้นสำคัญไฉน” ที่จะนำเสนอหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ใหม่ว่าด้วยการพยาบาลสุขภาพจิต

ด้วยสภาพสังคมปัจจุบันเป็นยุคแห่งการแข่งขันทั้งด้านการเรียน การงาน เศรษฐกิจ และการใช้ชีวิตในภาวะเร่งรีบ มีความกดดันตลอดเวลา ทำให้ผู้คนเจ็บป่วยด้วยโรคทางจิตเวชมากขึ้น จากข่าวล่าสุดที่มีผู้ป่วยทางจิตมีอาการคลั่งยิงกราด และทำร้ายผู้คน ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากอาการป่วยทางจิต ซึ่งอาการเจ็บป่วยจากภาวะโรคจิตเวชนั้น เกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย ดังนั้น การมีความรู้เกี่ยวกับสาเหตุการเกิดโรคทางจิตเวช เป็นสิ่งที่เราทุกคนควรหาความรู้เพื่อรับมือกับโรคนี้ให้ได้  เพื่อเป็นการสังเกตุอาการเบื้องต้น ทั้งของตัวเองและคนรอบข้าง

          ชื่อเรื่องแรก “การพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช : แนวคิดสำหรับการปฏิบัติงานบนคลินิก”

“สุขภาพจิต  (mental health) เป็นความสามารถของบุคคลที่จะปรับตัวให้มีความสุข อยู่กับสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ดี มีสัมพันธภาพอันดีงามกับบุคคลอื่น และดำรงอยู่ได้ด้วยความสมดุลอย่างสุขสบาย” “องค์การอนามัยโลก”

 หนังสือเล่มนี้เปรียบเสมือนคู่มือที่ใช้เป็นสื่อในการพัฒนาตนเอง ใช้สำหรับวิเคราะห์และดูแลบุคคล/ผู้ป่วยที่มีปัญหาทางจิตตามกระบวนการพยาบาล ซึ่งผู้ป่วยทางโรคจิตเวชของคนไทย คือ โรควิตกกังวล โรคจิตเภท โรคซึมเศร้า  โรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว และโรคจิตเนื่องจากสารเสพติด  โดยการวิเคราะห์ประเมินสุขภาพจิตใช้กรอบแนวคิด ชีว-จิต-สังคม และปัจจัย (4Ps) เพื่อนำมาตีความและสังเคราะห์เป็นรายงานผู้ป่วย โดยเนื้อหาของหนังสือแบ่งเป็นหน่วย 3 หน่วย ได้แก่

          1) หลักการพื้นฐานการพยาบาลจิตเวชและสุขภาพ ทักษะที่สำคัญในการพยาบาลผู้ที่มีปัญหาทางจิต และการพยาบาลผู้ที่มีความผิดปกติทางจิตด้วยกรอบแนวคิดชีว-จิต-สังคม และ 4 ปัจจัย (4Ps)

          2) หน่วยที่ 2 ประกอบด้วย 2 บท    ได้แก่ การสื่อสารและการสร้างสัมพันธภาพ และกระบวนการพยาบาลและการบันทึกการพยาบาลผู้ที่มีปัญหาทางจิต

          3) หน่วยที่ 3 ประกอบด้วย 4 บท ได้แก่ การพยาบาลผู้ป่วยกลุ่มโรควิตกกังวล การพยาบาลผู้ป่วยโรคจิตเภท การพยาบาลผู้ป่วยด้วยโรคทางอารมณ์ การพยาบาลผู้ป่วยด้วยโรคจิตจากแอลกอฮอลล์ และสารเสพติด

คลิกอ่าน

และเรื่องที่ 2 ชื่อเรื่อง “การดูแลญาติผู้ดูแลผู้ที่เป็นโรคจิตเภท : ความท้าทายสำหรับพยาบาลจิตเวช”   

โรคจิตเภท เป็นภาวะความเจ็บป่วยอย่างหนึ่งที่ผู้ป่วยจะมีความผิดปกติทางด้านความคิด สาเหตุการเกิดมีความซับซ้อน โดยมี 2 ปัจจัยหลัก คือ ปัจจัยด้านจิตสังคม เช่น ความขัดแย้งภายในจิตใจ การสื่อสารที่ไม่ชัดเจนในครอบครัว และปัจจัยด้านชีวภาพ เช่น พันธุกรรม ปัจจัยแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์และระหว่างคลอดที่ทำให้เกิดโครงสร้างของสมองที่ผิดปกติ ความปกติของระบบสารสื่อประสาทในสมอง เป็นต้น และปัจจุบันพบว่ามีผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตเพิ่มมากขึ้น ไม่ใช่เรื่องง่ายในการดูแลผู้ป่วยด้วยโรคนี้ การดูแลผู้ป่วยจิตเภทนับเป็นงานหนักหากญาติผู้ดูแลเกิดความเครียดย่อมส่งผลให้เกิดเป็นผู้ป่วยแฝง ที่อาจพัฒนาไปสู่ผู้ป่วยทางจิตได้ การดูแลญาติที่เป็นผู้ดูแลผู้ป่วยโรคจิตเภทให้มีศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยนับเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากญาติเป็นบุคคลสำคัญที่ต้องดูแลผู้ป่วยต่อจากโรงพยาบาลในระยะยาว หากญาติผู้ดูแลสามารถดูแลผู้ป่วยจิตเภทได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพจะทำให้ผู้ป่วยสามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างปรกติสุข  หนังสือเล่มนี้ผู้เขียนยกบทสนทนากับญาติผู้ดูแล ทำให้เห็นความยากลำบากของญาติผู้ดูแลผู้ป่วยจิตเวช ที่ต้องพบกับความเครียด ซึ่งหากญาติเกิดความเครียดย่อมส่งผลให้ญาติกลายเป็นผู้ป่วยแฝงที่อาจพัฒนาไปเป็นผู้ป่วยทางจิตในอนาคตได้ ดังนั้น การดูแลญาติผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตนั้น ให้มีศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากญาติเป็นบุคคลสำคัญที่ต้องดูแลผู้ป่วยรองจากโรงพยาบาลในระยะยาว หากญาติสามารถดูแลผู้ป่วยจิตเภท ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ย่อมทำให้ผู้ป่วยดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่กระทบกับสังคมและคนรอบข้าง  หนังสือทั้ง 2 เล่ม มีประโยชน์อย่างยิ่งกับผู้ที่สนใจเพิ่มพูนความรู้ ทั้งพยาบาลผู้ปฏิบัติงานบนคลินิก หรือบุคคลทั่วไป รวมถึงญาติผู้ป่วย หรือคนรู้จักที่ป่วยเป็นโรคจิตเวช รวมทั้งมีความเข้าใจผู้ป่วยและญาติได้มากขึ้น

คลิกอ่าน

https://soundcloud.com/stouchannel/stou-read-it-now-podcast-ep2?utm_source=clipboard&utm_medium=text&utm_campaign=social_sharing

อ้างอิง

พิชามญชุ์ อินทะพุฒ. (2565). การดูแลญาติผู้ดูแลผู้ที่เป็นโรคจิตเภท : ความท้าทายสำหรับพยาบาลจิตเวช.  
      ค้นจาก http://bit.ly/3IUq3Em

วาทินี สุขมาก. (2565). การพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช : แนวคิดสำหรับการปฏิบัติงานบนคลินิก.
ค้นจาก bit.ly/3YJVV4A